In Focusเกาะติดข้อตกลงนิวเคลียร์อิหร่าน-P5+1 เปิดประตูเศรษฐกิจสู่ความหวังครั้งใหม่?

ข่าวต่างประเทศ Wednesday November 27, 2013 13:45 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

วันที่ 24 พฤศจิกายน 2556 อิหร่าน และกลุ่มประเทศ P5+1 ซึ่งได้แก่ อังกฤษ จีน ฝรั่งเศส รัสเซีย สหรัฐ และเยอรมนีได้บรรลุข้อตกลงขั้นแรก หลังจากที่ได้ประชุมร่วมกันอย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลา 5 วันในกรุงเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เพื่อแลกกับการผ่อนคลายมาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจ ซึ่งมีมูลค่ารวมถึง 7 พันล้านดอลลาร์เป็นระยะเวลา 6 เดือน นับเป็นข้อตกลงร่วมกันครั้งแรก ตั้งแต่มีการตรวจสอบโครงการนิวเคลียร์ของอิหร่านอย่างละเอียดในปี 2546 และยังเปรียบเสมือนจุดเริ่มต้นของการยุติการคว่ำบาตรในอิหร่านด้วยเช่นกัน

กระทรวงการคลังสหรัฐประเมินว่า นับตั้งแต่ปี 2553 ที่สหรัฐ และสหภาพยุโรป หรืออียู เริ่มกำหนดบทลงโทษอย่างเข้มงวดในการคว่ำบาตรด้านพลังงาน ท่าเรือ ประกันภัย การขนส่ง การธนาคาร และการคว่ำบาตรอื่นๆที่เกี่ยวข้องกับอิหร่าน ทำให้อิหร่านสูญเสียรายได้ไปถึง 1.2 แสนล้านดอลลาร์ และส่งผลให้อิหร่านมีอัตราการว่างงานสูงกว่า 24% ในปัจจุบัน ขณะที่การค้าเกือบทุกประเภทระหว่างสหรัฐกับอิหร่านถูกสั่งห้ามมาเป็นเวลานานหลาย 10 ปีแล้ว โดยไม่นับรวมสินค้าประเภทอาหาร และอุปกรณ์ทางการแพทย์ ปัจจุบัน สหรัฐได้ใช้ข้อจำกัดการนำเข้าสินค้ากับประเทศอื่นๆที่ทำการค้ากับประเทศที่เป็นสาธารณรัฐอิสลามด้วย การค้าระหว่างอิหร่าน กับสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ดำดิ่งลงถึง 83% คิดเป็นมูลค่า 4 พันล้านดอลลาร์ ภายหลังการคว่ำบาตร

ภายใต้มาตรการคว่ำบาตรของสหรัฐที่มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 6 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ประเทศผู้ซื้อน้ำมันดิบของอิหร่านที่ยังคงเหลืออยู่อีก 6 ประเทศ ได้แก่ จีน อินเดีย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ตุรกี และไต้หวัน สามารถซื้อน้ำมันของอิหร่านได้ด้วยสกุลเงินของพวกเขาเท่านั้น ไม่สามารถใช้สกุลเงินดอลลาร์ หรือยูโรซื้อได้ และจะต้องชำระเงินเข้าบัญชีธนาคารที่อิหร่านใช้ในการซื้อสินค้าท้องถิ่นจากคู่ค้าของอิหร่านเท่านั้น ทั้งนี้ ก่อนการคว่ำบาตรในปี 2555 อิหร่านมีลูกค้าน้ำมันถึง 23 ประเทศ และการส่งออกน้ำมันดิบของอิหร่านร่วงลงจาก 2 ปีก่อนถึง 60% ซึ่งเป็นผลมาจากการคว่ำบาตรของสหรัฐ และยุโรปด้วย

เงื่อนไขภายใต้ข้อตกลงครั้งใหญ่

ข้อตกลงดังกล่าวกำหนดให้อิหร่านจำกัดกิจกรรมต่างๆที่เกี่ยวข้องกับนิวเคลียร์ และยินยอมให้มีการตรวจสอบโรงงานนิวเคลียร์มากขึ้น

ทำเนียบขาวประกาศว่า ภายใต้ข้อตกลงในขั้นแรก อิหร่านจะต้องร่วมมือกับคณะผู้ตรวจสอบของสหประชาชาติ หรือยูเอ็น ดำเนินการกำจัดแร่อยู่เรเนียมที่มีความบริสุทธิ์ 20% ที่อยู่ในคลังของอิหร่าน โดยใช้วิธีเจือจาง หรือแปลงสภาพ ซึ่งเป็นไปตามสนธิสัญญาไม่แพร่ขยายอาวุธนิวเคลียร์ที่อิหร่านได้ร่วมลงนามไว้ โดยมีใจความระบุว่า อิหร่านจะต้องไม่สร้างอาวุธนิวเคลียร์ หรือสนับสนุนให้ประเทศอื่นครอบครองอาวุธนิวเคลียร์ ทำให้อิหร่านสามารถเสริมสมรรถนะแร่ยูเรเนียมได้ไม่เกิน 5% ซึ่งระดับดังกล่าวเป็นระดับที่เพียงพอต่อการใช้เป็นเชื้อเพลิงนิวเคลียร์ได้ รวมถึงระงับการติดตั้ง และไม่เปิดเดินเครื่องเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ “อารัค" ซึ่งเป็นประเด็นสำคัญของการประชุมในครั้งนี้ เพราะหากอิหร่านเปิดเดินเครื่องเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์น้ำมวลหนัก อิหร่านจะสามารถผลิตกัมมันตภาพรังสีพลูโตเนียมที่ใช้ในการผลิตอาวุธนิวเคลียร์ได้

ขณะที่ข้อตกลงในครั้งนี้ยังไม่มีผลครอบคลุมไปถึงการตรวจสอบฐานที่ตั้งกองกำลังทหารที่อยู่ทางตอนกลางของกรุงเตหะราน ซึ่งอิหร่านถูกกล่าวหาว่าเคยทดสอบยิงระเบิดนิวเคลียร์ในสถานที่ดังกล่าว ทั้งนี้ได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการผู้ตรวจสอบระดับนานาชาติขึ้น เพื่อแก้ปัญหาที่เกี่ยวกับโครงการนิวเคลียร์ของอิหร่านทั้งในอดีต และปัจจุบันได้สะดวกยิ่งขึ้น

นอกจากนี้ ข้อตกลงดังกล่าวกำหนดให้อิหร่านชี้แจงเรื่องข้อกล่าวหากองกำลังอาวุธนิวเคลียร์ เพื่อให้เกิดความกระจ่าง ซึ่งเป็นประเด็นที่คณะผู้ตรวจสอบของสำนักงานพลังงานปรมาณูสากล (IAEA) เพ่งเล็งอยู่ หลังจากที่ 2 ปีก่อน IAEA ได้เปิดเผยรายชื่อบุคคล และสถานที่ที่อาจมีส่วนเกี่ยวข้องกับอาวุธปรมาณู

ข้อแลกเปลี่ยนภายหลังการบรรลุข้อตกลง

รัฐบาลสหรัฐระบุว่า อิหร่านจะได้รับการผ่อนคลายมาตรการคว่ำบาตรชั่วคราวระยะเวลา 6 เดือนเป็นข้อแลกเปลี่ยน ซึ่งครอบคลุมถึงการผ่อนปรนการคว่ำบาตรในด้านปิโตรเคมี อะไหล่เครื่องบิน ยานยนต์ ทอง โลหะมีค่า การค้าน้ำมัน และประกันภัยสำหรับการขนส่งน้ำมัน ซึ่งช่วยให้อิหร่านสามารถส่งออกสินค้าได้สะดวกขึ้น ซึ่งรวมถึงสินค้าประเภทอาหาร และยารักษาโรคด้วย นอกจากนี้ อิหร่านจะสามารถส่งออกน้ำมันได้ในปริมาณปกติ โดยไม่ต้องปรับลดปริมาณ ข้อจำกัดบางประการเกี่ยวกับการซื้อ-ขายทองจะถูกตัดออกไป อิหร่านจะได้รับอนุญาตให้ซื้อ-ขายโลหะมีค่าได้ ซึ่งรวมถึงทองด้วย แต่ขณะเดียวกัน อิหร่านก็จะถูกสั่งห้ามไม่ให้รับโลหะมีค่า หรือทองแทนการชำระเงินสำหรับการซื้อ-ขายน้ำมัน หรือธุรกรรมอื่นๆที่เกี่ยวข้องกับมาตรการคว่ำบาตร

ดังนั้น บริษัทผู้ผลิตรถยนต์สัญชาติฝรั่งเศสอย่าง PSA Peugeot Citroën (UG) และ Renault SA (RNO) รวมถึงบริษัทอื่นๆที่เกี่ยวข้องกับการขนส่งน้ำมันของอิหร่านจะได้รับผลประโยชน์จากการผ่อนคลายมาตรการคว่ำบาตรระยะเวลา 6 เดือน ขณะที่บริษัทสัญชาติอเมริกันจะไม่มีส่วนได้ส่วนเสีย เนื่องจากการค้าส่วนใหญ่ระหว่างสหรัฐ กับอิหร่านที่นอกเหนือจากสินค้าประเภทอาหาร และยารักษาโรคถูกสั่งห้ามมาเป็นเวลาหลายสิบปีแล้ว นอกจากนี้ผู้ค้าทองในตุรกี โรงกลั่นน้ำมันในอินเดีย และบริษัทประกันภัยการขนส่งสินค้าในลอนดอนก็จะได้รับผลประโยชน์จาการผ่อนคลายมาตรการคว่ำบาตรด้วยเช่นกัน

อิหร่านจะได้รับสินทรัพย์ที่ถูกยึดไว้คืนเป็นมูลค่า 4.2 พันล้านดอลลาร์ ซึ่งจะทำให้อิหร่านได้รับรายได้มูลค่า 1.5 พันล้านดอลลาร์ โดยแบ่งเป็นรายได้จากการส่งออกปิโตรเคมีประมาณ 1 พันล้านดอลลาร์ และ 500 ล้านดอลลาร์จากการส่งออกยานยนต์ ข้อมูลศุลกากรของอิหร่านชี้ว่า อิหร่านมียอดส่งออกรถยนต์มูลค่า 519 ล้านดอลลาร์ในช่วงปีงบประมาณที่สิ้นสุดเดือนมีนาคม 2555 ก่อนที่จะถูกคว่ำบาตร

เจ้าหน้าที่สหรัฐระบุว่า ข้อตกลงฉบับนี้จะไม่มีการผ่อนคลายมาตรการคว่ำบาตรด้านการเงินที่มีผลกับธนาคารส่วนใหญ่ของอิหร่าน และทำให้รัฐบาลอิหร่านแทบจะไม่สามารถเข้าถึงระบบการเงินทั่วโลกได้

ก่อนที่สหรัฐจะสั่งห้ามไม่ให้ใช้ทองคำเป็นเครื่องแลกเปลี่ยนซื้อ-ขายกับอิหร่านเมื่อเดือนกรกฏาคมที่ผ่านมา การนำเข้าโลหะมีค่าในอิหร่านพุ่งขึ้นสูงกว่า 1.5 พันล้านดอลลาร์ต่อเดือนในช่วงกลางปี 2555 เนื่องจากชาวอิหร่านกว้านซื้อทองเก็บไว้เพื่อป้องกันความเสี่ยงจากภาวะเงินเฟ้อ และสกุลเงินเรียลของอิหร่านที่อ่อนค่าลง

ข้อตกลงดังกล่าวจะมีการจัดสรรค่าเล่าเรียนมูลค่า 400 ล้านดอลลาร์ให้แก่นักเรียนสัญชาติอิหร่านที่ศึกษาอยู่ต่างประเทศตลอดระยะเวลาข้อตกลง 6 เดือน และผ่อนคลายการคว่ำบาตรด้านการบินพลเรือนของอิหร่าน รวมถึงการให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมที่ไม่ถูกสั่งห้ามภายใต้มาตรการคว่ำบาตรต่างๆ

ทว่า ข้อตกลงดังกล่าวอาจสร้างแรงกดดันให้กับราคาน้ำมันดิบเบรนท์ เพราะอิหร่านจะสามารถเพิ่มปริมาณการส่งออกน้ำมันดิบเบรนท์ได้อีก 300,000 บาร์เรลต่อวัน ตามข้อมูลจากสำนักงานพลังงานสากลเปิดเผยว่า ในเดือนตุลาคมที่ผ่านมา อิหร่านขายน้ำมันดิบเบรนท์ได้ 715,000 บาร์เรลต่อวัน ทั้งนี้ สำนักงานพลังงานสากล (IEA) เปิดเผยว่า ในช่วง 9 เดือนแรกของปีนี้อิหร่านส่งออกน้ำมันเฉลี่ย 1.1 ล้านบาร์เรลต่อวัน ภายใต้การผ่อนคลายมาตรการคว่ำบาตร อิหร่านจะสามารถส่งออกน้ำมันดิบได้ประมาณ 1 ล้านบาร์เรลต่อวัน เนื่องจากมาตรการคว่ำบาตรยังคงมีผลบังคับใช้กับการส่งออกน้ำมันของอิหร่านอยู่

ความคิดเห็นจากนานาชาติ

เจ้าหน้าที่บางส่วนในสภาคองเกรส และอิสราเอลคาดการณ์ว่า อิหร่านจะได้รับผลประโยชน์จากการผ่อนคลายการคว่ำบาตรอย่างน้อย 2 หมื่นล้านดอลลาร์ ทว่า เจ้าหน้าที่สหรัฐกลับออกมาปฏิเสธคาดการณ์ดังกล่าว และระบุว่า ข้อตกลงดังกล่าวจะไม่ผ่อนปรนการคว่ำบาตรด้านยอดขายน้ำมัน และการธนาคาร ขณะที่รัฐบาลสหรัฐคาดการณ์ว่า กิจการน้ำมันดิบของอิหร่านจะยังคงขาดทุนต่อเนื่องเป็นมูลค่า 4 พันล้านดอลลาร์ต่อเดือน นอกจากนี้ กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ได้คาดการณ์ว่า เศรษฐกิจของอิหร่านจะหดตัว 1.5% ในปีนี้ หลังจากที่ทรุดตัวลง 1.9% ในปี 2555 และจะขยายตัว 1.3% ในปี 2557

นายจาวาด ซาริฟ รัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศของอิหร่าน ระบุว่า ข้อตกลงดังกล่าวน่าจะทำให้ภัยสงครามที่เป็นชนวนฉุดรั้งประเทศสงบลงได้ ขณะที่ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ก็เห็นด้วยกับข้อตกลงนี้ โดยระบุว่าข้อตกลงดังกล่าวถือเป็นก้าวแรกสู่การทำข้อตกลงถาวร

ประธานาธิบดีบารัค โอบามา ระบุว่า “หากในช่วงระยะเวลา 6 เดือน อิหร่านไม่รักษาสัญญาอย่างเต็มรูปแบบ เราจะยกเลิกการคว่ำบาตร และเริ่มเดินหน้ากดดันทันที"

ทางฝั่งอิสราเอล และซาอุดิอาระเบีย ซึ่งเป็นประเทศพันธมิตรกับสหรัฐมาอย่างยาวนาน กลับออกมาคัดค้านข้อตกลงทุกข้อที่จะทำให้อิหร่านสามารถเก็บและครอบครองเทคโนโลยีนิวเคลียร์ไว้ได้

ยิ่งไปกว่านั้น อิสราเอลได้ส่งสัญญาณแสดงความพร้อมที่จะใช้กองกำลังทหารของตนเองปฏิบัติการต่อต้านอิหร่านให้หยุดเดินหน้าโครงการนิวเคลียร์ ทางฝั่งซาอุดิอาระเบียก็กำลังทำสงครามตัวแทนกับอิหร่านในซีเรีย ซึ่งเป็นการสนับสนุนการต่อสู้กับกลุ่มกบฏเพื่อขับไล่บาชาร์ อัล-อัสซาด ซึ่งเป็นชาวอิหร่านเช่นกัน

นายเบนจามิน เนทันยาฮู นายกรัฐมนตรีอิสราเอล แสดงความไม่พอใจกับการบรรลุข้อตกลงระหว่างกลุ่มประเทศ P5+1 กับอิหร่าน โดยกล่าวว่า “การบรรลุข้อตกลงดังกล่าวไม่ใช่เหตุการณ์สำคัญทางประวัติศาสตร์ หากแต่เป็นความผิดพลาดครั้งใหญ่ในประวัติศาสตร์ นับแต่นี้ไป โลกจะยิ่งเป็นสถานที่ที่อันตรายมากยิ่งขึ้น และอิสราเอลจะไม่มีส่วนผูกมัดใดๆกับข้อตกลงในครั้งนี้ ซึ่งเป็นข้อตกลงที่น่าผิดหวังจริงๆ"

ขณะที่เจ้าหน้าที่อิสราเอล และเจ้าหน้าที่สหรัฐบางรายระบุว่า การคว่ำบาตรควรจะเป็นไปอย่างเข้มงวด เพื่อเป็นการกดดันอิหร่าน ไม่ควรมีการผ่อนปรนแต่อย่างใด

การผ่อนคลายความตึงเครียดระหว่างสหรัฐ กับอิหร่าน ซึ่งเป็นแหล่งน้ำมันสำรองรายใหญ่ที่สุดเป็นอันดับที่ 4 ของโลก อาจเป็นสัญญาณที่ดีสำหรับตะวันออกกลาง

ตลอดเวลาที่ผ่านมา อิหร่านยังคงย้ำเสมอว่า การเสริมสมรรถนะแร่ยูเรเนียม และการสร้างเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ของอิหร่านนั้นเพียงเพื่อตอบสนองความต้องการด้านพลังงานนิวเคลียร์พลเรือนเท่านั้น โรงไฟฟ้านิวเคลียร์จะใช้แร่ยูเรเนียมที่เสริมสมรรถนะในระดับ 5% ซึ่งถือเป็นเชื้อเพลิงที่โรงไฟฟ้าต้องใช้ในการผลิตกระแสไฟฟ้า

โดยทำเนียบขาวออกแถลงการณ์ว่า การเจรจาร่วมระหว่างกลุ่มประเทศ P5+1 กับอิหร่านมีการลงมติว่าจะไม่กำหนดการมาตรการคว่ำบาตรใหม่ใดๆที่เกี่ยวกับนิวเคลียร์เป็นระยะเวลา 6 เดือน หากอิหร่านยอมปฏิบัติตามคำมั่นสัญญาภายใต้ข้อตกลงดังกล่าว ขณะนี้ทั้ง 2 ฝ่ายตั้งเป้าที่จะสรุปข้อตกลงอย่างครอบคลุมให้ได้ภายใน 6 เดือน

ขณะที่นานาชาติต่างให้ความสนใจกับสถานการณ์ดังกล่าวว่าจะเดินหน้าไปในทิศทางใดภายใต้ข้อตกลงชั่วคราวอายุสัญญา 6 เดือนฉบับนี้ และอำนาจนิวเคลียร์ในกำมือของอิหร่าน จะสิ้นสุดลงจริงหรือไม่ คงจะต้องติดตามกันต่อไป


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ