ในช่วง 2-3 สัปดาห์ที่ผ่านมานี้ ทั่วโลกได้ให้ความสนใจกับเรื่องนี้อีกครั้ง หลังจากการหารือระหว่างอิหร่านกับ 6 ชาติมหาอำนาจของโลกหรือกลุ่ม P5+1 ที่นครเจนีวาในระหว่างวันที่ 7-9 พ.ย. โดยนายจอห์น แคร์รี รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐ แสดงความเห็นว่าแม้จะยังไม่มีข้อสรุปจากการประชุมดังกล่าว แต่ก็ยืนยันมีความคืบหน้าที่สำคัญ และที่ประชุมเห็นพ้องกันที่จะจัดการเจรจาอีกครั้งในวันที่ 20 พ.ย.
ประเด็นเคลือบแคลง
ประชาคมโลกได้รับรู้ถึงโครงการนิวเคลียร์ของอิหร่านเมื่อปี 2545 เมื่อกลุ่มต่อต้านรัฐบาลได้ออกมาเปิดโปงกิจกรรมที่ถูกปกปิดไว้ ซึ่งรวมถึงการเสริมสรรถนะแร่ยูเรเนียม และในเวลาต่อมา รัฐบาลอิหร่านได้ยินยอมให้สำนักงานพลังงานปรมาณูสากล (IAEA) ซึ่งเป็นหน่วยงานกำกับดูแลด้านนิวเคลียร์ของสหประชาชาติ สามารถเข้าตรวจสอบกิจกรรมด้านนิวเคลียร์ในอิหร่านได้
เหตุการณ์ดูเหมือนจะเป็นไปด้วยดี แต่สิ่งที่ยังเป็นข้อกังขาที่ค้างคาใจประชาคมโลกก็คือวัตถุประสงค์ของกิจกรรมด้านนิวเคลียร์ของอิหร่าน โดยอิหร่านยืนกรานมาโดยตลอดว่าโครงการนิวเคลียร์มีจุดประสงค์ในเชิงสันติและเป็นไปเพื่อประโยชน์ของพลเรือนเท่านั้น ขณะที่ IAEA เองก็ไม่สามารถยืนยันคำกล่าวอ้างของอิหร่านและไม่สามารถระบุได้อย่างชัดเจนว่าอิหร่านไม่ได้กำลังพยายามที่จะพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์
ความคลางแคลงใจที่มีอยู่ส่งผลให้สหรัฐและชาติพันธมิตรในยุโรปร่วมกันกดดันให้อิหร่านยุติการเสริมสมรรถนะแร่ยูเรเนียม ซึ่งอาจจะมีการนำไปใช้เพื่อวัตถุประสงค์ด้านพลเรือน แต่ก็อาจจะมีการใช้เพื่อผลิตอาวุธนิวเคลียร์ได้ด้วยเช่นกัน
ในปี 2546 อิหร่านตกลงที่จะระงับการเสริมสมรรถนะแร่ยูเรเนียม แต่ข้อตกลงดังกล่าวได้พังทลายลงในปี 2548 หลังจากที่มีการเลือกตั้งประธานาธิบดี ซึ่งนายมาห์มุด อาห์มาดิเนจาด ได้ก้าวขึ้นมาทำหน้าที่บริหารประเทศ
ในปี 2549 IAEA แจ้งต่อคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาติว่าอิหร่านไม่ได้ปฏิบัติตามข้อตกลงในสนธิสัญญาไม่แพร่กระจายอาวุธนิวเคลียร์ และนั่นคือจุดเริ่มต้นของการกำหนดมาตรการคว่ำบาตรต่ออิหร่านจากสหประชาชาติและชาติมหาอำนาจของโลก
การคว่ำบาตรครั้งสำคัญที่มีต่ออิหร่านจนถึงปัจจุบัน
ปี 2549
สหประชาชาติ - ห้ามจัดส่งหรือจำหน่ายวัตถุที่อาจจะมีการนำไปใช้ในการผลิตอาวุธนิวเคลียร์ พร้อมอายัดทรัพย์สินของหน่วยงานหรือบุคคลที่มีความเกี่ยวข้อง
สหรัฐ - กีดกันการค้าระหว่างอิหร่าน
ปี 2550
สหประชาชาติ - ห้ามการส่งออกอาวุธของอิหร่าน อายัดทรัพย์สินและจำกัดการเดินทางของบุคคลจำนวนมากขึ้นที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับกิจกรรมด้านนิวเคลียร์
ปี 2551
สหประชาชาติ - เรียกร้องให้มีการเฝ้าระวังเมื่อมีการติดต่อกับธนาคารของอิหร่าน ขณะที่อายัดทรัพย์สินและห้ามการเดินทางเพิ่มเติม
สหรัฐ - ห้ามไม่ให้ธนาคารสหรัฐทำธุรกรรมโอนเงินที่มีส่วนพัวพันกับอิหร่าน
ปี 2553
สหประชาชาติ - ประกาศข้อจำกัดเพิ่มเติมเกี่ยวกับการจัดส่งอาวุธ ซึ่งรวมถึงรถถังและเฮลิคอปเตอร์ ขณะที่มีการเพิ่มจำนวนบุคคลและบริษัทต่างๆไว้ในบัญชีรายชื่อการคว่ำบาตร
สหรัฐ - ออกกฎหมายที่พุ่งเป้าไปที่ยังบริษัทต่างชาติที่จัดหาเชื้อเพลิงแก่อิหร่าน
สหภาพยุโรป - ห้ามการช่วยเหลือทางเทคนิคในภาคอุตสาหกรรมน้ำมัน และประกาศข้อจำกัดของธนาคารต่างๆและห้ามการเดินทางของบุคคลที่เกี่ยวข้อง นอกเหนือจากรายชื่อของสหประชาชาติ
ปี 2554
สหรัฐ - คุมเข้มข้อกำหนดที่ห้ามบริษัทและสถาบันการเงินต่างชาติทำการซื้อขายในภาคธุรกิจเชื้อเพลิง
สหภาพยุโรป - อายัดทรัพย์สินขององค์กรอิหร่าน 243 แห่ง และบุคคลอีกราว 40 ราย พร้อมห้ามการออกวีซ่าเพิ่มเติม
ปี 2555
สหรัฐ - คว่ำบาตรเพิ่มเติมต่อภาคธุรกิจน้ำมันและธนาคารต่างๆที่ถูกกล่าวหาว่าทำธุรกิจกับอิหร่าน
สหภาพยุโรป - ห้ามการนำเข้าน้ำมันของอิหร่านและอายัดทรัพย์สินของรัฐบาลกลางอิหร่าน รวมทั้งอายัดทรัพย์สินและห้ามการเดินทางอื่นๆเพิ่มเติม
ปี 2556
สหรัฐ - คว่ำบาตรรอบใหม่ต่อสกุลเงินเรียลของอิหร่านและภาคธุรกิจรถยนต์
นับแต่ปี 2549 กลุ่ม P5+1 ซึ่งประกอบด้วย 5 ชาติสมาชิกถาวรของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหรัฐ (สหรัฐ อังกฤษ ฝรั่งเศส จีนและรัสเซีย) บวกด้วยเยอรมนี ได้ใช้วิธีการแบบคู่ขนานกับอิหร่าน ด้วยการหารือซึ่งเรียกร้องให้อิหร่านยุติการเสริมสมรรถนะแร่ยูเรเนียม ขณะดียวกันสหประชาชาติก็กำหนดมาตรการคว่ำบาตรต่อองค์กรหรือบุคคลที่มีส่วนเกี่ยวพันกับกิจกรรมด้านนิวเคลียร์ของอิหร่าน
นอกเหนือจากนี้ สหรัฐและสหภาพยุโรปยังมีการออกมาตรการคว่ำบาตรเพิ่มเติมต่อการส่งออกน้ำมันและภาคการธนาคารของอิหร่านนับตั้งแต่ปี 2555 ซึ่งเป็นสิ่งที่บั่นทอนเศรษฐกิจของอิหร่านอย่างมาก
ทางด้านอิหร่านก็เรียกร้องให้ P5+1 ยอมรับสิทธิของอิหร่านในการที่จะเสริมสมรรถนะแร่ยูเรเนียม แต่ชาติมหาอำนาจไม่ได้ให้ความสนใจในประเด็นดังกล่าว เนื่องจากยังไม่แน่ใจอย่างเต็มที่ว่าอิหร่านไม่ได้กำลังดำเนินการเพื่อผลิตอาวุธนิวเคลียร์ และความต้องการที่ไม่สอดรับกันนี้เองที่ส่งผลให้การหารือประสบความล้มเหลวมาหลายต่อหลายครั้ง รวมถึงครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 7-9 พ.ย.ที่ผ่านมา
สัญญาณบวกก่อนการประชุม
นายยูกิยะ อามาโนะ ผู้อำนวยการ IAEA กล่าวในสัปดาห์ที่ผ่านมาว่า ขณะที่กิจกรรมด้านนิวเคลียร์ของอิหร่าน ซึ่งถูกประณามภายใต้มติของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาตินั้น พบว่า ไม่ได้มีปริมาณเพิ่มขึ้นแต่อย่างใด
รายงานล่าสุดของ IAEA เปิดเผยว่า อิหร่านไม่ได้ดำเนินการเพิ่มศักยภาพการเสริมสมรรถนะยูเรเนียมในขณะนี้ โดยได้สั่งระงับการติดตั้งอุปกรณ์เสริมสมรรถนะยูเรเนียมขั้นสูงเพิ่มเติมเป็นที่เรียบร้อยนับตั้งแต่ช่วงปลายเดือนส.ค.ที่ผ่านมา
นอกจากนี้ ยังมีสัญญาณบวกจากการที่อิหร่านได้บรรลุข้อตกลงกับ IAEA เมื่อวันที่ 11 พ.ย.ว่าด้วยกรอบการทำงาน ซึ่งจะขจัดความวิตกเกี่ยวกับกิจกรรมนิวเคลียร์ของอิหร่าน โดยอิหร่านยินยอมให้เจ้าหน้าที่เข้าไปตรวจสอบสถานที่ดำเนินกิจกรรมนิวเคลียร์ต่างๆ เช่น เตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ที่เมืองอารัคและเหมืองยูเรเนียมกาชิน
แม้นักวิเคราะห์รายหนึ่งได้ตั้งข้อสังเกตว่า ข้อตกลงดังกล่าวอนุญาตให้เจ้าหน้าที่เข้าไปตรวจสอบโรงงานนิวเคลียร์ของอิหร่านได้อย่างจำกัด โดยกล่าวว่าในข้อตกลงไม่มีการระบุถึงการเข้าไปในฐานทัพพาร์ชินของอิหร่าน ซึ่ง IAEA ได้เคยเรียกร้องมาหลายครั้งแล้ว แต่การทำข้อตกลงระหว่างอิหร่านและ IAEA ครั้งล่าสุดก็ยังนับเป็นความคืบหน้าที่ดี
ทางด้านประธานาธิบดีบารัค โอบามาของสหรัฐ ก็ได้เรียกร้องให้วุฒิสมาชิกสหรัฐเลื่อนการลงมติในยกระดับมาตรการคว่ำบาตรที่เข้มงวดขึ้น เนื่องจากรัฐบาลสหรัฐต้องการให้เวลาแก่คณะผู้เจรจามากขึ้น และเปิดโอกาสให้มีการบรรลุข้อตกลงว่าด้วยโครงการนิวเคลียร์ของอิหร่าน โดยหวั่นเกรงว่าหากสหรัฐเพิ่มมาตรการคว่ำบาตรต่ออิหร่าน จะเป็นการเพิ่มความเสี่ยงที่จะทำลายการเจรจา ซึ่งกำลังเดินหน้าไปด้วยดี
ก่อนหน้านี้ การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองครั้งสำคัญที่เกิดขึ้นในอิหร่าน ก็นับเป็นสัญญาณที่ดีอีกประการหนึ่งต่อการเจรจาเพื่อบรรลุข้อตกลงเกี่ยวกับแผนการนิวเคลียร์ของอิหร่าน เนื่องจากนายฮัสซัน โรฮานี ซึ่งได้รับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีของอิหร่านเมื่อเดือนมิ.ย.ที่ผ่านมานั้น มีท่าทีที่ประนีประนอมกับนานาประเทศมากกว่าอดีตประธานาธิบดีมาห์มุด อาห์มาดิเนจาด ซึ่งมีจุดยืนที่แข็งกร้าวและไม่ยอมอ่อนข้อให้กับชาติตะวันตก
เหตุการณ์สำคัญที่เน้นย้ำท่าทีของผู้นำคนใหม่ของอิหร่านก็คือการที่ปธน.โรฮานีได้สนทนาทางโทรศัพท์กับปธน.โอบามาของสหรัฐ ในระหว่างที่ผู้นำอิหร่านเดินทางเยือนสหรัฐเพื่อเข้าร่วมการประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติที่มหานครนิวยอร์กในช่วงเดือนก.ย.ปีนี้ โดยเหตุการณ์ดังกล่าวนับเป็นครั้งประวัติศาสตร์และเป็นครั้งแรกในรอบ 34 ปีที่ผู้นำของอิหร่านและสหรัฐได้ติดต่อสนทนากัน หลังจากที่มีการตัดความสัมพันธ์กันมานั้บตั้งแต่ปี 2522
ความชัดเจนที่ยังเลือนลางปนความหวัง
ถึงแม้การประชุมในวันที่ 20 พ.ย.จะนับเป็นการหารือครั้งที่ 2 ในรอบ 1 เดือนและมีความคืบหน้าที่ดี แต่ก็ยังคงมีความไม่มีความแน่ชัดว่าที่ประชุมจะสามารถบรรลุข้อตกลงที่สร้างความพอใจแก่ทุกฝ่ายได้หรือไม่
ขณะที่บรรดาผู้เชี่ยวชาญมองว่าการประชุมครั้งนี้มีแนวโน้มจะมุ่งเน้นที่รายละเอียดต่างๆ เช่น ข้อเรียกร้องที่จะไม่ให้ข้อตกลงใดๆครอบคลุมถึงสิ่งที่อิหร่านระบุว่าเป็นสิทธิของอิหร่านในการเสริมสมรรถนะยูเรเนียม นอกจากนี้ ยังอาจจะมีการหารือถึงข้อเรียกร้องให้อิหร่านยุติการดำเนินโครงการเตาปฏิกรณ์ที่เมืองอารัค ทางตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศ
ผู้เชี่ยวชาญบางรายได้แสดงมุมมองในเชิงบวกเกี่ยวกับข้อตกลงกับอิหร่าน แม้ว่าเกิดปัญหามากมายในการหารือหลายครั้งที่ผ่านมา โดยในการประชุมก่อนหน้านี้ ชาติมหาอำนาจได้พยายามจะสกัดแผนการนิวเคลียร์ของอิหร่าน เพื่อแลกกับการผ่อนคลายชั่วคราวสำหรับมาตรการคว่ำบาตรต่ออิหร่าน
นักวิเคราะห์ประเมินว่า หากมีการประนีประนอม อิหร่านอาจจะต้องจำกัดการเสริมสมรรถนะยูเรเนียมไว้ที่ 5%, จำกัดจำนวนเครื่องเหวี่ยงแยกยูเรนียม และดำเนินกิจกรรมด้านนิวเคลียร์ให้มีความโปร่งใสมากขึ้น ขณะที่ชาติตะวันตกจะต้องตระหนักถึงสิ่งที่อิหร่านเชื่อว่าเป็นสิทธิของอิหร่านในการเสริมสมรรถนะยูเรเนียมสู่ระดับหนึ่ง และบางทีอาจจะมีการผ่อนคลายมาตรการคว่ำบาตรมากขึ้น
ทั่วโลกต่างก็หวังว่า การเจรจาระหว่างชาติตะวันตกและอิหร่านว่าด้วยปัญหานิวเคลียร์ในครั้งนี้จะมีความคืบหน้าขึ้นบ้าง ถึงแม้ว่าเพียงน้อยนิด ก็จะถือว่าแนวทางการเจรจาได้ประสบความสำเร็จอยู่บ้าง และทุกคนย่อมจะตระหนักดีว่าความขัดแย้งประเด็นนิวเคลียร์ของอิหร่านไม่ใช่เพิ่งจะเกิดขึ้น หากแต่ยืดเยื้อมาเป็นเวลานานแล้ว จึงเป็นไปไม่ได้ที่จะยุติลงอย่างฉับพลันภายในการหารือครั้งใดครั้งหนึ่ง แต่ก็หวังว่าแต่ละฝ่ายที่เกี่ยวข้องจะโอนอ่อนท่าทีต่อกันมากขึ้น เพื่อประโยชน์ร่วมกันของทุกฝ่าย