การลงมติครั้งสุดท้ายในการประชุมสันนิบาตอาหรับ (AL) ณ กรุงไคโร มีการเรียกร้องให้ยูเอ็น และประชาคมระหว่างประเทศยอมรับภารกิจที่เป็นไปตามกฏบัตรสหประชาชาติ และกฏหมายโลก ด้วยการ "ใช้มาตรการยับยั้ง และมาตรการที่จำเป็นต่อต้านระบอบการปกครองของซีเรีย"
คณะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของอาหรับมองว่า รัฐบาลซีเรียอยู่เบื้องหลังเหตุการโจมตีด้วยอาวุธเคมีในกรุงดามัสกัส ประเทศซีเรีย พร้อมทั้งเรียกร้องให้มีการนำกลุ่มผู้กระทำผิดเข้าสู่กระบวนการพิจารณาคดีระดับสากล
อย่างไรก็ตาม ซีเรียได้ปฏิเสธข้อเรียกร้อง และกล่าวหาว่า "กลุ่มผู้ก่อการร้าย" ใช้อาวุธเคมีโจมตีประชาชนผู้บริสุทธิ์ เพื่อให้ได้รับการสนับสนุนจากประเทศในแถบตะวันตก และปิดบังความผิดของตนเอง
ในการลงมติของ AL นั้น คณะรัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศประณาม และกล่าวโทษอย่างรุนแรงว่าเป็น "อาชญากรรมที่เลวร้าย" เนื่องจากมีการใช้อาวุธเคมีทำร้ายประชาชนที่ไม่มีทางสู้ นับเป็นการท้าทายบรรทัดฐานระหว่างประเทศ
คณะรัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศของอาหรับ ระบุว่า การปล่อยก๊าซพิษในซีเรียจะต้องถูกตรวจสอบก่อนที่จะมีการนำเรื่องเข้าสู่กระบวนการศาลโลก "ดังเช่นอาชญากรรมในสงครามอื่นๆ"
พวกเขายังร้องขอให้สนับสนุนประชาชนชาวซีเรียในการดำเนินการครั้งนี้ทุกรูปแบบ
ซาอุดิอาระเบียเรียกร้องให้ประชาคมโลกใช้ทุกมาตรการที่จำเป็น เพื่อยับยั้งความรุนแรงของรัฐบาลซีเรีย
ซาอุด อัล-ไฟซัล รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศของซาอุดิอาราเบีย กล่าวในที่ประชุม AL ว่า "ถึงเวลาที่จะเรียกร้องให้ประชาคมโลกรับผิดชอบต่อหน้าที่ของตนเอง และใช้มาตรการยับยั้งความรุนแรงดังกล่าว"
เขากล่าวว่า "ถึงเวลาแล้วที่ประชาคมโลกจะทำทุกอย่างที่สามารถทำได้ เพื่อป้องกันการรุกรานประชาชนในซีเรีย"
ทว่า ยังมีชาติอาหรับอีกหลายประเทศซึ่งสงวนสิทธิ์ไม่ออกเสียง หรือคัดค้านการแทรกแซงทางการทหารในซีเรีย
มูหรัด มัดลิซี รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศแอลจีเรีย กล่าวว่า ประเทศแอลจีเรียปฏิเสธการแทรกแซงทางการทหารทุกกรณี และเรียกร้องให้ใช้วิธีการเจรจาต่อรองทางการเมือง
ประเทศเลบานอนสงวนสิทธิ์ไม่ลงมติทุกกรณี ขณะที่อิรัก และแอลจีเรีย งดออกเสียงในประเด็นที่ 4 ซึ่งเรียกร้องให้ประชาคมระหว่างประเทศรับผิดชอบภารกิจ และยุติ "อาชญากรรมของระบบปกครองซีเรีย"
แต่อย่างไรก็ตาม ข้อกล่าวหาการใช้อาวุธเคมีโจมตีพลเมืองผู้บริสุทธิ์ และการเรียกร้องให้จับกุมกลุ่มผู้ก่อการร้ายมาดำเนินคดีนั้นขึ้นอยู่กับรายงานของคณะผู้ตรวจสอบอาวุธจากยูเอ็น
หลังจากการประชุม โฮชยาร์ เซบารี รัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศอิรัก กล่าวกับสำนักข่าวซินหัวว่า "อิรักไม่ได้เป็นกลางในระหว่างการประชุมของ AL แต่อิรักก็ยังยึดวิธีการแก้ปัญหาอย่างสันติ"