อีกไม่กี่วันก็จะเข้าสู่ปีใหม่กันแล้ว In Focus ประจำสัปดาห์ส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ ขอพาทุกท่านย้อนรอยไปกับสถานการณ์เมืองทั่วโลกตลอดทั้งปี 2556
มกราคม-กุมภาพันธ์: ช่วงต้นปีที่ผ่านมา การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองที่โดดเด่นเกิดขึ้นในแถบเอเชียไม่น้อย ขอเริ่มจากเกาหลีใต้ที่เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ เมื่อ ปัก กึน-ฮเย ลูกสาวของอดีตประธานิบดีของเกาหลีใต้ สามารถคว้าชัยจากการเลือกตั้งขึ้นแท่นเป็นประธานาธิบดีหญิงคนแรกของแดนโสม ปัก กึน-ฮเย สามารถพิสูจน์ตัวเองให้เห็นถึงความเหมาะสมในการเป็นผู้นำประเทศ แม้ว่า เธอจะโชคดีที่มีประสบการณ์ทางการเมืองโดยตรง เนื่องจากเธอเป็นบุตรสาวคนโตของประธานาธิบดีคนที่ 3 ของเกาหลีใต้ แต่เธอก็ไต่เต้าและคลุกคลีอยู่ในวงการการเมืองมาโดยตลอด การตัดสินใจลงรับสมัครเลือกตั้งของเธอถือเป็นการตัดสินใจครั้งสำคัญที่ทำให้ประชาชนได้ตัดสินใจว่าจะเปิดโอกาสให้เธอได้ทำหน้าที่ผู้นำประเทศหรือไม่ และชาวเกาหลีใต้ก็เปิดโอกาสให้กับเธอ จนถึงขณะนี้ก็ยังไม่ปรากฎม็อบไล่เธอออกจากตำแหน่งแต่อย่างใด
จีนก็เป็นอีกประเทศที่มีการผลัดใบผู้นำประเทศ โดยนายสี จิ้นผิง เป็นผู้ที่เข้ามารับไม้ต่อในตำแหน่งประธานาธิบดีจีนคนใหม่ของประเทศ ในช่วงที่จีนเดินหน้าปฏิรูปประเทศ พร้อมกับตั้งเป้าขจัดการทุจริตซึ่งเป็นปัญหาที่ยิ่งใหญ่ไม่แพ้การพัฒนาเมืองและแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมและสังคม โดยการเข้ามาทำหน้าที่ของนายสี จิ้นผิง สามารถเรียกความเชื่อมั่นจากนานาประเทศได้ดี เนื่องจากประวัติที่ดี และนโยบายในการปฏิรูปที่เปิดรับการลงทุนจากต่างประเทศมากขึ้น ในขณะเดียวกันรัฐบาลจีนก็มุ่งมั่นที่จะแก้ปัญหาที่คาราคาซังในประเทศแบบค่อยเป็นค่อยไปและจริงจัง
กรกฎาคม: เมื่อผู้นำเกาหลีใต้และจีนฉายรัศมีโดดเด่นกันไปแล้ว ดาวเด่นการเมืองประจำปีที่ต้องกล่าวถึง คือ ประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน แห่งรัสเซีย ผู้ซึ่งมีบทบาทโดดเด่นแซงหน้าผู้นำสหรัฐไปได้ไม่น้อยทีเดียว
สถานการณ์การเมืองระหว่างสหรัฐและคู่ปรับเก่าอย่างรัสเซียคุกรุ่นขึ้นมา เมื่อ เอ็ดเวิร์ด สโนว์เดน อดีตพนักงานหน่วยข่าวกรองกลางสหรัฐ (CIA) และอดีตพนักงานสัญญาจ้างของสภาความมั่นคงแห่งชาติสหรัฐ (NSA) วัย 30 ปี ดอดเดินทางเข้าไปยังรัสเซีย โดยขอพักอยู่ในบริเวณที่รอขึ้นเครื่องบินของสนามบินกรุงมอสโคและอาศัยอยู่ในพื้นที่ดังกล่าวเป็นเวลานานพอที่จะแสดงให้เห็นว่า รัสเซียให้การปกป้องสโนว์เดน ผู้เปิดโปงรัฐบาลสหรัฐเรื่องการดักฟังโทรศัพท์เสียชนิดที่สหรัฐมองหน้าหลายประเทศไม่ติดไปอีกนาน
ประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน แห่งรัสเซียก็ไม่ได้ปฏิเสธการขอลี้ภัยในแดนหมีขาวของนายสโนว์เดนแต่อย่างใด งานนี้ได้ใจจากกลุ่มผู้สนับสนุนเรื่องสิทธิส่วนบุคคลไปไม่น้อย แต่ก็สร้างความขุ่นเคืองให้กับสหรัฐไม่น้อยเช่นกัน
อียิปต์ ถือเป็นอีกประเทศที่เกิดเหตุการณ์รุนแรงทางการเมืองขึ้น โดยกลุ่มประชาชนที่ไม่พอใจการทำหน้าที่ของนายโมฮัมเหม็ด มอร์ซี ประธานาธิบดีอียิปต์ ได้ลุกฮือประท้วงและสามารถโค่นนายมอร์ซีลงจากตำแหน่งได้ในที่สุด แต่เหตุการณ์ครั้งนี้ก็นำมาซึ่งการปะทะและการสูญเสีย
สิงหาคม: การใช้อาวุธเคมีกับประชาชนของซีเรีย จนส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตถึงว่า 1,000 คน โดยผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่เป็นพลเรือนและเด็กนั้น ทำให้นานาชาติออกมาประณามซีเรียที่กล้าใช้อาวุธเคมีกับประชาชนผู้บริสุทธิ์โดยไม่คำนึงถึงมนุษยธรรม หวังเพียงแต่จะทำลายฐานที่มั่นของกลุ่มที่คาดว่าจะเป็นผู้ต่อต้านรัฐบาล สถานการณ์ลุกลามระส่ำระสายไปจนกระทั่งสหรัฐเตรียมประกาศทำสงครามในขอบเขตที่จำกัดกับซีเรียร่วมกับชาติพันธมิตร เนื่องจากรัฐบาลซีเรียไม่ยอมออกมารับผิดกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น หลายฝ่ายเกรงกันว่า สงครามจะขยายวงและนำมาซึ่งเหตุการณ์เลวร้าย โชคดีที่รัสเซียซึ่งสนิทกับซีเรียยื่นมือเข้ามาช่วยหาทางออก ด้วยการเสนอให้ซีเรียทำลายอาวุธเคมี
เมื่อประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน แห่งรัสเซียเข้ามามีบทบาทในการไกล่เกลี่ยข้อขัดแย้งที่อาจจะทำให้เกิดสงครามขึ้นมาได้นี้ ผู้นำแห่งรัสเซียก็ได้หน้าไปแบบเต็มๆ เพราะการเข้ามาแทรกแซงครั้งนี้ทำให้หน่วยงานภายใต้การดูแลของสหประชาชาติอย่างองค์การห้ามการใช้อาวุธเคมี (OPCW) สามารถเข้ามาดูแลการทำลายอาวุธเคมีของซีเรียได้เต็มเม็ดเต็มหน่วย สร้างความไว้วางใจได้ในระดับหนึ่งว่า ท้ายที่สุดแล้วซีเรียจะต้องทำลายอาวุธเคมีที่มีอยู่ในประเทศ
พฤศจิกายน: สถานการณ์ในแถบทะเลจีนตะวันออกกลับมาคุกรุ่นอีกครั้งเมื่อจีนประกาศจัดตั้งพื้นที่ป้องกันทางอากาศขึ้นมา โดยมีอาณาเขตเหนือหมู่เกาะข้อพิพาทในทะเลจีนตะวันออก ส่งผลให้ประเทศเพื่อนบ้านฉุนกันเป็นแถบๆ เนื่องจากพื้นที่ดังกล่าวครอบคลุมบริเวณที่ทางญี่ปุ่นก็อ้างในกรรมสิทธิ ขณะที่สหรัฐซึ่งเป็นพันธมิตรของญี่ปุ่นก็ยังคงจุดยืนในการสนับสนุนญี่ปุ่น และวิจารณ์ว่า การดำเนินการดังกล่าวอาจจะส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพด้านความมั่นคงในเอเชียตะวันออก ส่วนเกาหลีใต้เอง ก็ไม่เห็นด้วยกับการจัดตั้งเขตพื้นที่ครั้งนี้
การจัดตั้งพื้นที่ป้องกันภัยทางอากาศครั้งนี้เป็นการจัดตั้งขึ้นมาเพียงฝ่ายเดียวครั้งนี้ จีนระบุว่า ขอให้สายการบินต่างๆที่ต้องการบินไปยังพื้นที่ดังกล่าว ยื่นแผนการบินให้ทราบล่วงหน้า ซึ่งในช่วงแรกมีสายการบินของญี่ปุ่นที่ได้แจ้งข้อมูลเที่ยวบินให้ทราบ แต่หลังจากที่ทางการญี่ปุ่นได้ออกมาระบุว่า สายการบินในประเทศไม่จำเป็นต้องรายงานข้อมูลเที่ยวบิน ทางสายการบินเหล่านี้จึงไม่ได้แจ้งข้อมูลแต่อย่างใด
นอกจากนี้ สหรัฐและญี่ปุ่นยังได้ส่งเครื่องบินบินเข้าไปยังเขตพื้นที่จัดตั้งใหม่ของจีน โดยไม่ได้แจ้งล่วงหน้า คล้ายกับจะส่งสัญญาณการคัดค้านการจัดตั้งพื้นที่ดังกล่าว
เดือนพฤศจิกายนยังเป็นเดือนเดือดของสถานการณ์การเมืองในประเทศไทย โดยประชาชนพร้อมด้วยแกนนำได้ออกมาประท้วงพรบ.นิรโทษกรรม จนท้ายที่สุดวุฒิสภาได้โหวตคว่ำกฎหมายดังกล่าว แต่สถานการณ์การประท้วงก็ยังไม่สิ้นสุดลงแม้ว่า จะมีการประกาศยุบสภาและจัดการเลือกตั้งขึ้นในวันที่ 2 ก.พ. 2557 เนื่องจากผู้ประท้วงต้องการขับไล่นายกฯรักษาการออกจากตำแหน่ง และปฏิรูปประเทศก่อนหน้าที่จะมีการเลือกตั้ง
ในขณะที่ประเทศข้างต้นต้องเผชิญกับสถานการณ์ทางการเมือง แต่อิหร่านกลับเป็นประเทศที่จุดประกายความหวังเรื่องการยุติโครงการนิวเคลียร์ หลังจากที่อิหร่านตกเป็นไม้เบื่อไม้เมากับกลุ่มประเทศตะวันตกมานานด้วยเรื่องการพัฒนาโครงการนิวเคลียร์และการเสริมสมรรถนะแร่ยูเรเนียมที่สามารถนำมาใช้เป็นพลังงานในการผลิตนิวเคลียร์ที่อิหร่านย้ำนักย้ำหนาว่า เป็นโครงการนิวเคลียร์เพื่อสันติ แต่ก็ไม่ใคร่จะมีใครเชื่อใจเท่าไรนัก ดังนั้น การเปิดฉากจัดการเจรจาหารือระหว่างอิหร่านกับ 6 ชาติมหาอำนาจของโลกหรือกลุ่ม P5+1 ที่นครเจนีวาเมื่อวันที่ 7-9 พ.ย. จึงถือเป็นการจุดประกายความหวังว่า จะไม่มีการผลิตอาวุธนิวเคลียร์เพิ่มขึ้นในโลกใบนี้
ธันวาคม: แต่ดูเหมือนโสมแดงอาจจะเป็นประเทศที่ดับฝันเรื่องการผลิตอาวุธนิวเคลียร์ในแถบเอเชียได้ ภายใต้การนำของผู้นำประเทศคนล่าสุด ซึ่งตกเป็นข่าวไปทั่วโลกกับคำสั่งประหารชีวิต พลเอกจาง ซองแต๊ก ซึ่งเป็นศักดิ์เป็นลุง จากการแต่งงานกับ คิม คยอง ฮี พี่สาวคนโตของ คิม จอง อิล บิดาของ คิม จอง อึน ผู้นำรุ่นที่ 3 ของเกาหลีเหนือ นายจางเป็นบุคคลที่มีอิทธิพลมากคนหนึ่งทั้งในพรรคกรรมกรและกองทัพ และยังเป็น หนึ่งใน 7 นายพลพี่เลี้ยงที่ให้การดูแลผู้นำเกาหลีเหนือ
เกาหลีเหนือได้ประหารชีวิตนายจาง ซองแต๊ก เมื่อวันที่ 12 ธ.ค.ที่ผ่านมา นักวิเคราะห์มองว่า การกำจัดนายจางนั้น เนื่องจากคิม จองอึน ต้องการที่จะกำจัดภัยคุกคามและต้องการสลัดตัวเองให้หลุดพ้นจากเงาอำนาจของคิม จอง อิล ผู้ซึ่งเป็นบิดา ด้วยการสร้างฐานอำนาจใหม่ของตนเองขึ้นมา
เดือนนี้ ยังเป็นเดือนของการสูญเสียหนึ่งในตำนานแห่งผู้นำของโลก นายเนลสัน แมนเดลา วีรบุรุษชาวแอฟริกันซึ่งถึงแก่อสัญกรรมที่บ้านในกรุงโจฮันเนสเบิร์ก ขณะที่มีอายุ 95 ปี เมื่อวันที่ 6 ธ.ค.ที่ผ่านมา นายแมนเดลา มีปัญหาเกี่ยวกับปอดซึ่งเป็นผลมาจากการป่วยด้วยโรควัณโรคในขณะที่ถูกจำคุก อดีตผู้นำของแอฟริกาใต้มีปัญหาที่ระบบทางเดินหายใจ และต้องพักรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลเพรโทเรียเป็นเวลานาน นายแมนเดลาจึงไม่ได้ปรากฎตัวต่อสาธารณชนมาตั้งแต่ปี 2547
แมนเดลา ซึ่งเป็นที่รู้จักกันอีกชื่อในแอฟริกาใต้ว่า เมดิบา ถือเป็นหนึ่งในบุคคลสำคัญแห่งทศวรรษที่ 20 ที่ได้รับการยกย่องจากทั่วโลกในเรื่องของจุดยืนในการต่อต้านการแบ่งแยกสีผิว และประสบความสำเร็จในการนำพาประเทศหลุดพ้นจากการปกครองแบบเหยียดสีผิวของชนผิวขาวมาสู่ประชาธิปไตย ตลอดจนการเป็นตัวอย่างของการต่อสู้แบบสันติที่สามารถเห็นเป็นรูปธรรม และเป็นแรงบันดาลใจให้กับผู้คนทั่วโลก
ย้อนกลับมายังสถานการณ์ในประเทศเพื่อนบ้านอย่างกัมพูชานั้นก็ร้อนแรงไม่แพ้กัน เมื่อนายสม รังสี ผู้นำพรรคฝ่ายค้านของกัมพูชาได้ระดมประชาชนเพื่อประท้วงขับไล่รัฐบาลฮุนเซน โดยมีการจัดการชุมนุมอย่างต่อเนื่อง และการชุมนุมต่อต้านครั้งใหญ่ที่สุดเปิดฉากขึ้นเมื่อวันที่ 22 ธ.ค. เนื่องจากผู้ประท้วงต้องการให้นายกรัฐมนตรีกัมพูชาลาออกจาตำแหน่งหรือจัดการเลือกตั้งขึ้นใหม่ เนื่องจากผู้ประท้วงมองว่า การเลือกตั้งเมื่อเดือนก.ค.นั้น ไม่โปร่งใส
หลายเหตุการณ์ยังไม่สิ้นสุดลง ก็คงต้องติดตามกันไปจนถึงปีหน้าว่า จะลงเอยในรูปแบบใด ท้ายสุด In Focus ขออวยพรให้ทุกท่านมีความสุข สุขภาพแข็งแรง การงานมั่นคง การเงินแข็งแกร่ง กันถ้วนหน้า