In Focus“นเรนทรา โมดี" นายกรัฐมนตรีความหวังใหม่ของอินเดีย

ข่าวการเมือง Wednesday May 21, 2014 15:55 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

การโค่นพรรคการเมืองเก่าแก่ที่สุดของอินเดียซึ่งบริหารประเทศมาเป็นเวลานานอย่างพรรคคองเกรส ด้วยฝีมือของพรรคภารติยะชนตะ (บีเจพี) ภายใต้การนำของนายนเรนทรา โมดี นั้น ถือเป็นการพลิกประวัติศาสตร์การเมืองของแดนภารตะ

การเลือกตั้งทั่วไปครั้งที่ 16 ของโลกสภา หรือสภาผู้แทนราษฎรของอินเดียนั้น กินระยะเวลายาวนานถึงประมาณ 5 สัปดาห์ โดยเริ่มเปิดฉากไปเมื่อวันที่ 7 เมษายน และสิ้นสุดลงในวันที่ 12 พฤษภาคมที่ผ่านมา พรรคบีเจพีสามารถเอาชนะพรรคเก่าแก่และพรรคการเมืองเล็กๆในประเทศไปได้อย่างถล่มทลาย

ด้วยความหวังถึงอนาคตอันสดใสและการเปลี่ยนแปลงของอินเดีย รวมทั้งความเชื่อมั่นที่มีต่อนายโมดี ทำให้พรรคบีเจพีมีโอกาสในการเข้ามาบริหารประเทศ แต่คุณสมบัติในตัวของนายโมดีก็เป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่มีส่วนช่วยหนุนชัยชนะในการเลือกตั้ง

นายโมดีถือเป็นนักการเมืองฝีไม้ลายมือดีคนหนึ่งของอินเดีย เขาทำหน้าที่รัฐมนตรีในรัฐคุชราตมาตั้งแต่ปี 2554 จนสามารถทำให้รัฐดังกล่าวกลายเป็นรัฐที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจของประเทศ แต่ไม่วายถูกวิจารณ์เรื่องที่เขาไม่ได้เข้ามาแก้ไขเหตุจลาจลที่เกี่ยวพันกับศาสนาเมื่อปี 2545 ที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตกว่า 1,000 ราย และส่วนใหญ่เป็นชาวมุสลิม ในเรื่องนี้ นายโมดีได้ปฏิเสธข้อกล่าวหาทั้งหลายทั้งปวง

เหตุการณ์ดังกล่าวทำให้สหรัฐปฏิเสธที่จะออกวีซ่า ส่วนอังกฤษก็ตัดความสัมพันธ์ที่มีอยู่กับนายโมดี แต่อีก 10 ปีต่อมา นักการเมืองผู้นี้ก็สามารถกลับเข้าสู่กระแสการเมืองหลักได้ เมื่อปีที่แล้ว เอกอัครราชทูตสหรัฐได้เข้าพบนายโมดีเพื่อหารือเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐและอินเดีย ประเด็นเรื่องความมั่นคงในภูมิภาค สิทธิมนุษยชน การค้าและการลงทุนของสหรัฐในอินเดีย ส่วนอังกฤษเองก็ส่งผู้แทนระดับสูงเข้าพบนายโมดี และเชิญให้นายโมดีกล่าวปราศรัยที่รัฐสภา

การที่เศรษฐกิจในรัฐคุชราตขยายตัวอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งภาพลักษณ์ของผู้บริหารที่ปราศจากการทุจริตและมีศักยภาพ ส่งผลให้นายโมดีได้รับการคัดเลือกเข้ามาทำหน้าที่รัฐมนตรีที่ดูแลรัฐคุชราตถึง 3 สมัย สำหรับชีวิตส่วนตัวของนายโมดีนั้นก็ไม่วายอยู่ภายใต้เสียงวิจารณ์เรื่องการทิ้งภรรยา โมดีแต่งงานกับภรรยาเมื่ออายุได้ 17 ปีจากการคลุมถุงชน แต่ทั้งคู่แทบจะไม่ได้อยู่ด้วยกัน นายโมดีพยายามที่จะหลีกเลี่ยงการตอบคำถามเกี่ยวกับชีวิตส่วนตัวมาโดยตลอด ท่ามกลางเสียงร่ำลือที่ว่า เขาต้องการที่จะอยู่ในสถานะโสดหรือสถานะที่ใกล้เคียงกับผู้ทรงศีลด้วยเหตุผลของชาวฮินดู

นักวิเคราะห์ กล่าวว่า สาเหตุที่ทำให้นายโมดีสามารถรอดจากปากเหยี่ยวปากกามาได้นั้น เป็นเพราะฐานเสียงสนับสนุนที่แข็งแกร่งของผู้บริหารกลุ่ม Rashtriya Swayamsevak Sangh (RSS) ซึ่งเป็นองค์กรที่มีอิทธิพลในกลุ่มชาวฮินดู

นอกเหนือไปจากฐานเสียงที่แข็งแกร่งแล้ว กลยุทธ์ในการหาเสียงของนายโมดีก็เป็นอีกองค์ประกอบที่ผลักดันให้เขาและพรรคบีเจพีโค่นพรรคการเมืองเก่าแก่ของประเทศได้ในที่สุด

กลยุทธ์การใช้โซเชียลมีเดียกับการหาเสียง

การใช้โซเชียล มีเดีย ถือเป็นอีกหนึ่งกลยุทธ์ที่ทำให้นายโมดีและพรรคสามารถเข้าถึงกลุ่มผู้มีสิทธิลงคะแนนเสียงและกวาดคะแนนไปได้มาก ทีมงานของนายโมดีนั้น เรียกได้ว่ามีอนาคตไกล หลังเลือกใช้โซเชียลมีเดียเจาะกลุ่มผู้มีสิทธิลงคะแนนเสียงรุ่นใหม่ การประกาศชัยชนะในการเลือกตั้งของนายโมดีไม่ได้เกิดขึ้นที่กรุงนิวเดลี เมืองหลวงของประเทศ หรือที่รัฐคุชราต ซึ่งเป็นบ้านเกิดของนายโมดีแต่อย่างใด

ภายหลังจากที่ได้มีการประกาศผลการเลือกตั้งอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 16 มี.ค. นายโมดีเลือกที่จะประกาศชัยชนะผ่านทางข้อความในทวิตเตอร์ โดยข้อความที่นายโมดีตั้งใจส่งถึงผู้ติดตามทวิตเตอร์ของตนเองกว่า 4 ล้านคน ก็คือ “India has won. Good days are ahead."

ข้อความแห่งชัยชนะนี้ถูกรีทวิตถึงกว่า 69,000 ครั้ง ซึ่งถือเป็นหลักฐานที่บ่งชี้ถึงความดังและความชื่นชอบที่กลุ่มผู้มีสิทธิลงคะแนนเสียงมีต่อนายโมดี ในขณะที่พรรคคองเกรสไม่ได้ใช้โซเชียลมีเดียใดๆ แม้แต่การประกาศยอมรับความพ่ายแพ้ของนายราหุล คานธี หัวหน้าพรรคก็ยังคงเป็นการกล่าวปราศรัยที่สั้นมากเพียง 30 วินาทีที่สำนักงานใหญ่ของพรรคที่กรุงนิวเดลี

หนึ่งในกรรมการหาเสียงของพรรคบีเจพี เปิดเผยว่า โมดีมีเครื่องมือสื่อสารหลายแบบ เราต้องการที่จะสื่อสารกับกลุ่มผู้มีสิทธิลงคะแนนเสียงรุ่นเยาว์ด้วยภาษาที่พวกเขาเข้าใจ และไม่ต้องการยึดติดกับรูปแบบของภาษาในการหาเสียงแบบเดิมๆ

อินเดียมีผู้ใช้อินเทอร์เน็ตประมาณ 205 ล้านราย และคาดว่า จำนวนผู้ใช้อินเทอร์เน็ตจะสูงขึ้นถึง 370 ล้านรายภายในปี 2558 สำหรับประเทศที่มีประชากรถึง 1.2 พันล้านราย การเข้าถึงกลุ่มผู้ใช้สมาร์ทโฟนที่มีสัดส่วนถึง 70% นั้น ถือเป็นกลยุทธ์ที่มีส่วนช่วยนำพาชัยชนะมาสู่พรรคบีเจพีและนายโมดี

พรรคบีเจพีได้เริ่มแคมเปญหาเสียงแบบดิจิตอลเมื่อเดือนก.ค.ปีที่แล้ว ในชื่อ Mission 272+ ตัวเลขดังกล่าวคือที่นั่งที่ทางพรรคต้องการกวาดคะแนนเสียงมาให้ได้ และยังมีแคมเปญ NaMo Number ซึ่งเปิดโอกาสให้ผู้มีสิทธิลงคะแนนเสียงใช้มือถือเพื่อสมัครเข้าเป็นสมาชิกในฐานข้อมูลของพรรค ซึ่งถือเป็นการสร้างเครือข่ายของผู้ลงคะแนน

ท้ายที่สุด พรรคบีเจพีก็สามารถกวาดที่นั่งในรัฐสภาไปได้ 282 ที่นั่ง จากทั้ง 543 ที่นั่ง ในขณะที่พรรคคองเกรส กวาดที่นั่งไปได้เพียง 44 ที่นั่งเท่านั้น

ฟีดแบคถึงนายกฯคนใหม่แดนภารตะ

มอร์แกน สแตนลีย์, ซิตี้ กรุ๊ป และโนมูระ โฮลดิ้ง ต่างมองในมุมเดียวกันว่า การเข้ามาทำหน้าที่ของนายโมดีจะทำให้เศรษฐกิจของอินเดียขยายตัวเร็วขึ้นในช่วง 2-3 ปีข้างหน้า เนื่องจากนายโมดีวางแผนที่จะดึงดูดการลงทุนและสร้างท่าเรือ ถนนหนทาง และสะพานเพิ่มขึ้น โดยมอร์แกน สแตนลีย์ คาดการณ์ว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศหรือจีดีพีของอินเดียจะขยายตัวถึง 6.5% ไปจนถึงช่วงเดือนมี.ค. 2559

นอกจากนี้ ซิตี้กรุ๊ปและโนมูระก็ได้ปรับเพิ่มคาดการณ์เศรษฐกิจอินเดียเช่นกัน โดยทั้ง 2 สำนักคาดว่า เศรษฐกิจอินเดียจะขยายตัว 6.5% ในปีงบประมาณ 2559 ซึ่งเป็นตัวเลขคาดการณ์ที่สูงขึ้นจากการคาดการณ์ก่อนหน้านี้ที่ 6.2% และ 5.7% ตามลำดับ

ชัยชนะของโมดียังจุดประกายให้เกิดมุมมองที่เป็นบวกว่า เศรษฐกิจอินเดียจะแซงหน้าประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ด้วยกัน เนื่องจากรัสเซียเองต้องรับมือกับผลพวงจากสถานการณ์ตึงเครียดในยูเครน และจีนเองก็ยังต้องแก้ปัญหาหนี้เสียที่สูงขึ้น รวมถึงการขยายตัวของเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลง

นักเศรษฐศาสตร์ของต่างชาติมองว่า นายโมดีอาจจะดูแลให้นโยบายการอนุมัติโครงการสาธารณูปโภคพื้นฐานและอุตสาหกรรมเป็นไปอย่างสะดวกและราบรื่นยิ่งขึ้น รวมทั้งช่วยเหลือบริษัทเอกชนให้ปรับปรุงงบบัญชี และกระตุ้นเงินทุนของธนาคาร ซึ่งการปรับเปลี่ยนนโยบายครั้งใหญ่นี้ จะทำให้บรรยากาศในแวดวงธุรกิจและกำไรของภาคเอกชนดีขึ้น

การลงทุนในภาคเอกชนของอินเดียเมื่อปีงบประมาณที่ผ่านมานั้น ร่วงลงมาอยู่ที่ 9.2% ของจีดีพี ซึ่งถือเป็นระดับที่ต่ำที่สุดนับตั้งแต่ปี 2548

ความหวังใหม่ที่มาพร้อมกับความท้าทาย

สื่อต่างชาติตั้งคำถามเกี่ยวกับภาระหน้าที่ที่รอนายโมดีอยู่ข้างหน้าไว้อย่างน่าสนใจเนื่องจากหลายฝ่ายตั้งความหวังถึงเรื่องบรรยากาศที่เปิดกว้างและเป็นมิตรสำหรับการลงทุน ภายหลังจากที่ได้มีการจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่ แต่ประเด็นที่สื่อมองว่า นายโมดีจะต้องพิสูจน์ให้เห็นได้อย่างชัดเจนว่า อินเดียเปิดกว้างสำหรับการทำธุรกิจ ก็คือ การแก้ไขข้อพิพาทเกี่ยวกับภาษีกับบริษัทต่างชาติ

ผู้บริหารของบริษัทต่างชาติและนักลงทุนต่างจับตากันอย่างใกล้ชิดว่า นายกฯ และครม.ชุดใหม่ของอินเดียจะสามารถแก้ปัญหาความขัดแย้งเรื่องภาษีที่ค้างคามานานจากรัฐบาลชุดที่แล้วได้หรือไม่

ประเด็นเรื่องภาษีดังกล่าว เกี่ยวกับพันกับหลายบริษัทชื่อดัง อาทิ โวดาโฟน, โนเกีย และจีอี โดยผู้บริหารพรรคบีเจพีรับว่า ยังเร็วเกินไปที่จะกำหนดแผนสำหรับเศรษฐกิจอินเดีย แต่พรรควางแผนที่จะปรับโครงสร้างภาษีของประเทศ และใช้มาตรการต่างๆเพื่อทำให้อินเดียเป็นจุดหมายปลายทางด้านการลงทุนที่น่าสนใจมากยิ่งขึ้น

นอกจากสถานการณ์ท้าทายที่เกี่ยวพันกับต่างประเทศแล้ว อุปสรรคภายในประเทศที่อาจจะเกิดขึ้นก็ยังคงเป็นประเด็นที่ท้าทายสำหรับรัฐบาลชุดใหม่ไม่น้อยไปกว่ากัน

สื่อต่างชาติมองว่า การที่พรรคบีเจพีสามารถกวาดที่นั่งในสภาผู้แทนราษฏรไปได้ถึง 282 ที่นั่ง ส่วนพรรคคองเกรสได้ไป 44 ที่นั่ง และพรรคการเมืองขนาดเล็กต่างๆที่กวาดไปได้ 148 ที่นั่งนี้ อาจจะเป็นการปูทางให้พรรครัฐบาลสามารถผ่านกฎหมายได้อย่างราบรื่นในระดับสภาล่าง แต่ในระดับหน่วยงานของรัฐแต่ละรัฐและสภาสูงแล้ว อาจจะเกิดอุปสรรคในขั้นตอนการพิจารณาของหน่วยงานรัฐเหล่านี้ก็เป็นได้ เนื่องจากบีเจพีสามารถกวาดที่นั่งไปได้เพียง 61 ที่นั่ง จากจำนวนสมาชิกทั้งหมดในสภาสูง 245 ที่นั่ง นอกเหนือไปจากนี้ ระบบข้าราชการของอินเดียก็ยังติดอันดับย่ำแย่ในกลุ่มเศรษฐกิจ 12 ประเทศ การที่จะปรับปรุงระบบที่หยั่งรากลึกมานานเช่นนี้ พรรคบีเจพีคงจะต้องทำงานหนักไม่น้อยเลยทีเดียว

เช่นเดียวกับปัญหาในบริเวณแคว้นแคชเมียร์ ซึ่งประชาชนส่วนใหญ่เป็นชาวมุสลิม ส่งผลให้มีความหวั่นเกรงกันว่า พรรคบีเจพีอาจจะเดินหน้านโยบายในการต่อต้านชาวมุสลิม รวมถึงการเพิกถอนมาตรา 370 ของรัฐธรรมนูญ ซึ่งมาตรา 370 นี้ ถือเป็นมาตราพิเศษที่ให้สถานะพิเศษแก่แคว้นแคชเมียร์ เรื่องนี้คงจะเป็นประเด็นที่ต้องติดตามกันต่อไปว่า พรรคบีเจพีจะมีจุดยืนเช่นไร


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ