ถ้อยแถลงยังระบุด้วยว่า โครงการชายฝั่งทะเลอันดามันเป็นโครงการที่จะช่วยสร้างหนึ่งในเขตเศรษฐกิจพิเศษที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในฐานะเส้นทางเข้าออกทางการค้าระหว่างภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงกับอินเดีย ตะวันออกกลาง และแอฟริกา ขณะเดียวกันก็จะเชื่อมต่อกับพม่าโดยใช้เส้นทางถนนที่มุ่งสู่ประเทศไทย กัมพูชา และเวียนามตอนใต้
นอกจากนี้ ผู้นำทั้งสองคาดหวังว่า การทำข้อตกลงระดับไตรภาคีกับเมียนมาร์เพื่อการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษในเมียนมาร์ จะช่วยกระตุ้นความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างญี่ปุ่นและประเทศกลุ่มอาเซียน
ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่ของรัฐบาลทั้ง 3 ประเทศได้ร่วมลงนาม MOI ในวันนี้ ซึ่งความเคลื่อนไหวดังกล่าวถือเป็นสัญลักษณ์ของการเชื่อมต่อที่เพิ่มขึ้นในภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง
ในโอกาสนี้ พล.อ.ประยุทธ์ได้แสดงความชื่นชมความคิดริเริ่มของญี่ปุ่น ในการสนับสนุน "การลงทุนด้านสาธารณูโภคที่มีคุณภาพ" ในเอเชีย พร้อมกับให้คำมั่นว่าจะใช้มาตรการต่างๆเพื่อฟื้นฟูบรรยากาศการลงทุนในประเทศไทย นอกจากนี้ พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า ไทยจะเดินหน้าสร้างความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นกับญี่ปุ่นในด้านความมั่นคง
สำหรับการประชุมระหว่างผู้นำญี่ปุ่นและ 5 ผู้นำประเทศกลุ่มอาเซียนลุ่มแม่น้ำโขงในวันนี้ ญี่ปุ่นได้ให้คำมั่นสัญญาจะมอบเงินช่วยเหลือรอบใหม่มูลค่า 7.50 แสนล้านเยน หรือ 6.1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ให้กับ 5 ประเทศสมาชิกอาเซียนลุ่มแม่น้ำโขง ซึ่งได้แก่ ไทย กัมพูชา ลาว เมียนมาร์ และเวียดนาม โดยเงินช่วยเหลือดังกล่าวเป็นวงเงินสำหรับระยะเวลา 3 ปีข้างหน้า ซึ่งมีเป้าหมายที่จะช่วยเหลือด้านการพัฒนาภูมิภาคอาเซีย อีกทั้งจะช่วยกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจและยกระดับการเชื่อมต่อกันในภูมิภาคอาเซียนซึ่งเป็นภูมิภาคที่มีการขยายตัวอย่างรวดเร็ว
ในการประชุมครั้งนี้ มีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีของไทย, นายกรัฐมนตรีฮุน เซน ของกัมพูชา, นายทองสิง ทำมะวง นายกรัฐมนตรีลาว, นายเต็ง เส่ง ประธานาธิบดีเมียนมาร์, นายเหงียน เติ๊น สุง นายกรัฐมนตรีเวียดนาม เข้าร่วมประชุมด้วย สำนักข่าวเกียวโดรายงาน