แต่ทว่าในขณะที่วิกฤต "ชัตดาวน์" ยังไม่ทีท่าจบลงง่ายๆ สถานการณ์ที่น่าหวาดหวั่นยิ่งกว่าก็กำลังคืบคลานเข้ามา นั่นก็คือการที่สหรัฐกลับมาเผชิญกับภาวะ "หน้าผาการคลัง" หรือ Fiscal Cliff เป็นคำรบสอง เข้าตำรา "ความวัวยังไม่ทันหาย ความควายเข้ามาแทรก"
ทั้งนี้ หนี้สาธารณะของสหรัฐพุ่งชนเพดานตามที่กฎหมายกำหนดไว้ที่ระดับ 16.699 ล้านล้านดอลลาร์แล้ว และสหรัฐอาจเข้าสู่ภาวะถังแตกหากสภาคองเกรสไม่สามารถผ่านร่างกฎหมายขยายเพดานหนี้ได้ทันกำหนดเส้นตายวันที่ 17 ตุลาคม
ย้อนกลับไปเมื่อเดือนสิงหาคม 2012 สหรัฐเคยเผชิญภาวะ "ฟิสคัล คลิฟฟ์" มาแล้ว แต่ยังเคราะห์ดีที่ในครั้งนั้นลงเอยด้วยการที่สภาคองเกรสสามารถบรรลุข้อตกลงก่อนถึงกำหนดชำระหนี้เพียงสองวัน
อย่างไรก็ตาม บรรดานักเศรษฐศาสตร์กำลังกังวลกันว่า คราวนี้สหรัฐอาจไม่สามารถหลบเลี่ยงการตกหน้าผาได้อย่างหวุดหวิดเหมือนครั้งที่แล้ว หากสองขั้วอำนาจการเมืองยังถือคติ "ยอมหัก ไม่ยอมงอ" ในการอภิปรายจัดทำงบประมาณประจำปี 2014 อันจะส่งผลให้สหรัฐผิดนัดชำระหนี้ครั้งแรกในประวัติศาสตร์ ซึ่งจะสร้างความเสียหายรุนแรงกว่าชัตดาวน์เป็นไหนๆ และอาจนำไปสู่วิกฤตเศรษฐกิจโลกครั้งใหญ่เกินกว่าที่ใครจะคาดคิด
ชนวนเหตุ "ชัตดาวน์" สู่ "ฟิสคัล คลิฟฟ์"
ชนวนเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดวิกฤต "ชัตดาวน์" และกำลังขยายวงสู่ "ฟิสคัล คลิฟฟ์" นั้นมีที่มาที่ไปจากความขัดแย้งเรื่องกฎหมาย Patient Protection and Affordable Care Act หรือกฎหมายประกันสุขภาพที่เรียกกันติดปากว่า "โอบามาแคร์" (Obamacare) ซึ่งพรรคเดโมแครตภูมิใจหนักหนา แต่ข้างฝ่ายรีพับลิกันกลับพยายามขวางทางมาโดยตลอด
โอบามาแคร์ ซึ่งไม่มีความเกี่ยวข้องกับงบประมาณโดยตรง กำลังถูกทั้งสองพรรคใช้เป็น "เครื่องต่อรอง" ทางการเมือง โดยฝ่ายเดโมแครต ซึ่งครองเสียงข้างมากในวุฒิสภาต้องการให้กฎหมายงบประมาณบรรจุโอบามาแคร์ลงไปด้วย แต่รีพับลิกัน ซึ่งเป็นเสียงส่วนใหญ่ในสภาผู้แทนราษฎรไม่เห็นด้วย และเสนอให้เลื่อนการบังคับใช้โอบามาแคร์ออกไปอีกหนึ่งปี มิฉะนั้นจะไม่ผ่านร่างงบประมาณสำหรับเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานต่างๆของรัฐบาลกลางสหรัฐ ด้วยเหตุนี้เองจึงนำมาสู่เหตุการณ์ชัตดาวน์ในรอบ 17 ปี ที่กำลังปั่นป่วนสหรัฐ รวมไปถึงตลาดการเงินทั่วโลกอยู่ในขณะนี้
"โอบามาแคร์" คืออะไร
"โอบามาแคร์" คือชื่อเล่นของกฎหมายประกันสุขภาพที่มีชื่อยาวอย่างเป็นทางการว่า The Patient Protection and Affordable Care Act (PPACA) ซึ่งเกิดจากแนวคิดของประธานาธิบดีบารัค โอบามา และพรรคเดโมแครต ที่ช่วยกันผลักดันจนสามารถลงนามเป็นกฎหมายเมื่อปี 2010 และกำหนดให้มีผลบังคับใช้ในปีงบประมาณ 2014 ซึ่งเริ่มต้นไปแล้วเมื่อวันที่ 1 ตุลาคมที่ผ่านมา โดยกฎหมายฉบับนี้ถือเป็นการยกเครื่องระบบประกันสุขภาพครั้งใหญ่ที่สุดของสหรัฐนับตั้งแต่ช่วงทศวรรษ 1960 ด้วยเป้าหมายที่ต้องการให้ชาวอเมริกันทุกคนได้รับความคุ้มครองจากประกันสุขภาพอย่างทั่วถึง
โอบามาแคร์ ถือเป็นหนึ่งในนโยบายเด่นของปธน.โอบามาซึ่งต้องการขยายความคุ้มครองประสุขภาพให้ครอบคลุมชาวอเมริกันราว 15% หรือ 40-50 ล้านคน ซึ่งรวมถึงผู้มีฐานะยากจนและผู้สูงอายุ ที่ยังไม่ได้รับสิทธิประโยชน์ด้านการประกันสุขภาพจากนายจ้างหรือจากรัฐบาล โดยชาวอเมริกันที่เป็นผู้ทุพพลภาพ ผู้มีรายได้ต่ำ หรือผู้สูงวัยที่มีอายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไปจะต้องได้รับประกันสุขภาพจากรัฐบาล ส่วนบุคคลที่ไม่เข้าข่ายได้รับประกันสุขภาพจากรัฐบาลหรือจากนายจ้างจะต้องซื้อประกันสุขภาพด้วยตนเอง
ในขณะที่กฎหมายกำหนดให้ชาวอเมริกันทุกคนต้องซื้อประกันสุขภาพ รัฐบาลก็จะให้ความช่วยเหลือผู้มีฐานะยากจนที่ไม่สามารถซื้อประกันดังกล่าวเองได้ ด้วยการจัดสรรงบประมาณอุดหนุนให้กรมธรรม์หรือเบี้ยประกันถูกลง
นอกจากนี้ กฎหมายยังกำหนดให้ผู้ประกอบการที่มีพนักงานหรือลูกจ้างทำงานเต็มเวลามากกว่า 50 คนจะต้องช่วยทำประกันสุขภาพให้ลูกจ้าง อย่างไรก็ดีข้อกำหนดนี้ได้รับการชะลอออกไปจนถึงปี 2015 เพื่อให้ภาคธุรกิจได้มีเวลาเตรียมความพร้อมในการปฏิบัติตามกฎหมาย
สำหรับสาระสำคัญอื่นๆของกฎหมายฉบับนี้ ได้แก่ การห้ามบริษัทประกันปฏิเสธรับทำประกันแก่ผู้ที่มีปัญหาสุขภาพอยู่ก่อนแล้ว ซึ่งเป็นการเปิดโอกาสให้บุคคลที่มีสภาพความเจ็บป่วยมาก่อน (pre-existing conditions) สามารถซื้อประกันสุขภาพได้, การอนุญาตให้บุตรสามารถได้รับสิทธิประโยชน์ตามกรมธรรม์ประกันสุขภาพของบิดามารดาได้จนอายุถึง 26 ปี และการห้ามมิให้บริษัทประกันกำหนดเพดานมูลค่าสิทธิประโยชน์ตลอดชีพสำหรับบริการที่จำเป็น
โดยนับจากต้นปี 2014 บุคคลที่ไม่ปฏิบัติตามข้อกำหนดดังกล่าวจะต้องจ่ายค่าปรับ
เหตุใดรีพับลิกันจึงคัดค้าน "โอบามาแคร์" อย่างหัวชนฝา
พรรครีพับลิกันได้ต่อสู้เพื่อขัดขวางกฎหมายฉบับนี้อย่างสุดลิ่มทิ่มประตู นับตั้งแต่ที่ได้รับการเสนอจากโอบามาเป็นครั้งแรกในปี 2009 ซึ่งเป็นปีที่เขาเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีสมัยแรก หรือจนกระทั่งเมื่อกฎหมายผ่านการรับรองจากสภาคองเกรสในปี 2010 แล้วก็ตาม
สมาชิกสภานิติบัญญัติทุกคนจากพรรครีพับลิกันออกเสียงคัดค้านกฎหมายฉบับนี้ เนื่องเห็นว่าเป็นการเพิ่มภาระให้กับประชาชนและภาคเอกชน โดยมีการโหวตคว่ำกฎหมายนี้นับสิบๆครั้ง รวมถึงมีการยื่นฟ้องกฎหมายนี้ต่อศาล แต่การต่อสู้ในชั้นศาลได้สิ้นสุดลงในเดือนมิ.ย.2012 เมื่อศาลฎีกาของสหรัฐประกาศว่ากฎหมายไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ
กฎหมายนี้ยังได้กลายเป็นประเด็นหลักที่สองพรรคนำมาใช้ในการหาเสียงเลือกตั้งประธานาธิบดีปี 2012 โดยมิตต์ รอมนีย์ ผู้สมัครชิงตำแหน่งปธน.จากพรรครีพับลิกัน ประกาศกร้าวว่าเขาจะผลักดันให้มีการยกเลิกกฎหมาย ขณะที่โอบามาให้คำมั่นว่าจะปกป้องกฎหมายฉบับนี้
รอมนีย์นำประเด็นดังกล่าวมาใช้โจมตีปธน.โอบามา โดยเรียกโอบามาแคร์ว่าเป็นกฎหมายที่ขัดขวางการจ้างงาน (job-killer) พร้อมอ้างผลสำรวจของหอการค้าอเมริกันที่ระบุว่า กฎหมายดังกล่าวลดโอกาสที่บริษัทถึงสามในสี่จะจ้างงานเพิ่ม
พรรครีพับลิกันมองว่า โอบามาแคร์จะเพิ่มภาระงบประมาณด้านบริการสุขภาพ และทำให้สหรัฐขาดดุลงบประมาณและมีหนี้สินภาครัฐเพิ่มขึ้นอย่างไม่มีที่สิ้นสุด นอกจากนี้ รัฐบาลไม่ควรบังคับประชาชนเรื่องการประกันสุขภาพด้วย
ในส่วนของภาคธุรกิจนั้น ผู้ประกอบการขนาดเล็กเกรงว่าจะไม่สามารถรับภาระค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้นในด้านนี้ไหวในอนาคต แม้จะได้ส่วนลดทางภาษีจากการทำประกันให้ลูกจ้างก็ตาม
นักวิเคราะห์บางรายกล่าวว่ากฎหมายประกันสุขภาพโอบามาแคร์ทำให้นายจ้างรู้สึกกังวล ส่งผลให้มีการตัดชั่วโมงการทำงานของลูกจ้างเหลือเพียงสัปดาห์ละ 30 ชั่วโมง และธุรกิจหลายแห่ง เช่น วอลมาร์ท หันมาจ้างพนักงานประเภทชั่วคราวแทน เพื่อให้เป็นไปตามข้อบังคับของกฎหมายประกันสุขภาพโอบามาแคร์ที่กำหนดให้นายจ้างที่มีจำนวนพนักงานหรือลูกจ้างตั้งแต่ 50 คนขึ้นไป และมีการจ้างลูกจ้างทำงานมากกว่า 30 ชั่วโมง/สัปดาห์ ต้องทำประกันสุขภาพให้ลูกจ้าง
จนถึงตอนนี้ ยังไร้วี่แววว่าความขัดแย้งระหว่างสองขั้วจะยุติลง เมื่อสองฝ่ายยังไม่หันหน้ามาคุยกัน ในขณะที่กำหนดเส้นตายเพิ่มเพดานหนี้งวดเข้ามาทุกขณะ โดยบรรดานักวิเคราะห์เชื่อว่า วิกฤตการคลังที่สหรัฐกำลังเผชิญอยู่นี้เป็นเกมการเมือง ซึ่งทั่วโลกกำลังจับตาดูว่าตอนจบของเกมนี้จะออกมาเป็นแบบใด ระหว่าง Game Over หรือ Happy Ending