แถลงการณ์อย่างเป็นทางการของอียูระบุว่า มาตรการคว่ำบาตรครั้งใหม่นี้เป็นการ "บังคับใช้นโยบายของอียูซึ่งไม่ยอมรับการผนวกดินแดนอย่างผิดกฎหมายโดยรัสเซีย และเป็นไปตามข้อสรุปของสภาวิเทศสัมพันธ์ เมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน"
มาตรการคว่ำบาตรชุดใหม่จะส่งผลให้ชาวยุโรปและบริษัทที่ตั้งอยู่ในประเทศสมาชิกอียูไม่สามารถซื้ออสังหาริมทรัพย์ หรือนิติบุคคลในไครเมีย ตลอดจนจัดหาเงินทุนให้บริษัทในไครเมีย หรือบริการที่เกี่ยวข้องได้อีกต่อไป
นอกจากนี้ ผู้ประกอบการท่องเที่ยวในอียูจะไม่ได้รับอนุญาตให้ดำเนินธุรกิจบริการในไครเมีย หรือเซวาสโตโพล โดยเฉพาะธุรกิจเรือสำราญยุโรปอาจไม่สามารถแวะเทียบท่าในคาบสมุทรไครเมียได้อีก ยกเว้นกรณีฉุกเฉิน มาตรการนี้มีผลบังคับใช้กับเรือทุกลำของยุโรป หรือเรือที่ติดธงชาติของสมาชิกอียู อย่างไรก็ดี สัญญาเดินเรือในปัจจุบันจะได้รับการอนุโลมให้มีผลต่อไปได้จนถึงวันที่ 20 มีนาคมปีหน้า
อียูยังได้ห้ามส่งออกสินค้าและเทคโนโลยีบางประเภทที่เกี่ยวข้องกับภาคขนส่ง โทรคมนาคม และภาคพลังงาน หรือการสำรวจและผลิตน้ำมัน ก๊าซ และทรัพยากรแร่ แก่บริษัทไครเมีย หรือสำหรับใช้ในไครเมีย
คำสั่งนี้ยังครอบคลุมถึงความช่วยเหลือด้านเทคนิค การเป็นนายหน้า การก่อสร้าง หรือบริการทางวิศวกรรมที่เกี่ยวข้องกับโครงสร้างพื้นฐานในภาคอุตสาหกรรมต่างๆดังกล่าว
มาตรการเหล่านี้เพิ่มเติมจากเมื่อเดือนมิถุนายนซึ่งอียูได้ประกาศห้ามนำเข้าสินค้าจากไครเมีย และเซวาสโตโพล ตลอดจนประกาศเมื่อเดือนกรกฎาคมซึ่งจำกัดการค้าและการลงทุนที่เกี่ยวข้องกับภาคเศรษฐกิจและโครงสร้างพื้นฐานบางโครงการ