ผลการเลือกตั้งอย่างเป็นทางการในเบื้องต้นที่เผยแพร่โดยคณะกรรมการการเลือกตั้งแห่งชาติเมื่อวันจันทร์ที่ 12 สิงหาคม ระบุว่า พรรคของฮุนเซนชนะการเลือกตั้งโดยได้คะแนนเสียงไป 3,235,969 คะแนน ขณะที่พรรคของสม รังสี ได้ไป 2,946,176 คะแนน จากผู้ใช้สิทธิทั้งหมด 6.6 ล้านคน คิดเป็นเปอร์เซ็นต์คือรัฐบาลชนะ 49 ต่อ 44 เปอร์เซ็นต์ โดยยังไม่มีการเปิดเผยจำนวนที่นั่งในสภา แต่เมื่อคำนวณแล้วพรรคฮุนเซนน่าจะได้ไป 68 ที่นั่ง และพรรคของสม รังสี ได้ไป 55 ที่นั่ง จากทั้งหมด 123 ที่นั่ง ซึ่งไม่พลิกโผไปจากผลการเลือกตั้งอย่างไม่เป็นทางการที่มีการเปิดเผยไปก่อนหน้านี้
กว่าล้านเสียงที่หายไป
นายสม รังสี ยังคงยืนหยัดคัดค้านผลการเลือกตั้งดังกล่าว และยังคงเรียกร้องให้จัดตั้งคณะกรรมการอิสระเพื่อตรวจสอบความผิดปกติต่างๆนานาที่เกิดขึ้น โดยเขาอ้างว่ามีผู้มีสิทธิ์ออกเสียงเลือกตั้ง 1.3 ล้านคนที่ไม่สามารถลงคะแนนได้ เนื่องจากไม่มีชื่ออยู่ในบัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง นอกจากนั้นยังมี “รายชื่อผี" เพื่อโกงการเลือกตั้งถึงประมาณ 1 ล้านชื่อ และมีชื่อซ้ำอีกราว 200,000 ชื่อ พรรคฝ่ายค้านแสดงความเชื่อมั่นว่าถ้ามีการสอบสวนการเลือกตั้งจริงๆ จะพบว่าพรรคฝ่ายค้านชนะการเลือกตั้งด้วยเสียงข้างมาก 63 ที่นั่ง ขณะที่พรรคของฮุนเซนจะได้แค่ 60 ที่นั่งเท่านั้น
ก่อนหน้านี้ คณะกรรมการการเลือกตั้ง พรรครัฐบาล และพรรคฝ่ายค้าน ได้เห็นชอบให้มีการจัดตั้งคณะกรรมการร่วมขึ้นมาชุดหนึ่งเพื่อสอบสวนกรณีทุจริตที่เกิดขึ้น แต่จนถึงขณะนี้ คณะกรรมการดังกล่าวก็ยังไม่เป็นรูปเป็นร่าง เพราะทางสม รังสี ยืนยันว่าองค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ต้องได้เข้ามามีส่วนในคณะกรรมการอิสระดังกล่าวด้วย แต่ทางคณะกรรมการการเลือกตั้งและพรรครัฐบาลยอมให้หน่วยงานต่างชาติเป็นได้เพียงผู้สังเกตการณ์เท่านั้น
อำนาจเสื่อมถอย
แม้ผลการเลือกตั้งอย่างเป็นทางการในเบื้องต้นจะชี้ว่า ฮุนเซนชนะการเลือกตั้ง แต่ก็เป็นชัยชนะที่ยังมีความเคลือบแคลงและฉิวเฉียดจนน่าใจหาย พรรคของฮุนเซนได้ที่นั่งลดลงจาก 90 ที่นั่งในการเลือกตั้งเมื่อปี 2551 เหลือ 68 ที่นั่ง ขณะที่พรรคของสม รังสี ได้ที่นั่งเพิ่มขึ้นจาก 29 เป็น 55 ที่นั่ง แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่าอำนาจของฮุนเซนกำลังเสื่อมถอยลงแล้ว เหตุผลสำคัญคือ คนหนุ่มสาวของกัมพูชาเอือมระอากับการผูกขาดอำนาจของฮุนเซนที่ยาวนานเกือบ 30 ปี จึงหันไปเทคะแนนให้กับพรรคของนายสม รังสี ที่เป็นขวัญใจของชนชั้นกลางและคนรุ่นใหม่ นอกจากนั้นประชาชนชาวกัมพูชาเริ่มรู้สึกไม่พอใจมากขึ้นเรื่อยๆกับการที่ฮุนเซนใช้นโยบายที่เอื้อประโยชน์ให้กับตนเองและพวกพ้อง โดยไม่สนใจประชาชนทั่วไปที่เป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ
แม้ถูกสั่นคลอนอำนาจและยังหาทางออกที่สวยหรูหลังการเลือกตั้งไม่ได้ แต่ฮุนเซนก็แสดงออกชัดเจนว่าจะไม่ยอมปล่อยอำนาจให้หลุดมือไป ก่อนหน้านี้เขาประกาศกร้าวว่าเขามีสิทธิจัดตั้งรัฐบาลใหม่แม้ว่าฝ่ายค้านจะไม่ยอมเข้าร่วมประชุมสภาก็ตาม โดยอ้างกฎหมายรัฐธรรมนูญที่ระบุว่ารัฐบาลใหม่จะตั้งขึ้นได้ด้วยที่นั่งเกินกึ่งหนึ่ง หรืออย่างน้อย 63 ที่นั่งจากทั้งหมด 123 ที่นั่ง ซึ่งพรรคของฮุนเซนได้ไป 68 ที่นั่ง เกินกึ่งหนึ่งไปอย่างเฉียดฉิว
ปลุกประชาชนต้านรัฐบาล
ตั้งแต่มีการเปิดเผยผลการเลือกตั้งอย่างไม่เป็นทางการ สม รังสี ก็ได้เรียกร้องให้มวลชนออกมาชุมนุมครั้งใหญ่เพื่อประท้วงผลการเลือกตั้งแล้ว และเมื่อมีการเปิดเผยผลการเลือกตั้งอย่างเป็นทางการในเบื้องต้น สม รังสี ก็ย้ำจุดยืนว่า คณะกรรมการอิสระเพื่อสอบสวนการเลือกตั้งจะต้องเกิดขึ้น มิเช่นนั้นเขาจะนำมวลชนชุมนุมประท้วงทั่วประเทศ
การประท้วงของฝ่ายค้านและผู้สนับสนุนอาจก่อให้เกิดการลุกฮือครั้งใหญ่เหมือนที่เกิดขึ้นในอียิปต์ และอาจเกิดความรุนแรงลุกลามไปทั่วประเทศ เพราะฝ่ายรัฐบาลเคยเตือนแกมขู่แล้วว่า หากพรรคฝ่ายค้านจัดตั้งกลุ่มสนับสนุนขึ้นมาเพื่อประท้วงผลการเลือกตั้ง พรรครัฐบาลเองก็มีผู้ที่พร้อมจะออกมาสนับสนุนผลการเลือกตั้งเช่นกัน
สถานการณ์ที่ตึงเครียดเช่นนี้ทำให้รัฐบาลกัมพูชาสั่งระดมทหารและยานยนต์หุ้มเกราะออกมาคุมเชิงทั่วกรุงพนมเปญตั้งแต่เมื่อปลายสัปดาห์ที่แล้ว โดยรัฐมนตรีกระทรวงมหาดไทยยืนยันว่าไม่ใช่การข่มขู่ แต่เป็นการรักษาความสงบปลอดภัย และจะไม่มีปัญหาใดๆเกิดขึ้นหากการชุมนุมเป็นไปอย่างสงบ อย่างไรก็ดี หลายฝ่ายเชื่อว่าความรุนแรงน่าจะปะทุขึ้น เพราะฮุนเซนต้องทำทุกวิถีทางเพื่อรักษาอำนาจเอาไว้ รวมถึงการใช้กำลังเข้าปราบปรามกลุ่มผู้ชุมนุมหากเข้าตาจน
คณะกรรมการการเลือกตั้งกัมพูชาระบุว่า ผู้ที่จะยื่นคำร้องคัดค้านผลการเลือกตั้งต้องยื่นภายใน 72 ชั่วโมง ซึ่งหากไม่มีการคัดค้านก็จะสามารถสรุปผลการเลือกตั้งอย่างเป็นทางการได้ในวันศุกร์ที่ 16 สิงหาคมนี้ แต่ถ้ามีการคัดค้านก็จะแจ้งผลให้ทราบภายในวันที่ 8 กันยายน ซึ่งพรรคฝ่ายค้านระบุว่า จะยื่นคัดค้านผลการเลือกตั้ง ระหว่างนี้ สม รังสี และผู้สนับสนุนต้องพิจารณาให้ดีว่าจะเดินเกมอย่างไรต่อไป ตอนนี้เห็นได้ชัดว่าความนิยมของฮุนเซนเสื่อมถอยลงอย่างมาก สวนทางกับพรรคฝ่ายค้านที่ได้รับการสนับสนุนมากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ สิ่งนี้สะท้อนให้เห็นว่าประชาชนชาวกัมพูชาจำนวนไม่น้อยต้องการการเปลี่ยนแปลง ขณะนี้ประชาชนกำลังฮึกเหิม หากนายสม รังสี และผู้สนับสนุนอาศัยจังหวะนี้สร้างการเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นจริงๆ การเมืองกัมพูชาก็อาจจะไม่หวนกลับเข้าสู่วังวนเดิมๆ แต่สถานการณ์นี้จะเกิดขึ้นหรือไม่ คงจะต้องจับตาดูกันต่อไป