นอกเหนือไปจากทิศทางการดำเนินนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) และสถานการณ์ความวุ่นวายจากกรณีที่มีข้อกล่าวหาว่ารัฐบาลซีเรียใช้อาวุธเคมีในการเข่นฆ่าประชาชนของตนเองนั้น อีกเหตุการณ์สำคัญที่นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ระบุให้เป็นประเด็นจับตาประจำเดือนก.ย.ก็คือการเลือกตั้งทั่วไปในเยอรมนีที่จะมีขึ้นในวันที่ 22 ก.ย.นี้ ซึ่งชาวเยอรมันต้องตัดสินใจว่าจะยังคงให้รัฐบาลชุดปัจจุบันบริหารประเทศต่อไปหรือไม่ ด้วยความที่เยอรมนีเป็นทั้งมหาอำนาจทางเศรษฐกิจและการเมืองของโลก ความเคลื่อนไหวและการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองใดๆที่อาจจะมีขึ้นย่อมต้องส่งผลไม่มากก็น้อยต่อทิศทางการดำเนินนโยบายทั้งในทางการเมืองและเศรษฐกิจของหลายประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภูมิภาคยูโรโซน ที่มีเยอรมนีเป็นหัวเรือใหญ่
ระบบการเลือกตั้งในเยอรมนี
ตามระบบการเลือกตั้งของเยอรมนีนั้น ผู้มีสิทธิลงคะแนนเสียงเลือกตั้งแต่ละคนมีสิทธิลงคะแนน 2 ครั้ง โดยครั้งแรกเป็นการเลือกผู้สมัครรับเลือกตั้งเพื่อเป็นผู้แทนในเขตเลือกตั้งของตน และครั้งที่สองเป็นการเลือกพรรคการเมือง
ผู้แทนจากเขตเลือกตั้งต่างๆมีจำนวนทั้งสิ้น 299 ที่นั่ง ซึ่งแต่ละคนจะต้องได้คะแนนเสียงส่วนใหญ่จากแต่ละเขตจึงจะสามารถมีสิทธิเข้าไปทำหน้าที่ในสภาผู้แทนราษฎร
ส่วนอีก 299 ที่นั่งมาจากสัดส่วนของแต่ละพรรคการเมือง ซึ่งจะประเมินจากคะแนนเสียงที่พรรคได้รับจากการลงคะแนนทั่วประเทศ แต่มีข้อแม้ว่าพรรคการเมืองที่จะได้เข้าไปนั่งในสภาผู้แทนราษฎรจะต้องได้คะแนนเสียงอย่างน้อยที่สุด 5% หรือคิดเป็นจำนวนผู้แทนอย่างน้อย 3 ที่นั่ง
ทั้งนี้ ผู้สมัครรับเลือกตั้งที่ชนะการเลือกตั้งในเขตต่างๆจะได้สิทธิในการเข้าไปนั่งในสภาผู้แทนราษฎรอย่างแน่นอน ไม่ว่าผลคะแนนของพรรคการเมืองที่พวกเขาสังกัดอยู่จะออกมาเช่นไรก็ตาม นี่จึงส่งผลให้จำนวนที่นั่งทั้งหมดในรัฐสภามักจะสูงกว่าจำนวนโดยหลักการที่ 598 ที่นั่ง และภายใต้ระบบการเลือกตั้งแบบนี้ จึงไม่มีพรรคการเมืองพรรคใดได้รับคะแนนเสียงข้างมากอย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาดมานับแต่ปี 2500 หรือกว่า 50 ปีมาแล้ว ดังนั้น รัฐบาลผสมจึงกลายเป็นรูปแบบมาตรฐานของการเมืองเยอรมนีไปโดยปริยาย
ในปัจจุบัน สภาผู้แทนราษฎรของเยอรมนี หรือที่เรียกว่า Bundestag ประกอบด้วยสมาชิก 620 คนที่เป็นตัวแทนจากพรรคการเมืองที่สำคัญๆ โดยพรรคการเมืองที่ครองที่นั่งมากที่สุดจำนวน 193 ที่นั่ง ก็คือพรรคคริสเตียน เดโมเครติค ยูเนียน (CDU) ของนายกรัฐมนตรีอังเกล่า แมร์เคลนั่นเอง ขณะที่พรรคร่วมรัฐบาลในปัจจุบัน ซึ่งได้แก่พรรคฟรี เดโมเครติค พาร์ตี (FDP) ที่สนับสนุนภาคธุรกิจ และพรรคคริสเตียน โซเชียล ยูเนียน (CSU) ซึ่งเป็นพรรคแนวร่วมที่มีความสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดกับพรรค CDU นั้น ครองสัดส่วน 93 และ 44 ที่นั่ง ตามลำดับ
ส่วนพรรคโซเชียล เดโมเครติค พาร์ตี (Sozialdemokratische Partei Deutschlands: SPD) ซึ่งเป็นพรรคฝ่ายค้านที่สำคัญภายใต้การนำของนายเพียร์ สไตน์บรูค มีที่นั่งในรัฐสภา 146 ที่นั่ง ขณะที่พรรค Left และพรรค Greens เป็นเจ้าของ 75 และ 68 ที่นั่ง ตามลำดับ โดยอีก 1 ที่นั่งเป็นของผู้แทนอิสระ
สำหรับพรรค CDU และ พรรค CSU นั้น มีอุดมการณ์ที่สอดคล้องกันและได้ตกลงที่จะทำงานร่วมกัน จึงมักเรียกทั้งสองพรรครวมกันว่า CDU/CSU
การเลือกตั้งในครั้งนี้ ดูเหมือนว่านายกรัฐมนตรีหญิงคนปัจจุบันของเยอรมนี จะมีภาษีดีกว่าผู้นำฝ่ายค้าน ในการก้าวขึ้นมาบริหารประเทศต่ออีกสมัย เมื่อพิจารณาจากฝีไม้ลายมือและผลงานในการจัดการกับวิกฤตหนี้ยูโรโซน ด้วยการตัดสินใจที่เด็ดขาดและจริงจังในการผลักดันให้มีการลดหนี้สินของประเทศต่างๆโดยการลดรายจ่ายของภาครัฐบาล จนนางแมร์เคลกลายเป็นเครื่องหมายการค้าของ “มาตรการรัดเข็มขัด"
การรณรงค์มาตรการรัดเข็มขัดดังกล่าวได้สร้างความไม่พอใจอย่างมากแก่ประชาชนในกลุ่มประเทศที่ประสบปัญหาหนี้สินท่วมตัว โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศทางตอนใต้ของยุโรป ซึ่งเศรษฐกิจที่อยู่ในภาวะชะงักงันอยู่แล้ว ต้องซบเซาหนักขึ้นไปอีกจากมาตรการลดรายจ่ายของภาครัฐ
แต่ในเยอรมนีเองนั้น คะแนนนิยมของนางแมร์เคลกลับเพิ่มขึ้นอย่างมาก ซึ่งเป็นผลมาจากแนวทางที่เธอจัดการกับวิกฤตเศรษฐกิจภูมิภาค และแม้ว่าเยอรมนีจะยังคงมีภาระอันหนักอึ้งในการเป็นผู้จ่ายเงินสมทบรายใหญ่ให้กับภูมิภาค แต่เศรษฐกิจเยอรมนีที่ปรับตัวดีขึ้นในช่วงที่ผ่านมาก็ถือเครื่องยืนยันถึงทักษะและความเชี่ยวชาญด้านการบริหารจัดการเศรษฐกิจของนายกรัฐมนตรีหญิงของเยอรมนี ซึ่งตอกย้ำให้เห็นว่าเยอรมนีเป็นกลจักรขับเคลื่อนการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจและเป็นเสาหลักแห่งความมีเสถียรภาพของยูโรโซน
ด้านนายสไตน์บรูค คู่แข่งจากฝ่ายค้าน SPD ต้องเผชิญศึกหนัก หลังจากที่ทางพรรคสูญเสียคะแนนนิยมไปราว 10 ล้านเสียงนับตั้งแต่นายแกร์ฮาร์ด ชโรเดอร์ เป็นผู้นำพรรคในปี 2541 และตัวของนายสไตน์บรูคเองก็ถูกมองว่าไม่มีความเชี่ยวชาญทางด้านเศรษฐกิจและการเงิน เมื่อเทียบกับในประเด็นทางสังคม ซึ่งพรรค SPD ชูประเด็นความเป็นธรรมทางสังคมเป็นเดิมพันสำคัญในการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งครั้งนี้ โดยในระหว่างการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งที่เริ่มตั้งแต่ปลายเดือนก.ค. นายสไตน์บรูคได้มุ่งเน้นไปที่การปรับขึ้นค่าจ้างและสวัสดิการต่างๆ เพื่อหวังดึงคะแนนเสียงจากประชาชน พร้อมกับโจมตีนโยบายรัดเข็มขัดของฝั่งรัฐบาลว่าเป็นนโยบายที่มีข้อจำกัด และอาจจะทำให้การขยายตัวของสหภาพยุโรป (อียู) หยุดชะงักลง และระบุว่าเยอรมนีจำเป็นต้องทบทวนบทบาทของประเทศภายในกลุ่มอียู โดยกล่าวว่าเยอรมนีต้องการสังคมที่มีเพื่อนบ้านที่ดี
อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์มองว่า การมุ่งเน้นประเด็นทางสังคมในการหาเสียงของนายสไตน์บรูคไม่มีแนวโน้มว่าจะสามารถเอาชนะใจกลุ่มผู้มีสิทธิลงคะแนนเสียงที่เป็นกลุ่มคนรุ่นใหม่ โดยประเด็นความเป็นธรรมทางสังคมยังคงเป็นจุดแข็งเพียงจุดเดียวของพรรค SPD และที่ผ่านมาก็ไม่เคยช่วยให้พรรคได้คะแนนเสียงเพิ่มหรือทำให้ผู้มีสิทธิลงคะแนนเสียงเลือกตั้งมีความเชื่อมั่นมากขึ้นแต่อย่างใด จึงไม่มีความจำเป็นที่จะต้องหาเสียงโดยใช้ประเด็นนี้อีก
กรีซ: ประเด็นต้องห้ามสำหรับรัฐบาล
ในช่วงก่อนถึงวันเลือกตั้งทั่วไป แม้ว่าพรรครัฐบาลจะชูประเด็นความสามารถในการบริหารจัดการเศรษฐกิจให้ผ่านพ้นช่วงวิกฤตของยูโรโซนมาได้ แต่เรื่องที่ไม่มีใครต้องการให้สื่อหรือประชาชนถามถึงมากนัก ก็คือประเด็นที่เกี่ยวข้องกับกรีซ ที่เป็นเหมือนจุดอ่อนในยูโรโซน หลังจากที่กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) เคยออกมากเตือนเมื่อเดือนก.ค.ว่า กรีซจำเป็นต้องปรับลดหนี้สินในเร็วๆนี้ หากไม่สามารถจัดระเบียบฐานะการเงินของประเทศได้
แต่นางแมร์เคลและนายวูล์ฟกัง ชอยเบิล รมว.คลังเยอรมนี ไม่ได้ให้ความสนใจกับคำเตือนจากไอเอ็มเอฟ โดยกระทรวงการคลังของเยอรมนีได้ปฏิเสธกระแสคาดการณ์ที่ว่า กรีซจำเป็นต้องได้รับเงินกู้เพิ่มเติมจากบรรดาประเทศสมาชิกสหภาพยุโรปภายในต้นปี 2557 ขณะที่นักวิเคราะห์มองว่า นางแมร์เคลและนายชอยเบิลระบุว่ากรีซอาจจะต้องการความช่วยเหลือเพิ่มเติม แต่ไม่ใช่ก่อนปี 2557 ซึ่งเป็นช่วงที่การเลือกตั้งของเยอรมนีได้ผ่านพ้นไปเรียบร้อยแล้ว
ส่วนนายสไตน์บรูค คู่แข่งจากพรรค SPD ใช้โอกาสกล่าวโจมตีว่า รัฐบาลชุดปัจจุบันกำลังปกปิดข้อมูลเกี่ยวกับแผนการช่วยเหลือสำหรับกรีซ ซึ่งจะก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อฐานะการเงินภาคสาธารณะของเยอรมนี ที่ถือเป็นผู้จ่ายเงินสมทบรายใหญ่ในภูมิภาค โดยก่อนหน้านี้ กรีซต้องขอรับความช่วยเหลือทางเศรษฐกิจมาแล้ว 2 ครั้งจากสหภาพยุโรป (อียู) กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) และธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) โดยครั้งแรกในเดือนพ.ค.2553 ในวงเงิน 1.1 แสนล้านยูโร และครั้งที่ 2 ในเดือนก.พ.2555 อีก 1.4 แสนล้านยูโร
ดีเบต: เวทีประชันกึ๋นผู้นำ
เมื่อช่วงต้นเดือนนี้ นางแมร์เคล นายกรัฐมนตรีหญิงและผู้นำพรรค CDU ได้เปิดศึกโต้วาทีเพื่อประชันวิสัยทัศน์กับนายสไตน์บรูค ผู้นำฝ่ายค้านและหัวหน้าพรรค SPD ซึ่งเป็นการดีเบตที่มีการถ่ายทอดสดผ่านทางสถานีโทรทัศน์ที่สำคัญหลายช่องของเยอรมนีเป็นเวลา 90 นาที โดยมีผู้ชมการถ่ายทอดราว 17 ล้านคน
ผลสำรวจความคิดเห็นระบุว่าครึ่งหนึ่งของชาวเยอรมันที่มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งได้ชมการแสดงวิสัยทัศน์ทางโทรทัศน์ ขณะที่ 1 ใน 3 ของผู้ตอบแบบสอบถามระบุว่าการโต้วาทีดังกล่าวอาจจะมีอิทธิพลต่อการตัดสินใจลงคะแนนของพวกเขา ชาวเยอรมันโดยทั่วไปมองว่าการดีเบตในครั้งนี้เป็นความพยายามครั้งสุดท้ายของนายสไตน์บรูคที่จะโน้มน้าวผู้มีสิทธิลงคะแนนเสียงที่ยังมีความลังเล ในขณะที่เหลือเวลาอีกไม่มากก่อนถึงวันเลือกตั้ง
การดีเบตดังกล่าวมีการตั้งกระทู้ถามในประเด็นต่างๆที่รวมถึงภาษี, ค่าจ้าง, นโยบายของเยอรมนีต่อวิกฤตหนี้ยูโรโซน รวมทั้งสถานการณ์ในซีเรีย
ในระหว่างการโต้วาที นางแมร์เคลชูประเด็นอัตราว่างงานที่ระดับต่ำของเยอรมนี ซึ่งใกล้เคียงระดับต่ำสุดนับแต่มีการรวมชาติเยอรมนีในปี 2533 โดยระบุว่าเยอรมนีเป็นกลไกขับเคลื่อนการขยายตัว และเป็นหลักสำคัญของความมีเสถียรภาพในยุโรป เธอกล่าวว่าต้องการที่จะสานต่อแนวทางนี้ต่อไป
นางแมร์เคลกล่าวว่า แผนการปรับขึ้นภาษีมีความเสี่ยงที่จะบั่นทอนสถานการณ์ทางเศรษฐกิจที่กำลังไปได้ดีของประเทศ โดยเศรษฐกิจของเยอรมนีในช่วงไตรมาส 2 ปีนี้ มีการขยายตัว 0.7% เมื่อเทียบกับไตรมาสแรก ซึ่งเป็นอัตราการขยายตัวที่แข็งแกร่งสุดนับแต่ช่วงไตรมาสแรกปี 2555 ขณะที่เศรษฐกิจที่แข็งแกร่งในเยอรมนีได้ช่วยหนุนความเชื่อมั่นว่ายูโรโซนจะหลุดพ้นจากภาวะถดถอยที่เรื้อรังได้ในเร็วๆนี้
พรรค CDU ของนายกรัฐมนตรีหญิงเยอรมนี ไม่เห็นด้วยกับแนวทางการปรับขึ้นภาษี แต่สนับสนุนให้มีการทำข้อตกลงค่าจ้างขั้นต่ำระหว่างนายจ้างและสหภาพแรงงานที่มีแตกต่างกันในแต่ละภาคอุตสาหกรรมและแต่ละภูมิภาค
นางแมร์เคลเน้นย้ำถึงการปฏิรูปเชิงโครงสร้างและการลดรายจ่ายของประเทศที่มีภาระหนี้สิน โดยระบุว่าเป็นความรับผิดชอบของเธอในฐานะนายกรัฐมนตรีที่จะยังคงกดดันให้มีการปฏิรูปในกรีซต่อไป
ส่วนนายสไตน์บรูคเน้นย้ำถึงความเป็นธรรมทางสังคมมากขึ้น และแผนการที่จะใช้อัตราค่าจ้างขั้นต่ำที่ 8.50 ยูโร (11.35 ดอลลาร์) ต่อชั่วโมง โดยชี้ถึงความเป็นจริงที่ว่าประชาชน 7 ล้านคนยังมีรายได้ต่ำกว่าค่าจ้างขั้นต่ำดังกล่าว และยังต้องการให้มีการปรับขึ้นอัตราภาษีสำหรับผู้ที่มีรายได้เกิน 100,000 ยูโร จากเดิมที่ 42% เป็น 49%
สำหรับประเด็นวิกฤตหนี้ยูโรโซนนั้น นายสไตน์บรูคเรียกร้องให้มีมาตรการที่เป็นเอกภาพมากขึ้นสำหรับประเทศสมาชิกยูโรโซนที่มีปัญหาหนี้สิน ซึ่งรวมถึงกรีซ โดยเขาวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลของนางแมร์เคลว่าทำให้ชาวเยอรมันที่มีสิทธิลงคะแนนเสียงเลือกตั้งเข้าใจผิดเกี่ยวกับความเสียหายจากการให้ความช่วยเหลือกรีซอีกครั้ง และเขาเรียกร้องให้นางแมร์เคลออกมาพูดความจริงว่าเยอรมนีจะต้องช่วยเหลือกรีซไปอีกนานเพียงใด
ส่วนในประเด็นวิกฤตซีเรยนั้น ทั้งสองไม่ต้องการให้เยอรมนีเข้าไปมีส่วนร่วมในการโจมตีทางทหารต่อซีเรีย ขณะที่ผลสำรวจความคิดเห็นในช่วงที่ผ่านมาแสดงให้เห็นว่าชาวเยอรมันกว่าครึ่งคัดค้านปฏิบัติการทางทหารของชาติตะวันตกในซีเรีย
สูตรการจัดตั้งรัฐบาลผสม
ผลสำรวจความคิดเห็นจากหลายสำนักในช่วงก่อนถึงวันเลือกตั้งต่างออกมาในทิศทางเดียวกัน นั่นก็คือคะแนนนิยมของพรรค CDU/ CSU อยู่ที่ 40% ขึ้นไป ซึ่งอาจจะเพียงพอที่จะชนะการเลือกตั้งอีกสมัยและได้จัดตั้งรัฐบาลโดยไม่ต้องรวมกับพรรค FDP ขณะที่พรรค SPD จะได้คะแนนเสียงราว 25% ส่วนพรรค Greens จะมีคะแนน 12-14% ขณะที่พรรค FDP จะคว้าไปได้อย่างน้อย 5% ซึ่งถือเป็นเกณฑ์ขั้นต่ำในการเข้าร่วมในสภาผู้แทนราษฎรของเยอรมนี หรือ Bundestag
อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีความชัดเจนว่า พรรค FDP จะสามารถผ่านเกณฑ์ขั้นต่ำ ที่ 5% ดังกล่าว เพื่อที่จะเข้าร่วมในรัฐบาลผสมภายใต้การนำของนางแมร์เคลได้หรือไม่ จึงทำให้มีความเป็นไปได้อีกแนวทางหนึ่ง นั่นก็คือรัฐบาลผสมที่เรียกกันว่า Grand Coalition โดยเป็นการร่วมงานกันระหว่างพรรคใหญ่ ซึ่งได้แก่ CDU/CSU และพรรค SPD แต่นายสไตน์บรูค ผู้นำพรรค SPD ปฏิเสธที่จะเข้าร่วมรัฐบาลผสมในรูปแบบดังกล่าว
ส่วนแนวทางการจัดตั้งรัฐบาลผสมที่พรรค SPD ต้องการก็คือการจับมือกับพรรค Greens แต่ดูเหมือนว่าแนวโน้มจะห่างไกลความจริง เนื่องจากผลสำรวจความคิดเห็นส่วนใหญ่แสดงให้เห็นว่าเมื่อรวมคะแนนเสียงของทั้ง 2 พรรคแล้ว จะได้เกิน 35% ไม่มากนัก เทียบกับพรรค CDU/CSU ที่ได้ไปกว่า 40%
นอกจากนี้ สื่อยังมีการพูดถึงแนวทางจัดตั้งรัฐบาลผสมอื่นๆอีก เช่น CDU/CSU/Greens หรือ SPD/Greens/Left แต่มีการมองกันว่า สูตรเหล่านี้ไม่มีแนวโน้มที่จะเป็นไปได้
ประวัติโดยสังเขป
“อังเกล่า แมร์เคล"
นางอังเกล่า แมร์เคล ผู้นำหญิงวัย 59 ปี ถือกำเนิดที่เมืองฮัมบวร์ก เยอรมนีในปี 2497 และหลังจากมีอายุได้เพียงไม่กี่เดือน ก็ได้ย้ายไปอยู่ที่เมืองเล็กๆแห่งหนึ่งในเยอรมนีตะวันออก และเติบโตขึ้นในเขตชนบทนอกกรุงเบอร์ลิน
นางแมร์เคลมีพรสวรรค์ทางด้านวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์และภาษาต่างๆ โดยสำเร็จการศึกษาดุษฎีบัณฑิตสาขาฟิสิกส์ในปี 2521 หลังจากนั้นได้ทำงานเป็นนักเคมีที่สถาบันวิทยาศาสตร์แห่งหนึ่งในเบอร์ลินตะวันออก
นางแมร์เคลไม่เคยยุ่งเกี่ยวกับการเมือง จนกระทั่งอายุ 36 ปี เมื่อเธอได้มีส่วนร่วมในการเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยในปี 2532 และเมื่อกำแพงเบอร์ลินพังทลายลง นางแมร์เคลได้รับตำแหน่งโฆษกรัฐบาลหลังการเลือกตั้งตามระบอบบประชาธิปไตยเป็นครั้งแรกของเยอรมนี
ช่วง 2 เดือนก่อนที่จะมีการรวมชาติเยอรมนี นางแมร์เคลได้เข้าร่วมพรรค CDU และภายใน 3 เดือน เธอได้เข้าร่วมคณะรัฐมนตรีและเข้าทำหน้าที่ในรัฐสภาครั้งแรกในฐานะรัฐมนตรีที่ดูแลด้านสตรีและเยาวชนในปี 2533 จนกระทั่งก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งผู้นำพรรค CDU ในปี 2543
ในปี 2548 นางแมร์เคลสามารถเอาชนะนายแกร์ฮาร์ด ชโรเดอร์ นายกรัฐมนตรีจากพรรค SPD ในขณะนั้น และกลายเป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกของเยอรมนี โดยเป็นผู้นำของรัฐบาลผสมที่เรียกกันว่า Grand Coalition เนื่องจากเป็นการร่วมงานกันของพรรคการเมืองขนาดใหญ่หลายพรรค ซึ่งรวมถึงพรรค SPD ด้วย
หลังจากนั้นในปี 2552 นางแมร์เคลได้รับความไว้วางใจจากชาวเยอรมันให้ดำรงตำแหน่งผู้นำประเทศเป็นสมัยที่ 2 โดยในครั้งนี้มีการจัดตั้งรัฐบาลผสมร่วมกับพรรค FDP ที่เน้นการส่งเสริมภาคธุรกิจ
ทั้งนี้ เมื่อเดือนพ.ค.ที่ผ่านมา นิตยสารฟอร์บส์ ซึ่งเป็นนิตยสารชั้นนำของสหรัฐ ได้ยกย่องให้ นางอังเกล่า แมร์เคล ผู้นำหญิงแห่งเยอรมนี ครองตำแหน่งสตรีผู้ทรงอิทธิพลอันดับ 1 ของโลกติดต่อกันเป็นปีที่ 3 ในปีนี้ โดยการจัดอันดับสตรีผู้ทรงอิทธิพลประจำปีของนิตยสารฟอร์บส์นั้น ได้ครอบคลุมถึงผู้หญิงในการเมืองระดับโลก นักธุรกิจ สื่อสารมวลชน วงการบันเทิง เทคโนโลยี และ หน่วยงานที่ไม่ได้แสวงหากำไร
“เพียร์ สไตน์บรูค"
นายเพียร์ สไตน์บรูค วัย 66 ปี เกิดเมื่อปี 2490 ที่เมืองฮัมบวร์กเช่นเดียวกับนางแมร์เคล โดยเขาสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาด้านเศรษฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยคีล ประเทศเยอรมนีในปี 2517
นายสไตน์บรูคเคยดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีคลังในช่วงที่นางแมร์เคลทำหน้าที่นายกรัฐมนตรีเป็นสมัยแรก และเมื่อปีที่แล้วเขาได้รับเลือกจากบรรดาผู้นำพรรค SPD ให้เป็นตัวแทนพรรคในการชิงชัยในการเลือกตั้งทั่วไปของเยอรมนี โดยเขานับเป็นความหวังที่ดีที่สุดที่จะช่วยให้พรรค SPD ได้กลับมาบริหารประเทศอีกครั้ง หลังจากที่เคยเป็นพรรครัฐบาลภายใต้การนำของอดีตนายกรัฐมนตรีแกร์ฮาร์ด ชโรเดอร์ในช่วงปี 2541-2548
ในการเลือกตั้งทั่วไปในวันอาทิตย์ที่ 22 ก.ย.นี้ แม้ผลการเลือกตั้งที่ออกมาไม่น่าจะไม่พลิกโผไปจากที่นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่คาดกันไว้ว่านางอังเกล่า แมร์เคล จะได้กลับมาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของเยอรมนีอีกครั้งเป็นสมัยที่ 3 แต่สิ่งที่จะต้องจับตาดูกันต่อไปและน่าจะมีความชัดเจนมากขึ้นหลังการเลือกตั้งทั่วไปเสร็จสิ้นลง ก็คือสูตรในการจับขั้วรัฐบาลผสม รวมถึงแนวทางในการดำเนินนโยบายต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการบริหารจัดการเศรษฐกิจทั้งในประเทศและในภูมิภาคยูโรโซน ซึ่งยังมีปัญหารอให้สะสางและเศรษฐกิจยังไม่ฟื้นตัวจากวิกฤตหนี้อย่างเต็มที่ ขณะที่ทั่วโลกหวังว่าการกลับมาครองเก้าอี้นายกรัฐมนตรีอีกสมัยของนางแมร์เคลซึ่งน่าจะทำให้เสถียรภาพของยูโรโซนเข้มแข็งขึ้นไม่มากก็น้อย...