สหภาพแรงงานโปรตุเกสทั่วไป (CGTP) ซึ่งเป็นกลุ่มที่เดินหน้าการประท้วงในครั้งนี้ ได้เรียกร้องให้ชาวโปรตุเกสขัดขวางรัฐบาล คัดค้านการใช้ประโยชน์จากความยากจน และเรียกร้องเกี่ยวกับการขึ้นเงินเดือน การจ้างงาน และระบบสวัสดิการ
นางฟาติมา บาทาลฮาวัย 77 ปีระบุว่าเธอต้องการรัฐบาลใหม่ที่เข้าใจความลำบากของแรงงานและห่วงใยชาวโปรตุเกส
ขณะที่นายอาร์เมนิโอ คาร์ลอส เลขาธิการของ CGTP วิจารณ์ที่รัฐบาลกับกลุ่มทรอยก้า ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ต่างชาติที่ประกอบด้วยสหภาพยุโรป (อียู) กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) และธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) เห็นชอบมาตรการรัดเข็มขัดต่างๆ
นายคาร์ลอสระบุว่า เป็นไปไม่ได้ที่โปรตุเกสจะออกจากโครงการความช่วยเหลือทางการเงินของกลุ่มทรอยก้าได้โดยปราศจากความช่วยเหลือจากภายนอก เมื่อพิจารณาจากการปลดแรงงาน 400,000 คน ความล้มเหลวของรัฐบาลในการชำระหนี้สาธารณะ และการลงทุนที่ลดลง
นอกจากนี้ยังมีการเดินขบวนประท้วงในเมืองปอร์โตและโคอิมบราทางตอนเหนือของประเทศ เขตอัลการ์เวทางตอนใต้ และเขตปกครองตนเองมาไดลาและอะโซส
ตามข้อตกลงให้ความช่วยเหลือทางการเงิน 7.8 หมื่นล้านยูโร (1.01 แสนล้านดอลลาร์) ของกลุ่มทรอยก้าเมื่อเดือนพ.ค. 2554 โปรตุเกสให้คำมั่นว่าจะเดินหน้านโยบายรัดเข็มขัดอย่างจริงจัง ซึ่งถูกวิจารณ์ว่าเป็นสาเหตุที่ทำให้ภาวะเศรษฐกิจหดตัวของประเทศถลำลึก และสร้างความไม่พอใจให้แก่ประชาชนทั่วไปเป็นอย่างยิ่ง
ขณะที่รัฐบาลโปรตุเกสเชื่อมั่นว่าประเทศจะสามารถออกจากโครงการช่วยเหลือทางการเงินดังกล่าวกับกลุ่มทรอยก้าในเดือนมิ.ย.นี้ตามกำหนดเดิม ภายหลังมีสัญญาณเศรษฐกิจฟื้นตัวช่วงครึ่งหลังของปีที่แล้ว อย่างไรก็ตาม ยังไม่เป็นที่แน่ชัดว่ารัฐบาลจำเป็นต้องใช้เงินกู้สำรองฉุกเฉินภายหลังออกจากโครงการดังกล่าวหรือไม่ สำนักข่าวซินหัวรายงาน