ปฏิบัติการทางทหารครั้งนี้มีขึ้นเพื่อตอบสนองคำขอของประธานาธิบดีอับดู ราบู แมนซูร์ ฮาดีของเยเมน ซึ่งต้องการให้มีการแทรกแซงทางทหารในประเทศทันที ภายหลังกลุ่มฮูตีรุกรานเมืองทางตอนใต้ของประเทศ
ทว่าผู้สังเกตการณ์มองว่า การแทรกแซงจากต่างชาติถือเป็นดาบสองคม ที่ถึงแม้จะทำให้กลุ่มกบฎหัวรุนแรงยอมอ่อนข้อ แต่ก็อาจนำมาสู่ปฏิกิริยาโต้กลับที่แข็งกร้าวและความรุนแรงที่บานปลายตามมา
ดาบสองคม
ฟูอัด อัลซาลาฮี ศาสตราจารย์ด้านสังคมวิทยาทางการเมืองแห่งมหาวิทยาลัยซานา กล่าวว่า การแทรกแซงของต่างชาติทุกรูปแบบไม่เป็นที่พึงประสงค์ เพราะไม่ว่าจะแง่มุมใด สุดท้ายมีแค่ประชาชนเยเมนที่พ่ายแพ้อยู่ฝ่ายเดียว
"นี่คือสิ่งที่กระทบอำนาจอธิปไตยของเยเมน ผมคิดว่ามันไม่ได้แก้ปัญหาหรือกอบกู้ความชอบธรรม ซ้ำจะทำให้ความไม่ลงรอยกันหยั่งรากลึกและการต่อสู้ดิ้นรนยิ่งหนักหน่วงขึ้น"อัลซาลาฮีระบุ
ปฏิบัติการทางทหารครั้งนี้เกิดขึ้นท่ามกลางสถานการณ์ในเยเมนที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วจนประเทศเข้าใกล้ภาวะสงครามกลางเมืองโดยสมบูรณ์ รวมถึงหายนะทางมนุษยธรรม เนื่องจากวิกฤตทางการเมืองปัจจุบันทำให้สถานการณ์ที่ท้าทายทางเศรษฐกิจรุนแรงขึ้น
อัลดุล ซาลาม มูฮัมหมัด ผู้อำนวยการศูนย์การศึกษาและวิจัย ABAAD กล่าวว่า ปฏิบัติการทางทหารถือเป็นสิ่งยึดเหนี่ยวสุดท้ายที่ใช้คุ้มครองกระบวนการทางการเมือง หลังจากที่ผู้คนอีกซีกหนึ่งยืนกรานจะใช้ความรุนแรง
"กลุ่มฮูตีมีโอกาสที่จะยับยั้งสถานการณ์ให้พ้นการแทรกแซงจากต่างชาติได้ กลุ่มฮูตีสามารถส่งมอบความสงบเรียบร้อยแทนสงครามก็ได้" เขากล่าว "ปฏิบัติการดังกล่าวอาจเพิ่มโอกาสในการสานต่อการหารือ และคาดว่า กลุ่มกบฎจะหลีกเลี่ยงการท้าทายกองทัพ"
ทั้งนี้ 5 ประเทศในอ่าวอาหรับ ประกอบด้วย อียิปต์ จอร์แดน โมรอกโก ซูดาน และปากีสถานได้ร่วมมือกันเดินหน้าปฏิบัติการ ซึ่งรวมไปถึงการโจมตีกองกำลังของกลุ่มฮูตี
นายนาบิล อัล-อราบิ เลขาธิการใหญ่ของสันนิบาตอาหรับกล่าวในที่ประชุมสุดยอดอาหรับ ซึ่งจัดขึ้นเมืองชาร์ม เอล-ชีค เมืองตากอากาศของอียิปต์ที่อยู่ติดทะเลแดง ว่า กำลังทหารบกจากซาอุดิอาระเบีย อียิปต์ ซูดาน และ ปากีสถานจะเข้าไปแทรกแซงสถานการณ์ในเยเมน หากเป็นเรื่องที่จำเป็น
นาจีบ กาหลับ ศาสตราจารย์ด้านการเมืองแห่งมหาวิทยาลัยซานา กล่าวว่า การยึดอำนาจโดยกบฎฮูตีอาจทำให้เศรษฐกิจและเสถียรภาพของเยเมนล่มสลาย
เขากล่าวว่า ไม่ควรมองว่าปฏิบัติการของกองกำลังพันธมิตรซึ่งนำโดยซาอุดิอาระเบียเป็นการบุกรุกหรือก้าวก่าย เพราะเยเมนเองก็เป็นสมาชิกสันนิบาตอาหรับ
ขณะเดียวกัน บรรดาผู้สังเกตการณ์มองว่า ปฏิบัติการทางทหารของชาติอาหรับไม่น่าจะทำให้การแย่งชิงอำนาจบานปลายหรือกระทบกับการหารือเกี่ยวกับโครงการนิวเคลียร์อิหร่าน
อานิส มันซูร์ นักวิเคราะห์ด้านการเมืองและนักเขียนในเมืองเอเดน กล่าวว่า การเจรจาเรื่องนิวเคลียร์ของอิหร้านนั้น เป็นเรื่องที่ไม่สามารถคาดการณ์ได้ว่าเกี่ยวโยงกันกับสถานการณ์ในเยเมน อิทธิพลของอิหร้านในเยเมนนั้นเป็นเรื่องที่ประเทศในกลุ่ม GCC และอียิปต์วิตกกังวลอยู่
ความรุนแรงบานปลาย
ในช่วงไม่กี่วันที่ผ่านมา กลุ่มกบฎฮูตีเปิดฉากการสู้รบที่รุนแรงกับกองทัพเยเมนและกลุ่มนักรบพื้นเมืองซึ่งสนับสนุนปธน.ฮาดี เพื่อยึดครองพื้นที่ทางใต้ของประเทศ โดยมีเสียงยิงปืนอย่างดุเดือดซึ่งสามารถได้ยินได้จากชานเมืองของเมืองเอเดน ซึ่งเป็นเมืองที่ประธานาธิบดีเยเมนกำหนดเป็นเมืองหลวงชั่วคราวเมื่องสัปดาห์ที่แล้ว ขณะที่กรุงซานาปัจจุบันถูกยึดครองโดยกลุ่มฮูตีมาเป็นเวลาเกือบครึ่งปีแล้ว
ณ กรุงซานา ซึ่งเป็นเมืองท่าแห่งนี้ กิจการการด้านการทูตระหว่างประเทศทั้งหมดมีอันต้องยุติไป ในขณะที่ท่าอากาศยานานาชาติเอเดนก็ปิดบริการ เนื่องจากพนักงานต่างเกรงกลัวและไม่กลับเข้ามาทำงาน ส่วนเจ้าหน้าที่ทูตของประเทศในอ่าวอาหรับต่างพากันเดินทางออกนอกประเทศแล้ว
ผู้สังเกตการณ์ระบุว่า การโจมตีภาคใต้ของเยเมนอาจทำให้ประชาชนเดือนร้อนสาหัสและก่อให้เกิดความโกลาหล
มูฮัมหมัดแห่งศูนย์ ABAAD กล่าวว่า การโจมตีในภาคใต้ของเยเมนอาจจุดชนวนการแบ่งแยกได้ เนื่องจากประชาชนในภาคใต้ไม่เคยยอมรับกลุ่มกบฎฮูตีที่ฝักใฝ่อิหร่านและรัฐบาลชุดก่อนๆที่เข้ามาปกครองอยู่แล้ว
"การแบ่งแยก การก่อการร้ายที่เพิ่มขึ้น และภัยคุกคามต่อสายน้ำสำคัญๆ จะเป็นผลพวงที่เกิดขึ้นทันที ท้ายที่สุดสงครามกลางเมืองที่ไม่มีวันสิ้นสุดจะเกิดขึ้น" มูฮัมหมัดกล่าว
ฟูอัด ราเจห์ สำนักข่าวซินหัวรายงาน