Analysis: นักวิเคราะห์ชี้ตุรกีสอยเครื่องบินรบรัสเซียร่วง ชนวนแห่งความร้าวฉานระหว่างประเทศ

ข่าวการเมือง Wednesday November 25, 2015 16:54 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

เกิดกระแสความวิตกกังวลที่ว่า ความขัดแย้งจะขยายวงมากยิ่งขึ้น ภายหลังจากที่กองทัพตุรกีได้ยิงเครื่องบินรบของรัสเซียร่วงใกล้บริเวณชายแดนซีเรียเมื่อวันอังคารที่ผ่านมา

ประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน แห่งรัสเซียได้กล่าวสุนทรพจน์ก่อนที่จะเข้าเฝ้ากษัตริย์อับดุลลาห์ที่ 2 แห่งจอร์แดน โดยได้กล่าวถึงเหตุการณ์ดังกล่าวว่า "เป็นการลอบแทงจากข้างหลังของผู้ฝักใฝ่กลุ่มก่อการร้าย" และได้ย้ำเตือนว่า เหตุดังกล่าวย่อมส่ง "ผลกระทบร้ายแรงต่อความสัมพันธ์ระหว่างรัสเซียและตุรกี"

ล่าสุด นายเซอร์เก ราฟรอฟ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศรัสเซียได้ยกเลิกนัดหมายที่จะเข้าพบกับรัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศของตุรกีในวันนี้ ที่กรุงอิสตันบูล เพื่อแสดงความไม่พอใจต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น

ความสัมพันธ์ระหว่างตุรกีและรัสเซียเริ่มสั่นคลอน ตั้งแต่ที่รัสเซียได้ทิ้งระเบิดกลุ่มรัฐอิสลาม(IS) ในซีเรียเมื่อเดือนก.ย. ที่ผ่านมา ซึ่งตุรกีมองว่า การกระทำดังกล่าวเป็นเพียงการสนับสนุนนายบาชาร์ อัล-อัสซาด ประธานาธิบดีซีเรียเท่านั้น

ที่ผ่านมา รัฐบาลตุรกีเป็นผู้สนับสนุนการขับไล่นายอัล-อัสซาดตั้งแต่ช่วงเดือน มี.ค. 2554 ซึ่งเป็นช่วงที่ซีเรียกำลังตกอยู่ในสถานการณ์วุ่นวาย

การที่รัฐบาลรัสเซียได้เข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องกับเหตุขัดแย้งในซีเรีย ส่งผลให้ตุรกีมองว่า เครื่องบินรบของรัสเซียรุกล้ำน่านฟ้าของประเทศ และทำให้หมู่บ้านของชาวเติร์กซึ่งอยู่ทางตอนเหนือของซีเรีย ตกเป็นเป้าหมายในการโจมตี ล่าสุด รัฐบาลตุรกีต้องออกหนังสือเชิญเอกอัครราชทูตรัสเซียประจำกรุงอังการาเข้าพบเพื่อยื่นเรื่องประท้วงเหตุโจมตีดังกล่าว

การโจมตีเครื่องบินรบของรัสเซียครั้งนี้เกิดขึ้นประจวบเหมาะกับที่รัสเซียถูกมองว่าเป็นพันธมิตรสำคัญในการต่อต้านกลุ่ม IS ในตะวันตก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสายตาของสหรัฐและฝรั่งเศส หลังจากที่รัสเซีย เลบานอน และฝรั่งเศส ตกเป็นเป้าหมายต่อการก่อการร้ายของกลุ่มหัวรุนแรง

อย่างไรก็ดี หากรัสเซียตัดสินใจที่จะส่งกองกำลังไปตอบโต้ตุรกี รัฐบาลสหรัฐและบรรดาพันธมิตรในยุโรปก็คงจำเป็นต้องรวมตัวกันเข้าช่วยเหลือตุรกี เนื่องจากตุรกีเป็นประเทศสมาชิกกลุ่มองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ หรือนาโต ซึ่งถือเป็นสถานการณ์อันเลวร้ายที่สุดที่สหรัฐและพันธมิตรไม่ต้องการให้เกิดขึ้น

กลุ่มนักวิเคราะห์ได้ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวซินหัว โดยได้อธิบายถึงเหตุการณ์ครั้งล่าสุดนี้ว่า เป็นเหตุการณ์ที่อันตรายอย่างยิ่ง เนื่องจากมีแนวโน้มว่า เหตุการณ์ดังกล่าวจะทวีความขัดแย้งเป็นวงกว้าง ซึ่งกลุ่มนักวิเคราะห์ได้เรียกร้องให้ตุรกีและรัสเซียเร่งหาทางเจรจาผ่าช่อทางการทูตเพื่อร่วมกันหาทางออก

นายออยตุน ออร์ฮาน ผู้เชี่ยวชาญด้านสถานการณ์ในซีเรียประจำศูนย์ยุทธศาสตร์ตะวันออกกลางศึกษา กล่าวว่า "ทุกฝ่ายควรหลีกเลี่ยงการเผชิญหน้ามากไปกว่านี้ และควรผ่อนคลายสภาวะตึงเครียด"

นายออร์ฮานกล่าวอีกว่า "ทั้งรัฐบาลตุรกี และรัฐบาลรัสเซียควรพุ่งเป้าไปที่การดำเนินการทางการทูต เพื่อฟื้นฟูความสัมพันธ์อันเปราะบาง

ทางด้านนายเมซุต ฮักคี คาซิน จากมหาวิทยาลัย Ozyegin กล่าวว่า ปัญหาครั้งนี้ควรนำไปอภิปรายในที่ประชุมคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ

นายคาซิน กล่าวด้วยว่า เครื่องบินรบ Su-24 ของรัสเซีย ถือเป็นเครื่องบินรบที่อันตรายอย่างยิ่ง เนื่องจากเครื่องบินดังกล่าวสามารถบรรทุกระเบิดเป็นน้ำหนักรวมถึง 8,000 ตัน ซึ่งรัสเซียไม่ควรนำเครื่องบินดังกล่าวมาบินในเขตชายแดน"

นายอิสเมล ฮักคี เพคิน อดีตหัวหน้าหน่วยข่าวกรองของตุรกี ได้เรียกร้องให้ตุรกีและรัสเซียตั้งคณะกรรมการกองทัพขึ้นมา เพื่อสืบสวนเรื่องการรุกล้ำน่านฟ้าและการยิงเครื่องบินรบร่วง เพื่อที่ทั้งสองฝ่ายจะได้รับการสืบสวนคดีอย่างเป็นธรรมภายใต้ขอบเขตของกฎหมาย

นายเพคินมองว่า การที่ตุรกียิงเครื่องบินรบของรัสเซียร่วงถือเป็นความผิดพลาดครั้งใหญ่ เนื่องจากเครื่องบินลำดังกล่าวไม่มีท่าทีว่าจะโจมตีตุรกี นอกเหนือจากการรุกล้ำน่านฟ้าเพียงเท่านั้น โดยได้แสดงความเห็นว่า "เจ้าหน้าที่กองทัพของตุรกีควรใช้วิธีการตักเตือนรัสเซียด้วยวิธีอื่น ซึ่งไม่ใช้วิธีการยิงให้เครื่องบินลำดังกล่าวร่วง"

อย่างไรก็ตาม นายออร์ฮานได้โต้แย้งว่า ตุรกีได้แสดงท่าทีตามขอบเขตของกฎหมายทุกประการ เพราะได้แจ้งเตือนรัสเซียเกี่ยวกับการรุกล้ำน่านฟ้าของตุรกีแล้ว

นายออร์ฮานมองว่า การที่รัสเซียเข้าแทรกแซงซีเรีย มีจุดประสงค์เพียงเพื่อกำจัดกองกำลังต่อต้านรัฐบาลมากกว่าการพุ่งเป้าไปที่กลุ่ม IS

ทั้งตุรกีและรัสเซียได้ปะทะกันมาหลายครั้งตลอดระยะเวลากว่า 200 ปี แต่ก็ได้อยู่ภายใต้ความสัมพันธ์ที่ค่อนข้างจะราบรื่นมาเป็นระยะเวลากว่า 100 ปีแล้วเช่นกัน

อีกทั้งปริมาณการค้าขายสุทธิระหว่างทั้งสองประเทศมีมูลค่าสูงถึง 5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยตุรกีเป็นผู้นำเข้าก๊าซธรรมชาติจากรัสเซียมาใช้ภายในประเทศกว่า 75%

นายเพคินกล่าวว่า ตุรกีจะตกเป็นฝ่ายที่เสียผลประโยชน์มากที่สุดจากการทำลายความสัมพันธ์กับรัสเซีย เนื่องจากรัฐบาลตุรกีกำลังตั้งเป้าที่จะขยายความร่วมมือเพิ่มเติมกับนานาประเทศในเอเชีย และมีแผนที่จะเข้าร่วมองค์การความร่วมมือเซี่ยงไฮ้ซึ่งมีรัสเซียเป็นสมาชิกอยู่ด้วย

อย่างไรก็ตาม นายคาซินกล่าวว่า "สิ่งที่สำคัญคือ ต้องเข้าใจข้อเท็จจริงที่ว่า รัสเซียกับตุรกี ไม่ใช่ศัตรูกัน"

นายคาซินได้เน้นย้ำถึงความสำคัญของการร่วมมือกันระหว่างรัสเซียและตุรกีในการต่อต้านกลุ่ม IS และการยุติสงครามในซีเรีย ไม่เช่นนั้นแล้ว ความขัดแย้งดังกล่าวจะสามารถขยายออกไปเป็นวงกว้างทั่วภูมิภาค หรือในวงกว้างกว่านั้น

นายคาซินกล่าวด้วยว่า "วิกฤตผู้อพยพจะยังคงเป็นประเด็นหลักที่ทั่วโลกกำลังพูดถึง และกองกำลัง IS จะยังคงก่อเหตุก่อการร้ายไปทั่วโลกต่อไป"

ความผิดพลาดที่ส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์ระหว่างตุรกีและรัสเซียครั้งนี้ ได้สร้างกระแสวิตกและความตื่นตัวไปทั่วโลก โดยส่งผลให้ตลาดหุ้นบางแห่งร่วงลง อีกทั้งยังเป็นประเด็นที่จะเร่งให้มีการจัดการเจรจาทางการทูตเพื่อร่วมกันหาทางออกอย่างสันติ สำนักข่าวซินหัวรายงาน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ