ขณะที่สถานการณ์ด้านมนุษยธรรม "ยังคงย่ำแย่" แต่นายมลาเดนอฟชี้ว่า "ปัญหาในอิรักสามารถคลี่คลายลงได้ และทุกฝ่ายจะกลับมาเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันได้อีกครั้ง"
ทั้งนี้ นายมลาเดนอฟได้ตั้งความหวังต่อรัฐบาลชุดใหม่ หลังจากที่ได้มีการลงคะแนนไปเมื่อวันที่ 30 เม.ย. และคาดว่าจะมีการเลือกตั้งประธานสภาผู้แทนราษฎรอิรักและก่อต้งรัฐบาลหลังจากวันที่ 1 ก.ค.
"นี่เป็นขั้นตอนทางรัฐธรรมนูญที่จำเป็นต่อกระบวนการทางการเมืองอิรัก" นายมลาเดนอฟ กล่าว "ดังนั้นเราจึงหวังว่าพวกเขาจะสามารถเปิดตัวได้อย่างรวดเร็วหลังจากวันที่ 1 ก.ค."
เขากล่าวว่า คณะทำงานด้านความช่วยเหลือของยูเอ็นในอิรัก (UNAMI) ซึ่งเขาเป็นผู้นำทีมนั้น ได้มีการ "ร่วมงานอย่างหนักกับบรรดาผู้แทนจากทุกพรรคการเมือง" พร้อมเสริมว่าเหล่าผู้แทนตระหนักดีว่า "นี่ไม่ใช้เรื่องปกติอีกต่อไป"
"เราเห็นพ้องต้องกันว่า รัฐบาลชุดต่อไปต้องประกอบไปด้วยคณะผู้แทนจากทุกภาคส่วนในอิรัก และจำเป็นต้องมีการกำหนดทิศทางจากคณะทำงาน ที่สามารถรับมือกับความท้าทายได้อย่างรวดเร็ว เช่นเดียวกับหลอมรวมประชาคมอันหลากหลายเข้าไว้ด้วยกัน" นายมลาเดนอฟ กล่าว "โดยองค์ประกอบของรัฐบาลชุดใหม่นั้นขึ้นอยู่กับเหล่าผู้แทนที่ได้รับการเลือกตั้งตามหลักประชาธิปไตย"
ทั้งนี้ รัฐบาลชุดปัจจุบันของนายกรัฐมนตรีนูรี อัล-มาลิกี ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักว่าเอื้อหนุนนิกายชีอะฮ์มากเกินไป จนทำให้ชาวอิรักเหล่านี้เลือกที่จะเข้าข้างกลุ่มรัฐอิสลามแห่งอิรักและเลแวนท์ (ISIL) และรัฐอิสลามในอิรักและซีเรีย (ISIS) นิกายซุนนี ซึ่งได้กระจายกำลังไปทั่วอิรักและเป็นภัยเสี่ยงต่อกรุงแบกแดด
อย่างไรก็ตาม นายมลาเดนอฟไม่คิดว่ากลุ่ม ISIS จะบุกโจมตีกรุงแบกแดด โดยกล่าวว่า "ผมมองว่าพวกเขาพยายามที่จะแบ่งแยกกรุงแบกแดด" และเสริมว่ากรุงแบกแดดมีกำลังทหารคุ้มกันเป็นจำนวนมาก สำนักข่าวซินหัวรายงาน