การลุกฮือขึ้นต่อต้านรัฐบาลครั้งล่าสุดนี้ เกิดขึ้นจากหลายปัจจัยด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นความยากจนของประชาชนส่วนใหญ่ในประเทศ การใช้อำนาจไปในทิศทางที่ไม่ถูกต้องของผู้นำประเทศ และที่จะปฏิเสธไม่ได้คืออิทธิพลจากแดนหมีขาว ทั้งที่ยูเครนได้รับอิสรภาพจากประเทศสหภาพโซเวียตมาตั้งแต่ปี 2534 ซึ่งถือเป็นเวลาที่ยาวนานถึง 23 ปีแล้วก็ตาม
การที่อดีตประธานาธิบดีวิคเตอร์ ยานูโควิช ของยูเครนไม่ยอมลงนามในข้อตกลงว่าด้วยความร่วมมือทางการเมือง เศรษฐกิจและการค้า กับสหภาพยุโรป หรืออียู ในการประชุมช่วงวันที่ 21 พ.ย. 2556 ประกอบกับการตัดสินใจที่จะทำข้อตกลงกับรัสเซียแทนนั้น เปรียบเสมือนเชื้อไฟในการจุดชนวนการชุมนุมประท้วงให้เปิดฉากขึ้นทันที ผู้ชุมนุมดาหน้ารวมตัวกันที่จัตุรัสแห่งเอกราชในกรุงเคียฟ ซึ่งเป็นเมืองหลวงเพื่อประท้วงการตัดสินใจของรัฐบาล ไม่นานหลังจากนั้น จำนวนผู้ชุมนุมได้เพิ่มขึ้นเรื่อยๆและบานปลายไปสู่การขับไล่รัฐบาลทั้งคณะ
ท้ายที่สุด รัฐสภายูเครนก็ลงมติถอดถอนประธานาธิบดีวิคตอร์ ยานูโควิช ออกจากตำแหน่งโดยประกาศว่านายยานูโควิชไม่สามารถดำเนินหน้าที่ได้ในทางรัฐธรรมนูญ และที่เด็ดไปกว่านั้น รัฐสภายังมีมติให้ปล่อยตัวนางยูเลีย ทีโมเชงโก อดีตนายกรัฐมนตรียูเครน ซึ่งเป็นคู่แข่งคนสำคัญของประธานาธิบดียานูโควิช หลังจากที่เธอถูกจำคุก 7 ปี ฐานใช้อำนาจในทางที่ผิด
รัฐสภายูเครนได้แต่งตั้งนายโอเลคซานเดอร์ เตอร์ไชนอฟ ประธานรัฐสภา ให้ดำรงตำแหน่งรักษาการประธานาธิบดี ขั้นตอนต่อไปคือ การจัดตั้งรัฐบาลเฉพาะกาลขึ้น ก่อนที่จะจัดการเลือกตั้งในวันที่ 25 พ.ค.ที่จะถึงนี้
สถานการณ์ของยูเครนที่ดูเหมือนว่าจะคลี่คลายความร้อนแรงลงชั่วขณะ แต่การปรากฎตัวของอดีตนายกรัฐมนตรีหญิง อย่างยูเลีย และการเลือกตั้งที่จะจัดขึ้นทำให้หลายฝ่ายจับตามองว่า อนาคตของยูเครนจะออกมาในรูปแบบใด
ยูเลีย ทีโมเชงโก อดีตผู้นำปฏิวัติสีส้ม
ด้วยทรงผมที่เป็นเอกลักษณ์และบทบาทในการทำหน้าที่ทางการเมืองของยูเลีย ทีโมเชงโก อดีตนายกฯยูเครน ทำให้สื่อให้ความสนใจเธอในช่วงที่ยังดำรงตำแหน่งจนกระทั่งหลุดพ้นจากตำแหน่งไป
ก่อนหน้าที่จะเข้ามาสู่เวทีการเมือง ยูเลียนั่งตำแหน่งซีอีโอของบริษัท ยูเครเนียน ปิโตรเลียม หลังจากที่สหภาพโซเวียตล่มสลายลงในปี 2543 และต่อมาบริษัทนี้ก็ได้กลายเป็นผ้นำก๊าซธรรมชาติจากรัสเซียรายใหญ่ที่สุดของยูเครน
สำนักข่าวในยูเครนตั้งสมญานามให้ยูเลียว่า เจ้าหญิงแห่งก๊าซธรรมชาติ และอ้างว่า ด้วยบทบาทของเธอทำให้เธอสามารถทำรายได้ได้เป็นจำนวนมาก ยูเลียได้รับการแต่งตั้งให้ทำหน้าที่รองนายกรัฐมนตรีที่ดูแลด้านพลังงานในปี 2552 และถูกถอดออกจากรัฐบาลในเดือนม.ค. 2554 ภายหลังจากที่ถูกกล่าวหาว่า ฉ้อโกงเรื่องการนำเข้าก๊าซ เลี่ยงภาษี และติดสินบน ยูเลียออกมาประกาศว่า ข้อกล่าวหาเหล่านี้ล้วนถูกปั้นแต่งขึ้นมาโดยนักธุรกิจที่ต้องการจะพลิกโฉมอุตสาหกรรมพลังงานของยูเครน เธอถูกจับกุมตัวถึง 2 ครั้ง แต่ข้อกล่าวหาต่างๆนานาข้างต้นก็ตกไปในเวลาต่อมา
ในขณะที่ก้าวเข้าสู่เวทีการเมือง ยูเลียได้เปลี่ยนแปลงภาพลักษณ์ทางการเมืองของเธอด้วยการชูเอกลักษณ์ของชาวยูเครน นั่นคือการทำทรงผมดั้งเดิมของสตรีชาวยูเครนด้วยการถักเปียล้อมศีรษะ ยูเลียได้รับการคัดเลือกเข้าสู่การเป็นสมาชิกรัฐสภาในปี 2545 และมีชื่อเสียงในระดับสากลในเวลา 2 ปีต่อมา
ยูเลียก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งนายกฯยูเครนในปี 2547 แต่ก็อยู่ในตำแหน่งได้เพียง 7 เดือนเท่านั้น เนื่องจากความเห็นที่ไม่ลงรอยกันเกี่ยวกับนโยบายเศรษฐกิจ ในช่วงที่ยังอยู่ในตำแหน่งนั้น เธอสามารถคว้าชัยเหนือพรรคของนายยานูโควิชได้ แต่ต่อมายานูโควิชก็ได้ขึ้นมาเป็นผู้นำยูเครนในปี 2553 ภาพของนางยูเลียซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของการต่อต้านระบอบวิคเตอร์ ยานูโควิช มาเป็นเวลานาน ขึ้นกล่าวปราศรัยภายหลังจากที่ได้รับอิสระภาพทันทีนั้น ก่อให้เกิดเสียงวิเคราะห์ตามมาได้ไม่น้อยทีเดียว โดยหัวหน้าศูนย์วิเคราะห์การเมืองเพนต้าในกรุงเคียฟมองว่า การกลับมาของเธอถือเป็นความเสี่ยงอย่างใหญ่หลวงทางการเมืองของยูเครน ในขณะที่ประเทศต้องการเปลี่ยนแปลงผู้นำการเมืองหน้าใหม่ การที่เราปล่อยให้ยูเลียเข้ามาอีกครั้ง จะทำให้ประเทศถอยหลังเข้าคลอง สำหรับชาวยูเครนรุ่นใหม่แล้ว เธอก็เหมือนกับยานูโควิชที่เปรียบได้ดั่งสัญลักษณ์ของอดีต และความผิดหวังของการปฏิวัติสีส้ม
อดีตสมาชิกโซเวียตที่ยากจะหลุดพ้นจากอิทธิพลของหมีขาว
ยูเครน ตั้งอยู่ในยุโรปตะวันออก ทิศตะวันออกติดกับรัสเซีย ทางเหนือติดเบลารุส ทางตะวันตกติดโปแลนด์ สโลวาเกียและฮังการี ยูเครนตั้งอยู่ในจุดยุทธศาสตร์ที่สำคัญสำหรับการขนส่งพลังงานสำหรับยุโรป โดยก๊าซธรรมชาติของอียูที่ส่งมาจากรัสเซีย ส่วนใหญ่จะถูกส่งผ่านไปทางยูเครน
ด้วยภูมิประเทศและประวัติความเป็นมาทำให้ยูเครนยากที่จะปฏิเสธการแทรกแซงของรัสเซีย หากมีพิจารณาตามภูมิประเทศแล้ว เมืองบริเวณชายแดนตะวันตกเฉียงใต้ของยูเครนนั้นได้ให้การสนับสนุนรัสเซีย และการที่ยูเครนรวมทั้งยุโรปต้องพึ่งพาแหล่งพลังงานจากรัสเซีย ทำให้ยูเครนไม่กล้าแข็งข้อกับรัสเซียเท่าใดนัก
ผู้อำนวยการสถาบันโรยัล ยูไนเต็ด เซอร์วิสเซส ระบุในรายงานวิจัยว่า งานหลักของรัสเซียในขณะนี้ก็คือ การสร้างแรงกดดันเท่าที่จะมากได้กับว่าที่รัฐบาลชุดใหม่ของยูเครน ซึ่งหนึ่งในวิธีการกดดันอาจจะเป็นการเรียกร้องให้มีการจ่ายหนี้สำหรับการขนส่งน้ำมันและก๊าซธรรมชาติมูลค่าถึง 2.3 พันล้านดอลลาร์
นอกจากนี้ รัสเซียยังสามารถแสดงความไม่พอใจได้ผ่านวิธีการอื่นๆ เช่น การยกเลิกวีซ่าแรงงานอพยพชาวยูเครนที่ทำงานอยู่ในรัสเซีย หรือควบคุมการค้าบริเวณชายแดนอย่างเข้มงวด ซึ่งทั้ง 2 วิธีการดังกล่าว ล้วนเป็นวิธีการที่รัสเซียเคยใช้มาแล้ว และยังทำให้เกิดผลกระทบอย่างรุนแรงต่อเศรษฐกิจของยูเครน
ขณะนี้ประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ของรัสเซีย คงจะตั้งตารอดูผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีในวันที่ 25 พ.ค.ว่า ตัวแทนที่จะลงเลือกตั้งจากภาคตะวันออกของยูเครนที่นิยมรัสเซียนั้น จะได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งหรือไม่
ในขณะที่สมาชิกของรัฐสภายุโรปประจำยูเครน มองว่า การจัดตั้งคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ของยูเครนถือเป็นงานช้าง นานาชาติประเมินว่า รัฐบาลยูเครนต้องการเงินถึง 4 พันล้านดอลลาร์ในช่วงสิ้นเดือนนี้ เพื่อที่จะใช้ในการชำระหนี้ค่าแรง บำนาญ และค่าก๊าซให้กับรัสเซีย
วิกฤตการเมืองกระทบเครดิต นานาประเทศพร้อมช่วยเหลือทางการเงิน
เมื่อการประท้วงบานปลายถึงขั้นนองเลือด สถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือระหว่างประเทศ สแตนดาร์ด แอนด์ พัวร์ (S&P) ก็หั่นเครดิตทันที โดย S&P ปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือของยูเครนลงสู่ระดับ CCC โดยมีแนวโน้มเชิงลบ จากเดิมที่ระดับ CCC+
S&P มองว่าสถานการณ์ทางการเมืองในยูเครนเลวร้ายลงจนก่อให้เกิดความเสี่ยงมากขึ้นต่อความสามารถของรัฐบาลในการชำระหนี้ นอกจากนั้นยังไม่แน่ว่ารัสเซียจะให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ยูเครนอย่างต่อเนื่องตลอดปีนี้หรือไม่
S&P ระบุว่า "ในขณะนี้ เราเชื่อว่ามีแนวโน้มที่ยูเครนจะผิดนัดชำระหนี้"
ในขณะที่สหรัฐและอังกฤษออกโรงแสดงความไม่เห็นด้วยกับการโค่นล้มประธานาธิบดียูเครน เนื่องจากยูเครนยังต้องร่วมมือกับรัสเซียหลายด้าน แต่สิ่งสำคัญสำหรับชาวยูเครนเวลานี้คือความร่วมมือด้านเศรษฐกิจกับยุโรป
อย่างไรก็ดี สหรัฐ ยุโรป และอังกฤษ ก็พร้อมที่จะให้ความช่วยเหลือยูเครนภายหลังจากที่มีการปลดประธานาธิบดีออกจากตำแหน่ง
ส่วนนายวลาดิเมียร์ ปูติน ประธานาธิบดีแห่งรัสเซียที่พยายามจะกลับมามีอิทธิพลในยูเครนอีกครั้ง หลังจากที่ยานูโควิช ซึ่งตนเองได้ให้การสนับสนุนถูกโค่นอำนาจลงไปแล้วนั้น ยังคงเก็บตัวไม่แสดงความคิดเห็นใดๆเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง โดยนักวิเคราะห์มองว่า ปูตินคงจะไม่กล้าเข้ามาแทรกแซงยูเครนโดยตรง แต่อาจจะวิธีการทางอ้อม เช่น มาตรการทางเศรษฐกิจ หรือการสร้างแรงกดดันแทน
เนื่องจากที่ผ่านมา ปูตินเคยเข้ามาแทรกแซงการเมืองยูเครนโดยตรงมาแล้ว ด้วยการเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดตั้งรัฐบาลและเลือกประธานาธิบดีในปี 2547 ซึ่งเป็นปีที่นายยานูโควิชได้รับการเลือกตั้งเข้ามาทำหน้าที่ประธานาธิบดี แต่ปูตินได้เข้ามาแสดงความยินดีกับนายยานูโควิชก่อนหน้าที่จะมีการนับคะแนนเสียงเสร็จสิ้น ข้อกล่าวหาเรื่องการโกงเลือกตั้งในปีเดียวกันนี้นี่เองที่เป็นจุดกำเนิดของปฏิวัติสีส้ม และทำให้นายยานูโควิชไม่สามารถก้าวสู่อำนาจได้
ขณะที่นักวิเคราะห์อีกรายมองว่า ความแตกแยกที่หยั่งรากลึกในยูเครนระหว่างกลุ่มผู้สนับสนุนอียู ซึ่งส่วนใหญ่จะอยู่ในภาคตะวันตกของประเทศ และอีกกลุ่มที่ส่วนใหญ่จะพูดภาษารัสเซีย และอาศัอยู่ทางตะวันออกและใต้นั้น อาจจะเป็นชนวนที่ทำให้เกิดความรุนแรงขึ้นมาอีกครั้งก็เป็นได้
ซูซาน ไรซ์ ที่ปรึกษาด้านความมั่นคงแห่งชาติของทำเนียบขาว กล่าวว่า สหรัฐจะร่วมมือกับประเทศพันธมิตรในยุโรป เพื่อช่วยเหลือด้านการเงิน และสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจยูเครน แต่เตือนรัสเซียด้วยว่า การแทรกแซงด้วยกองกำลังจะถือเป็นความผิดพลาดอย่างใหญ่หลวง
วิกฤตการเมืองยูเครนได้คลี่คลายลงไปมาก แม้จะยังไม่มีความชัดเจนว่าอนาคตข้างหน้าจะออกมาในรูปแบบใด หากเมื่อเปรียบเทียบกับสถานการณ์ในบ้านเรามีทั้งความเหมือนและความต่าง แต่โอกาสที่จะคลี่คลายวิกฤตนั้น ยูเครนดูเหมือนจะก้าวแซงหน้าเราไปหลายก้าวทีเดียว