In Focusบุคคลเด่นผู้สร้างกระแสโลกในปี 2556

ข่าวการเมือง Wednesday December 18, 2013 13:36 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ตลอดปี 2556 มีบุคคลมากมายจากแวดวงต่างๆ ที่ก่อให้เกิดกระแสความสนใจไปทั่วโลก เพื่อเป็นการส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ เราจึงขอนำเสนอเรื่องราวของบุคคลดังบางส่วนในรอบปีที่ผ่านมา

“เอ็ดเวิร์ด สโนว์เดน" ผู้เปิดโปงความลับของสหรัฐ

ย้อนไปเมื่อช่วงกลางปี เอ็ดเวิร์ด สโนว์เดน อดีตพนักงานหน่วยข่าวกรองกลางสหรัฐ (CIA) และอดีตพนักงานสัญญาจ้างของสภาความมั่นคงแห่งชาติสหรัฐ (NSA) วัย 30 ปี ได้ออกมาเปิดเผยให้ทั่วโลกรับรู้เกี่ยวกับโครงการ “PRISM" ซึ่งเป็นโครงการสอดแนมระดับพระกาฬของสหรัฐและเป็นความลับสุดยอด โครงการนี้เปิดทางให้สหรัฐสามารถดักฟังข้อมูลผ่านทางโทรศัพท์และอีเมลได้จากทั่วโลก รวมถึงสอดแนมองค์กรของประเทศต่างๆ การแฉข้อมูลนี้ก่อให้เกิดกระแสความกังวลเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนและความเป็นส่วนตัวไปทั่วโลก ยิ่งไปกว่านั้นยังสั่นคลอนความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐกับประเทศที่ตกเป็นเหยื่อสอดแนมด้วย

หลังการเปิดโปงครั้งมโหฬาร สโนว์เดนได้ลี้ภัยชั่วคราวอยู่ในรัสเซียและเดินหน้าแฉข้อมูลต่างๆออกมาอย่างไม่ขาดสาย รวมถึงเปิดโปงโครงการสอดแนมของสหรัฐอีกโครงการหนึ่งซึ่งใช้ชื่อว่า “Stateroom" ซึ่งลอบดักสัญญาณโทรคมนาคมต่างๆ ผ่านอุปกรณ์ในหน่วยงานทางการทูตของสหรัฐ อังกฤษ ออสเตรเลีย และแคนาดา ประจำประเทศต่างๆ รวมถึงสถานทูตในกรุงจาการ์ตา ฮานอย กัวลาลัมเปอร์ และกรุงเทพฯ หลังมีข่าวนี้ออกไป หลายประเทศได้ออกมาแสดงความไม่พอใจ โดยรมว.ต่างประเทศอินโดนีเซียเตือนว่าการดักฟังข้อมูลอาจกระทบความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศ ขณะที่กระทรวงต่างประเทศมาเลเซียได้ยื่นจดหมายคัดค้านการสอดแนมให้แก่เจ้าหน้าที่ทูตออสเตรเลียและสหรัฐประจำกัวลาลัมเปอร์ พร้อมเผยว่าการสอดแนมไม่ใช่สิ่งที่พันธมิตรกระทำต่อกัน และเตือนว่า ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศอาจได้รับผลกระทบไปด้วย

ล่าสุดเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา นายริชาร์ด เลดเจตต์ หัวหน้าหน่วยเฉพาะกิจเพื่อประเมินผลกระทบจากการที่นายสโนว์เดนนำข้อมูลลับของสหรัฐไปเปิดเผยต่อสาธารณชน ได้ให้สัมภาษณ์กับรายการ “60 Minutes" ทางสถานีโทรทัศน์ซีบีเอสว่า นายสโนว์เดนน่าจะมีข้อมูลลับสุดยอดของสหรัฐอยู่ในมือราว 1.5 ล้านชิ้น ซึ่งหากข้อมูลเหล่านี้หลุดออกไปอาจเป็นอันตรายต่อความมั่นคงของประเทศได้ นายเลดเจตต์จึงเสนอให้สหรัฐนิรโทษกรรมนักแฉรายนี้ เพื่อความปลอดภัยของข้อมูลลับเหล่านั้น อย่างไรก็ดี พลเอก คีธ อเล็กซานเดอร์ ผู้อำนวยการ NSA ซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาของเลดเจตต์ ยืนยันว่าไม่มีทางนิรโทษกรรมให้นายสโนว์เดนเด็ดขาด เนื่องจากสิ่งที่นายสโนว์เดนทำนั้นส่งผลเสียหายร้ายแรงต่อประเทศชาติ เมื่อโอกาสนิรโทษกรรมหมดลง สโนว์เดนจึงส่งจดหมายขอลี้ภัยในบราซิล โดยระบุว่า ตราบใดที่เขายังไม่ได้ลี้ภัยถาวร สหรัฐจะยังคงแทรกแซงการทำงาน (การแฉ) ของเขาต่อไป ดังนั้นหากทางการบราซิลยอมให้ลี้ภัย เขาจะช่วยตรวจสอบโครงการสอดแนมของสหรัฐ ซึ่งบราซิลตกเป็นเหยื่อของโครงการนี้ด้วยเช่นกัน

บางคนมองว่ สโนว์เดนเป็นวีรบุรุษที่ทำให้ชาวโลกได้รับรู้ด้านมืดของรัฐบาลสหรัฐ บ้างก็มองว่าเขาเป็นคนขายชาติที่นำความลับของบ้านเกิดเมืองนอนมาเปิดโปง ไม่ว่าเขาจะเป็นพระเอกหรือผู้ร้าย ที่แน่ๆคือเขาเป็นคนที่ทำให้โลกได้ตระหนักว่า “ความลับไม่มีในโลก"

“เจเน็ต เยลเลน" ว่าที่ประธานหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์ 100 ปีของเฟด

เมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ประธานาธิบดีบารัค โอบามา แห่งสหรัฐ ได้ประกาศแต่งตั้งนางเจเน็ต เยลเลน รองประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ขึ้นเป็นประธานเฟดคนใหม่ต่อจากนายเบน เบอร์นันเก้ ประธานเฟดคนปัจจุบันที่จะหมดวาระการดำรงตำแหน่งในวันที่ 31 มกราคมปีหน้า ซึ่งหากวุฒิสภาสหรัฐให้ความเห็นชอบแล้ว นางเยลเลนจะเป็นสตรีคนแรกในประวัติศาสตร์ที่ได้ดำรงตำแหน่งประธานเฟด

นางเยลเลนมีประสบการณ์การทำงานร่วมกับเฟดอย่างโชกโชน เธอเคยเป็นที่ปรึกษาให้กับคณะกรรมการเฟดในช่วงปี 2520-2521 โดยเฉพาะในเรื่องเสถียรภาพของอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ จากนั้นในเดือนกุมภาพันธ์ปี 2537 ประธานาธิบดีบิล คลินตัน ได้เสนอชื่อเธอเป็นคณะกรรมการเฟด และแต่งตั้งเธอเป็นประธานสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจในปี 2540 จากนั้นในช่วงในปี 2547-2553 เธอเข้าดำรงตำแหน่งผู้ว่าการเฟดสาขาซานฟรานซิสโก ก่อนจะรับตำแหน่งรองประธานเฟดตั้งแต่เดือนตุลาคมปี 2553 จนถึงปัจจุบัน นอกจากนี้ นางเยลเลนได้ชื่อว่าเป็นผู้ที่สนับสนุนแนวทางการทำงานของนายเบน เบอร์นันเก้ ที่พยายามใช้มาตรการเชิงรุกใหม่ๆ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งรวมถึงการตรึงอัตราดอกเบี้ยต่ำและการเข้าซื้อพันธบัตรปริมาณมหาศาล นอกจากนี้ เธอยังมีมุมมองทางเศรษฐกิจที่เข้ากันได้ดีกับแนวทางของรัฐบาลโอบามา โดยเฉพาะที่เธอมองว่าอัตราว่างงานในระดับสูงเป็นภัยคุกคามต่อเศรษฐกิจมากกว่าอัตราเงินเฟ้อ เธอจึงสนับสนุนการลดอัตราว่างงานด้วยการตรึงดอกเบี้ยที่ระดับต่ำ แม้ว่าจะทำให้อัตราเงินเฟ้อสูงขึ้นก็ตาม

หากเฟดยังไม่ตัดสินใจเรื่องการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) ในการประชุมวันนี้ สิ่งที่นางเยลเลนต้องเผชิญเมื่อเข้ารับตำแหน่งประธานเฟดคือ การพยายามลดขนาด QE โดยไม่ให้กระทบต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจและความเชื่อมั่นของนักลงทุนในตลาดการเงิน โดยต้องดูทิศทางตลาดให้ดีและส่งสัญญาณให้ถูกเวลาเพื่อบรรเทาแรงต้านให้ได้มากที่สุด

เจเน็ต เยลเลน จะทำได้ดีแค่ไหนในตำแหน่งผู้ทรงอิทธิพลมากที่สุดเป็นอันดับ 2 ของประเทศรองจากตำแหน่งประธานาธิบดี คงต้องติดตามกันต่อไป

“เนลสัน แมนเดลา" นักสู้ผู้ต่อต้านการเหยียดสีผิว

ในเดือนสุดท้ายของปี 2556 โลกได้สูญเสียนักต่อสู้ด้านมนุษยชนที่ยิ่งใหญ่ที่สุดคนหนึ่งไปอย่างไม่มีวันกลับ เขาคนนั้นคือ เนลสัน แมนเดลา อดีตประธานาธิบดีผิวสีคนแรกในระบอบประชาธิปไตยของแอฟริกาใต้

บทบาทด้านมนุษยชนของแมนเดลาเริ่มขึ้นในปี 2485 โดยเขาได้เข้าร่วมสมัชชาแห่งชาติแอฟริกัน (ANC) ซึ่งเป็นกลุ่มที่ใช้สันติวิธีเพื่อต่อต้านรัฐบาลที่สนับสนุนนโยบายการเหยียดผิว ในปี 2499 แมนเดลาและเพื่อนร่วมขบวนการกว่า 150 คนถูกแจ้งข้อหากบฏ แต่อัยการสั่งไม่ฟ้อง ต่อมาได้มีการออกกฎหมายฉบับใหม่ซึ่งจำกัดเขตที่อยู่อาศัยและทำมาหากินของคนผิวดำ ทำให้กระแสต่อต้านการเหยียดผิวขยายตัวไปทั่วแอฟริกาใต้ และทวีความรุนแรงจนถึงขีดสุดเมื่อตำรวจได้สังหารหมู่คนผิวดำ 69 คนในเมืองชาร์ปวิลล์ในปี 2503 ขณะที่กลุ่ม ANC ถูกประกาศให้เป็นกลุ่มเถื่อน โดยกลุ่ม ANC คิดว่าการใช้ความรุนแรงเป็นเพียงวิธีเดียวที่จะบรรลุเป้าหมายได้ จึงตัดสินใจจัดตั้งกองกำลังติดอาวุธเพื่อลอบวางระเบิดสถานที่สำคัญของรัฐบาลหลายแห่ง ในปี 2507 แมนเดลาพร้อมผู้นำกลุ่ม ANC อีกหลายคน ถูกพิพากษาจำคุกตลอดชีวิตในข้อหาก่อวินาศกรรมและพยายามโค่นล้มรัฐบาลด้วยวิธีการรุนแรง

ในปี 2523 โอลิเวอร์ แทมโบ สหายของแมนเดลาซึ่งลี้ภัยในต่างประเทศ ได้เริ่มรณรงค์ในระดับสากลเพื่อเรียกร้องให้ปล่อยตัวแมนเดลา กระแสเรียกร้องนี้ทำให้บรรดาผู้นำโลกเพิ่มมาตรการคว่ำบาตรต่อระบอบเหยียดผิวของแอฟริกาใต้ จนในที่สุดประธานาธิบดี เอฟ ดับเบิลยู เดอ เคลิร์ก ก็ไม่สามารถทนต่อแรงกดดันจากทั่วโลกได้ และยกเลิกคำสั่งแบนกลุ่ม ANC พร้อมกับปล่อยตัว เนลสัน แมนเดลา ในปี 2533

ในปี 2536 เนลสัน แมนเดลา ได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ ต่อมาในปี 2537 แอฟริกาใต้ได้จัดการเลือกตั้งในระบอบประชาธิปไตยครั้งแรก และแมนเดลาก็ได้รับคะแนนเสียงอย่างท่วมท้น กลายเป็นประธานาธิบดีผิวสีคนแรกของประเทศในวัย 75 ปี หลังจากนั้นในปี 2542 เขาได้ประกาศยุติบทบาททางการเมือง แต่ยังคงอุทิศเวลาส่วนใหญ่ให้กับการรณรงค์เรื่องสิทธิมนุษยชนและการให้ความรู้เรื่องโรคเอดส์ ก่อนจะขอเกษียณตัวเองจากการทำงานเนื่องจากปัญหาสุขภาพเมื่ออายุ 85 ปี และถึงแก่อสัญกรรมในวัย 95 ปี

แม้ว่า เนลสัน แมนเดลา จะจากโลกนี้ไปแล้ว แต่เขายังคงเป็นรัฐบุรุษและนักสู้ผู้ยิ่งใหญ่ของโลกตลอดกาล

สถานการณ์สร้างคนให้มีชื่อเสียงอยู่ตลอดเวลา ปีหน้าเรามาติดตามกันใหม่ว่า ใครจะขึ้นทำเนียบคนเด่นคนดังผู้น่าจดจำกันบ้าง


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ