โอบามากล่าวกับผู้นำชาติอาหรับทั้ง 4 ประเทศทางโทรศัพท์ว่า ทุกฝ่ายจะมีการสรุปรายละเอียดทางเทคนิคขั้นสุดท้ายในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า เพื่อสร้างความเชื่อมั่นว่าโครงการนิวเคลียร์ของอิหร่านจะถูกนำมาใช้เพื่อสันติภาพอย่างแท้จริง พร้อมกับย้ำว่า สหรัฐจะทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดกับประเทศพันธมิตร เพื่อไม่ให้อิหร่านกระทำการใดๆที่จะบั่นทอนเสถียรภาพในภูมิภาค
นอกจากนี้ โอบามายังได้เชิญผู้นำกลุ่มประเทศความร่วมมืออ่าวอาหรับ (GCC) ซึ่งเป็นพันธมิตรกับซาอุดิอระเบีย คูเวต สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ กาตาร์ โอมาน และบาห์เรน ให้ไปพบปะหารือกันที่บ้านพักแคมป์ เดวิด ในช่วงฤดูใบไม้ผลินี้
ส่วนทางด้านซาอุดิอาระเบีย ซึ่งไม่ลงรอยกันกับอิหร่านนั้น ยังคงแสดงท่าทีเงียบเฉยหลังจากที่มีการบรรลุข้อตกลงนิวเคลียร์ ขณะที่เจ้าหน้าที่ระดับสูงของประเทศอาหรับคาดว่า ภายในอีกไม่กี่วันข้างหน้านี้ ประเทศสมาชิก GCC จะออกมาแสดงปฏิกริยาเกี่ยวกับข้อตกลงในครั้งนี้
ด้านนายกรัฐมนตรีเบนจามิน เนทันยาฮูของอิสราเอล ได้แสดงท่าทีต่อต้านข้อตกลงนิวเคลียร์อย่างรุนแรง โดยกล่าวว่า กรอบข้อตกลงนิวเคลียร์เป็นอันตรายอย่างยิ่งต่ออิสราเอล ต่อภูมิภาค และประเทศทั่วโลก
"ข้อตกลงนิวเคลียร์จะส่งผลคุกคามการอยู่รอดของอิสราเอล อีกทั้งจะทำให้อิหร่านกลายเป็นประเทศที่มีความชอบธรรมตามกฎหมาย นอกจานี้ จะเพิ่มความแข็งกร้าวให้กับอิหร่าน และจะทำให้เกิดเหตุก่อการร้ายทั่วทั้งตะวันออกกลางและภูมิภาคอื่นๆ
สำหรับข้อตกลงนิวเคลียร์ซึ่งทำขึ้นระหว่างอิหร่านและกลุ่มประเทศ P5+1 ซึ่งประกอบด้วย สหรัฐ ฝรั่งเศส อังกฤษ รัสเซีย จีน และเยอรมนี นั้น ระบุว่า อิหร่านจะต้องจำกัดขีดความสามารถและระดับการเสริมสมรรถนะแร่ยูเรเนียม รวมถึงสต็อกแร่ยูเรเนียม และจะไม่มีโรงงานเสริมสมรรถนะยูเรเนียมที่อื่น นอกจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์นาทานซ์ของอิหร่าน
นอกจากนี้ ข้อตกลงยังระบุด้วยว่า อิหร่านอนุญาตให้สำนักงานพลังงานปรมาณูสากล (IAEA) เข้าตรวจสอบโรงงานนิวเคลียร์ของอิหร่านทั้งหมดได้ตามปกติ และตกลงที่จะทำการออกแบบและสร้างเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์แบบน้ำมวลหนัก (heavy water reactor) ใหม่อีกรอบในเมืองอารัก ซึ่งเตาปฏิกรณ์ที่ได้รับการออกแบบใหม่นี้ จะไม่ผลิตพลูโตเนียมชนิดผลิตอาวุธ (weapons-grade plutonium)