เสียงสนับสนุนที่ซบเซาในสภาคองเกรสอาจพิสูจน์ให้เห็นถึงปัญหาของรัฐบาลประธานาธิบดีบารัค โอบามา ซึ่งชี้ถึงความจำเป็นในการใช้เวลาและใช้ทุนทางการเมืองอันทรงคุณค่าให้มากขึ้น เพื่อโน้มน้าวสมาชิกคองเกรสผู้ที่ยังไม่เลือกตัดสินใจ รวมทั้งประชาชนชาวอเมริกัน
ปัญหาดังกล่าวปรากฎขึ้นอย่างชัดเจนแม้แต่เมื่อวานนี้ ที่คณะกรรมาธิการวิเทศสัมพันธ์ของวุฒิสภาสหรัฐเลื่อนการลงญัตติให้อำนาจในการโจมตีทางทหารต่อซีเรีย โดยคณะกรรมาธิการฯมีมติด้วยคะแนนเสียง 10-7 ซึ่งรวมถึงเสียงสนับสนุนของนายจอห์น แมคเคน สมาชิกวุฒิสภาเพื่อ"เปลี่ยนแปลงแรงขับเคลื่อนในสนามรบ" แต่ผลการนับคะแนนก็แสดงให้เห็นถึงการสนับสนุนจากทั้งพรรคเดโมแครตและรีพับลีกันตลอดจนการคัดค้านจากทั้งสองพรรค บ่งชี้ถึงสถานะแตกหักทางความคิดต่อประเด็นซีเรียในสภาคองเกรส
ผลสำรวจการลงคะแนนเสียงของสื่อเป็นสิ่งยืนยันประเด็นดังกล่าวเช่นกัน โดยสำนักข่าว CNN ระบุว่า สมาชิกวุฒิสภาซึ่งคาดว่าจะลงคะแนนเสียงในญัตติดังกล่าวสัปดาห์หน้านั้น มี 24 คนที่สนับสนุนรวมถึงสมาชิกผู้นำพรรคเดโมแครตและคณะกรรมาธิการส่วนใหญ่ ส่วนอีก 17 คนคัดค้าน ขณะที่อีก 59 คนยังไม่ตัดสินใจ คาดว่าถ้าหากฝ่ายคัดค้านพยายามหยุดยั้งการผ่านญัตติดังกล่าว นายแฮร์รี่ รี้ด ซึ่งเป็นหัวหน้าเสียงข้างมากของวุฒิสภาอาจต้องรวบรวมเสียงส่วนใหญ่ให้ได้ 60 เสียงจึงจะผ่านญัตติได้
CNN ระบุว่า สำหรับสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งจะมีการเลือกตั้งสมาชิกทั้งหมดเข้ามาใหม่ในปีหน้านั้น สนับสนุนการโจมตีซีเรียเพียง 26 คนรวมถึงสมาชิกผู้นำจากทั้งสองพรรค ขณะที่งดออกเสียง 102 คน ยังไม่ตัดสินใจ 21 คน และที่ไม่ทราบอีก 21 คนนับจนถึงเมื่อวานนี้ ขณะที่ผลสำรวจของหนังสือพิมพ์วอชิงตัน โพสท์ออกมาในทิศทางเดียวกัน
ผลสำรวจเมื่อเร็วๆนี้ระบุว่า เสียงส่วนใหญ่ของประชาชนอเมริกันคัดค้านการโจมตีทางทหารต่อซีเรีย และเสียงสนับสนุนทั่วๆไปจะอยู่ที่ 20-30%
สมาชิกสภาคองเกรสต่างตระหนักอย่างยิ่งถึงความเสี่ยงจากการสนับสนุนการดำเนินการทางทหารที่ไม่น่าปลื้มใจเท่าใดนักก่อนการเลือกตั้ง 1 ปี รายงานข่าวระบุว่า คาดว่าสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจะอิงมติใดๆก็ตามที่ผ่านโดยวุฒิสภา ถ้าญัตติดังกล่าวไม่ผ่านในวุฒิสภา สภาผู้แทนราษฎรก็อาจไม่ลงเสียงสนับสนุนใดๆเลย
ทำเนียบขาวเปิดเผยว่า โอบามาได้ยกเลิกการเดินทางเยือนแคลิฟอร์เนียในสัปดาห์หน้า เพื่อหาทางผลักดันให้แผนปฏิบัติการทางทหารได้รับการอนุมัติในสภาคองเกรส ในช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน ทีมงานโอบามาสามารถหาเสียงสนับสนุนได้เพียง 1 ใน 3 ของคองเกรส
การที่โอบามาออกแรงผลักดันครั้งนี้ ก็อาจจะเป็นเพราะตระหนักได้ถึงความเสี่ยงทั้งในด้านนโยบายและการเมือง
ไมเคิล โดแรน นักวิชาการประจำศูนย์นโยบายตะวันออกกลางของ Brookings Institution กล่าวว่า โอบามาจำเป็นต้องทำเช่นนี้ เพราะความน่าเชื่อถือของสหรัฐนั้นถูกแขวนอยู่บนเส้นด้าย การที่สหรัฐไม่ดำเนินการใดๆ จะทำให้ทีมงานต้องเผชิญกับปัญหาในตะวันออกกลางมากขึ้น
ประธานาธิบดีโอบามาซึ่งอยู่ระหว่างการเยือนเซนต์ปีเตอร์สเบิร์กเพื่อเข้าร่วมประชุมสุดยอดผู้นำและมีการหารือในประเด็นซีเรียด้วยนั้น ดูเหมือนจะไม่ได้รับเสียงสนับสนุนที่มาพอจากผู้นำ G-20 ในวันนี้เช่นกัน
เรื่องแบบนี้โอบามาไม่ชอบก็ต้องยอมรับ เพราะสิ่งที่เขากำลังเผชิญอยู่นั้นไปไกลถึงขั้นเสียงที่แตกต่างกันของประชาคมโลก สำนักข่าวซินหัวรายงาน