In Focusอินเดีย กับการเลือกตั้งครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์

ข่าวการเมือง Wednesday April 9, 2014 15:30 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

อินเดีย ประเทศประชาธิปไตย และมีประชากรมากที่สุดในโลกเป็นลำดับที่ 2 หรือประมาณ 1.2 พันล้านคน ประกาศจัดการเลือกตั้งครั้งยิ่งใหญ่ที่ทั่วโลกยกให้เป็นการเลือกตั้งครั้งใหญ่ และยาวนานที่สุดในประวัติศาสตร์ ยิ่งไปกว่านั้นยังเป็นการเลือกตั้งที่ใช้งบประมาณมากที่สุดเป็นลำดับ 2 ของโลกอีกด้วย!

การเลือกตั้งครั้งยิ่งใหญ่ในหน้าประวัติศาสตร์โลก

การเลือกตั้งทั่วไปครั้งที่ 16 ของโลกสภา (Lok Sabha) ซึ่งเป็นสภาผู้แทนราษฎรของอินเดียนั้น กินระยะเวลายาวนานถึงประมาณ 5 สัปดาห์ โดยเริ่มเปิดฉากไปเมื่อวันที่ 7 เมษายน และจะสิ้นสุดลงในวันที่ 12 พฤษภาคม 2557 โดยอินเดียจะแบ่งระยะเวลาในการจัดการเลือกตั้งครั้งนี้ ออกเป็น 9 ช่วง และมีเขตเลือกตั้งทั้งหมด 543 เขต แบ่งเป็นคูหาเลือกตั้ง 919,000 แห่งทั่วประเทศ และจะใช้เครื่องลงคะแนนอิเล็กทรอนิกทั้งหมดประมาณ 3.6 ล้านเครื่อง ซึ่งถือเป็นสถิติที่เพิ่มขึ้นมากจากการเลือกตั้งในปี 2552 ที่มีหน่วยเลือกตั้ง 800,000 แห่ง และใช้เครื่องลงคะแนนอิเล็กทรอนิก 2 ล้านเครื่อง เนื่องจากการเลือกตั้งในปีนี้มีจำนวนผู้ที่มีสิทธิ์เลือกตั้งเพิ่มขึ้นจากการเลือกตั้งในปี 2552 ประมาณ 100 ล้านคน รวมผู้มีสิทธิ์ออกเสียงลงคะแนนประมาณ 814 ล้านคน เทียบได้กับจำนวนประชากรของสหรัฐ และสหภาพยุโรปรวมกัน ทั้งนี้ การนับผลคะแนนทุกเขตจะมีขึ้นในวันที่ 16 พฤษภาคม 2557

คณะกรรมการการเลือกตั้งอินเดีย (ECI) เปิดเผยว่า การเลือกตั้งครั้งนี้จะต้องใช้งบประมาณมากถึง 3.5 หมื่นล้านรูปี ซึ่งยังไม่นับรวมค่าใช้จ่ายสำหรับการรักษาความปลอดภัย และค่าใช้จ่ายส่วนตัวของพรรคผู้สมัครอีก โดยคาดว่าพรรคการเมืองของอินเดียจะใช้งบประมาณในการเลือกตั้งรวมกันแล้วเป็นเงินประมาณ 3.05 แสนล้านรูปี หรือประมาณ 5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งมากกว่าการเลือกตั้งครั้งก่อนถึง 3 เท่า และถือเป็นการเลือกตั้งที่ผลาญงบมากที่สุดเป็นลำดับ 2 ของโลกรองจากการเลือกตั้งในปี 2555 ของสหรัฐอเมริกาที่ทุ่มทุนไปทั้งสิ้นประมาณ 7 พันล้านดอลลาร์ ECI ระบุว่า การจัดการเลือกตั้งในประเทศที่มีอาณาเขตใหญ่ที่สุดเป็นอันดับ 7 ของโลกนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย เจ้าหน้าที่ดูแลการเลือกตั้งต้องเดินทางฝ่าสภาพภูมิประเทศที่หลากหลายทั้งป่าเขา ทะเลทราย ทะเล และธารน้ำแข็ง เพื่อจัดคูหาเลือกตั้งให้ได้ตามกฏที่กำหนดไว้ว่าคูหาเลือกตั้งจะต้องอยู่ห่างจากที่พักอาศัยของผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งทุกคนไม่เกิน 2 กิโลเมตร หรือ 1.2 ไมล์ และยังต้องใช้เฮลิคอปเตอร์เพื่อขนส่งยารักษาโรค อาหาร เครื่องมือสื่อสารไร้สาย เครื่องลงคะแนน และเจ้าหน้าที่ประจำหน่วยเลือกตั้งเข้าสู่พื้นที่ที่เข้าถึงได้ยาก

ระบบการเลือกตั้งของอินเดีย

อินเดียมีระบบรัฐสภาแบบ 2 สภา ได้แก่

  • ราชยสภา (Rajya Sabha) หรือ RS ซึ่งเป็นสภาสูงที่มีสมาชิกจำนวน 250 คน สมาชิกส่วนใหญ่มาจากการเลือกตั้งโดยสภานิติบัญญัติประจำรัฐ และเขตแดนต่างๆของอินเดีย และสมาชิก 12 คน ซึ่งเป็นผู้ทรงคุณวุฒิในด้านศิลปศาสตร์ อักษรศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และสังคมสงเคราะห์ศาสตร์จะมาจากการคัดสรรโดยประธานาธิบดีแห่งอินเดีย
  • โลกสภา (Lok Sabha) หรือสภาผู้แทนราษฎร เป็นสภาล่าง มีจำนวนสมาชิกทั้งหมด 545 คน โดยที่สมาชิก 2 คนมาจากการคัดเลือกของประธานาธิบดี และสมาชิกส่วนที่เหลือมาจากการเลือกตั้งโดยตรง

คณะกรรมการการเลือกตั้งของอินเดีย (ECI) ใช้มาตรการทุกวิถีทางเพื่อที่จะทำให้การเลือกตั้งดำเนินไปด้วยความโปร่งใส และยุติธรรมที่สุด นอกจากระบบ “NOTA" (None of the Above) บนบัตรลงคะแนน ซึ่งมีความหมายว่าไม่ยอมรับผู้สมัครทุกรายแล้ว อินเดียยังได้นำ 2 ระบบใหม่ล่าสุดมาใช้กับการเลือกตั้งในปี 2557 อีกด้วย ได้แก่ “EVM" (Electronic Voting Machines) หรือเครื่องลงคะแนนอิเล็กทรอนิก ซึ่งช่วยประหยัดเวลา และ “VVPAT" (Voter Verifiable Paper Audit Trail) ซึ่งเป็นระบบที่ใช้ควบคู่กับเครื่องลงคะแนน โดยเมื่อกดลงคะแนนแล้ว ระบบจะส่งใบรายการที่แสดงสัญลักษณ์ และชื่อผู้สมัครที่ได้รับการลงคะแนนลงไปยังกล่องปิดผนึกทันทีโดยอัตโนมัติ

ผู้สมัครตัวเก็ง

การเลือกตั้งครั้งนี้มีผู้ลงรับสมัครเลือกตั้งในระดับตัวเก็ง 2 คน คือ นายราหุล คานธี พรรคคองเกรสอินเดีย (INC) ซึ่งเป็นพรรครัฐบาล และนายนาเรนดรา โมดี จากพรรคภาราติยะ ชันนะตะ (BJP) ฝ่ายค้านชาติลัทธิฮินดู

นายนาเรนดรา โมดี วัย 63 ปี แสดงจุดยืนด้านการลงทุน และการเติบโตทางเศรษฐกิจ ขณะที่บรรดาผู้นำพรรคคองเกรสโจมตีนายนาเรนดรา โมดี ว่า เขาคือผู้กุมอำนาจเผด็จการที่ไม่มีความสามารถพอที่จะควบคุมโศกนาฏกรรมอันเนื่องมาจากเหตุจลาจลต่อต้านมุสลิมที่เกิดขึ้นในรัฐคูชารัตเมื่อปี 2545 ไว้ได้ และเขากลับปฏิเสธว่าเขาไม่ได้ทำผิดพลาดใดๆในเหตุการณ์ครั้งนั้น

ในขณะที่นายราหุล คานธี วัย 43 ปี หาเสียงด้วยนโยบายอาหารราคาถูก และนโยบายรับประกันการจ้างงานในเขตพื้นที่ชนบท พรรค INC ให้คำมั่นสัญญากับผู้ใช้สิทธิ์ที่มีฐานะยากจนว่า พรรคจะจัดให้มีนโยบายสิทธิการดูแลสุขภาพ รวมถึงที่พักอาศัยด้วย พร้อมทั้งยืนยันว่าจะฟื้นฟูเศรษฐกิจอินเดียให้เป็นเขตเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดเป็นลำดับ 3 ของเอเชีย และจะกระตุ้นการเติบโตให้ได้มากกว่า 8% ภายใน 3 ปี

นายราหุล คานธี ระบุว่า "การเลือกตั้งครั้งนี้เปรียบเสมือนการต่อสู้แห่งอุดมการณ์ มันเป็นการต่อสู้เพื่อการเป็นอินเดียในแบบที่พวกเราต้องการ"

โครงสร้างเศรษฐกิจของพรรค BJP ภายใต้การนำของนายนาเรนดรา โมดี ให้ความสำคัญกับโครงสร้างพื้นฐาน, การพัฒนาชุมชนเมือง และยกเลิกระเบียบราชการที่เข้มงวด ซึ่งแตกต่างจากจุดยืนของพรรค INC อย่างสิ้นเชิง ซึ่งพรรค INC มุ่งเน้นนโยบายด้านการส่งเสริมการเติบโตแบบวงกว้าง รวมถึงแผนการต่างๆด้านสวัสดิภาพ

การเลือกตั้งในวันแรกเมื่อวันที่ 7 เมษายนผ่านไปด้วยดี โดยจัดขึ้นที่รัฐอัสสัม และรัฐตริปุระในภูมิภาคตะวันออกเฉียงเหนือของอินเดีย มีการแบ่งเขตการเลือกตั้งเป็น 6 เขต และจำนวนผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งน้อยกว่า 1% ของประชากรทั้งหมดในอินเดีย หัวหน้าเจ้าหน้าที่การเลือกตั้งประจำรัฐรัฐตริปุระ ระบุว่า รัฐตริปุระมีเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย 10,000 คนประจำตามคูหาเลือกตั้งทั้งหมด 1,605 แห่ง เขากล่าว่า “แทนที่เราจะให้ความสำคัญกับยานพาหนะ การสื่อสารโทรคมนาคม และความปลอดภัย แต่เราจะพยายามทำให้การเลือกตั้งครั้งนี้มีความอิสระ ความยุติธรรม และสันติ

เมื่อมองจากภาพรวมในวันแรกของการเลือกตั้งแล้ว นายนาเรนดรา โมดีจากพรรคฝ่ายค้านมีแนวโน้มที่จะได้รับเสียงข้างมากหลังกลับมาทวงคืนอำนาจที่ห่างหายไปนานถึง 10 ปี

ขณะที่วันนี้การเลือกตั้งในช่วงที่ 2 ยังคงดำเนินต่อไปใน 3 รัฐ ได้แก่ รัฐนาคาแลนด์, เมฆาลัย และมณีปุระ แม้ว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงจากกำหนดการเดิมที่ระบุไว้ 4 รัฐ หลังจาก ECI เลื่อนจัดการเลือกตั้งในรัฐมิโซรัมออกไปเป็นวันที่ 11 เมษายน เนื่องจากมีกลุ่มวัยรุ่น สตรี และองค์กรเอกชนรวมตัวกันชุมนุมประท้วงไปทั่วรัฐโดยปักหลักตามถนนสายหลักตั้งแต่วันจันทร์ที่ผ่านมา เป็นเวลานานถึง 72 ชม. ขณะที่เมืองไอซาล ซึ่งเป็นเมืองหลวงของรัฐ ได้ออกมาประกาศเตือนให้ประชาชนหลีกเลี่ยงการเดินทางออกนอกบ้านจนกว่าจะถึงวันที่ 10 เมษายน การชุมนุมประท้วงในครั้งนี้ส่งผลให้สถานที่ราชการทุกแห่งในรัฐปิดทำการ และไม่มีรถสาธารณะให้บริการ ทั้งนี้การชุมนุมดังกล่าวมีสาเหตุมาจากกลุ่มผู้ชุมนุมโกรธเคืองที่คณะกรรมการการเลือกตั้งอนุญาตให้ผู้ลี้ภัยชนเผ่าบรู (Bru) ที่หลบหนีจากรัฐมิโซรัมไปยังรัฐข้างเคียงอย่างตริปุระเมื่อครั้งที่เกิดความขัดแย้งทางเชื้อชาติเกือบ 17 ปีก่อน สามารถร่วมลงคะแนนเสียงเลือกตั้งจากค่ายพักลี้ภัยที่ตั้งอยู่ทางตอนเหนือของรัฐตริปุระผ่านทางไปรษณีย์ได้ ชนเผ่าบรูที่อาศัยรัฐตริปุระมาตั้งแต่ 17 ปีที่แล้ว มีจำนวนทั้งหมดประมาณ 36,000 คน และมีผู้ลงทะเบียนมีสิทธิ์เลือกตั้งในรัฐจำนวน 11,500 คน ซึ่งพวกเขาก็ได้ลงคะแนนบนบัตรเลือกตั้งและส่งไปรษณีย์ไปแล้ว

เศรษฐกิจอินเดียกับภาวะถดถอย

เป็นที่ทราบกันดีว่า อินเดียเป็นแผ่นดินใหญ่ที่มีประชากรอาศัยอยู่กันอย่างแออัด 2 ใน 3 ของประชากรทั้งหมดของประเทศมีฐานะยากจน เศรษฐกิจอินเดียในปัจจุบันต้องเผชิญกับปัญหาราคาอาหารแผง การทุจริต ความไม่ปลอดภัย และปัญหาที่เกี่ยวกับโครงสร้างพื้นฐาน อาทิ ถนน ไฟฟ้า และน้ำสะอาด

ในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา หุ้น และสกุลเงินของอินเดียต่างฟื้นตัวขึ้นเนื่องจากความคาดหวังที่ว่า นายนาเรนดรา โมดีแห่งพรรค BJP จะสามารถจัดตั้งรัฐบาลผสมที่มีความแข็งแกร่ง และชุบเศรษฐกิจอินเดียให้ขึ้นแท่นเขตเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดเป็นลำดับ 3 ของเอเชียได้ ขณะที่นายกรัฐมนตรีมานโมฮัน ซิงห์แห่งพรรค INC ได้รับคะแนนความนิยมลดลงเนื่องจากกรณีการรับผลประโยชน์โดยมิชอบด้วยกฏหมาย ขณะที่กองทุนต่างๆทั่วโลกได้อัดฉีดเงินทุนมูลค่า 1.1 หมื่นล้านดอลลาร์เข้าสู่ระบบหนี้ และหุ้นของอินเดีย โดยหวังว่ารัฐบาลชุดใหม่จะสามารถกู้สภาพคล่องทางเศรษฐกิจของอินเดียกลับคืนมาได้ หลังจากที่ในปีงบประมาณสิ้นสุดวันที่ 31 มีนาคม 2556 เศรษฐกิจอินเดียชะลอตัวลงแตะระดับต่ำสุดในรอบ 10 ปี ขณะที่ค่าเงินรูปีแข็งค่าขึ้น 3.2% ในไตรมาสก่อน

นักวิเคราะห์การเมืองอิสระรายหนึ่งระบุว่า “ภาพลักษณ์ และเศรษฐกิจของอินเดียย่ำแย่ เนื่องจากขาดการตัดสินใจที่ดี"

ผลการสำรวจจาก Pew Research Center พบว่า ประชาชนส่วนมากกว่า 3 ต่อ 1 อยากให้พรรค BJP เข้ามาเป็นรัฐบาลมากกว่า ผลการสำรวจเผยว่า ประชาชนผู้ตอบแบบสำรวจเกือบ 80% มีทัศนคติที่ดีต่อนายนาเรนดรา โมดี โดยผู้ตอบแบบสำรวจ 60% ระบุว่าชื่นชอบเขามาก ขณะที่ 50% มีทัศนคติที่ดีต่อนายราหุล คานธี และมีผู้ตอบแบบสำรวจเพียง 23% เท่านั้นที่บอกว่าชื่นชอบเขา

ไดลิป ดุตตา ผู้อำนวยการกลุ่มการศึกษาวิจัยเอเชียใต้ แห่งมหาวิทยาลัยซิดนีย์ กล่าวว่า “แผนการของโมดีมีแนวโน้มที่จะพัฒนาทางเศรษฐกิจที่ดีกว่า ซึ่งส่วนใหญ่จะได้รับการสนับสนุนจากคนวัยหนุ่มสาวที่เป็นเสียงส่วนมากของการเลือกตั้งในครั้งนี้ พวกเขาหวังว่า โมดีอาจจะสามารถนำพาเศรษฐกิจไปสู่ทิศทางที่ดีขึ้นได้ ซึ่งเป็นหนทางสู่โอกาสในการทำงานของพวกเขา’"

การเลือกตั้งครั้งยิ่งใหญ่ในครั้งนี้จะนำพาเศรษฐกิจอินเดียไปในทิศทางใดนั้น ยังคงต้องรอลุ้นผลการเลือกตั้งที่ยาวนานข้ามเดือนกันต่อ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ