รมว.ต่างประเทศสหรัฐเปิดเผยในแถลงการณ์ว่า "ผมรู้สึกยินดีที่ได้กล่าวว่า เรามองเห็นตัวบ่งชี้ความก้าวหน้าสำคัญสู่การบรรลุพันธกิจด้านนิวเคลียร์ภายใต้ข้อตกลงของอิหร่าน"
การขนส่งดังกล่าวประกอบด้วย การเคลื่อนย้ายวัสดุนิวเคลียร์ทั้งหมดของอิหร่านที่มีสัดส่วนไอโซโทป 20% และไม่อยู่ในรูปแบบของแท่งเชื้อเพลิงนิวเคลียร์อีกต่อไปสำหรับเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์วิจัย (Tehran Research Reactor)
ทั้งนี้ ภายใต้ข้อตกลงนิวเคลียร์ที่อิหร่านและชาติมหาอำนาจบรรลุร่วมกันเมื่อเดือนก.ค.นั้น กำหนดให้อิหร่านขนย้ายยูเรเนียมสมรรถนะต่ำทั้งหมดออกนอกประเทศ นอกเหนือจากยูเรเนียมสมรรถนะต่ำ 300 กิโลกรัม
ยูเรเนียมที่ขนย้ายเมื่อวานนี้มีปริมาณมากกว่า 3 เท่าจากช่วงระยะเวลา 2-3 เดือนก่อนหน้านี้ในการผลิตยูเรเนียมเกรดอาวุธสำหรับอาวุธนิวเคลียร์หนึ่งชิ้นของอิหร่าน ซึ่งนายแคร์รี่กล่าวว่า "เป็นส่วนสำคัญของความสมดุลเชิงเทคนิคที่จะรับรองว่าระยะเวลาการผลิตอาวุธของอิหร่านนั้น อยู่ที่อย่างน้อย 1 ปีจากวัน Implementation Day"
วัน Implementation Day คือวันที่สำนักงานพลังงานปรมาณูสากล (IAEA) ยืนยันว่าอิหร่านบรรลุพันธกิจด้านนิวเคลียร์ทั้งหมดแล้ว ซึ่งช่วยยืดระยะเวลาการผลิตวัสดุนิวเคลียร์ที่นำไปใช้ทำอาวุธออกไปอีก 1 ปีสำหรับอิหร่าน เพิ่มขึ้นจากระยะเวลาน้อยกว่า 90 วันก่อนการบรรลุข้อตกลงเดือนก.ค.
แถลงการณ์ยังระบุว่า นายแคร์รี่แสดงความเห็นว่า รัสเซียมี "บทบาทสำคัญ" ที่ช่วยให้เกิดการขนส่งดังกล่าว จากการเคลื่อนย้ายวัสดุยูเรเนียมออกมาจากอิหร่าน และจัดหายูเรเนียมที่มีอยู่ตามธรรมชาติมาให้แทน รมว.ต่างประเทศสหรัฐยังเสริมว่า คาซัคสถาน อาเซอร์ไบจัน และนอร์เวย์มีส่วนร่วมในความพยายามครั้งนี้ด้วยเช่นกัน
ส่วนสหรัฐจะยังคงจับตาดูต่อไปเพื่อให้แน่ใจว่าการปฏิบัติตามข้อตกลงนิวเคลียร์ "บรรลุผลตามที่เราตั้งเป้าหมายไว้ตั้งแต่ช่วงแรกเริ่มของการเจรจา และเพื่อสร้างความมั่นใจว่าโครงการนิวเคลียร์ของอิหร่านยังคงเป็นโครงการเพื่อสันติโดยเฉพาะ"
ทั้งนี้ อิหร่านและกลุ่มประเทศ P5+1 ที่ประกอบด้วย สหรัฐ อังกฤษ ฝรั่งเศส จีน รัสเซีย และเยอรมนี บรรลุข้อตกลงนิวเคลียร์แบบครอบคลุมเมื่อวันที่ 14 ก.ค.
ข้อตกลงดังกล่าวมีชื่อว่า Joint Comprehensive Plan of Action ซึ่งจะยกเลิกมาตรการคว่ำบาตรอิหร่าน เพื่อแลกเปลี่ยนกับการจำกัดโครงการนิวเคลียร์ที่เป็นประเด็นพิพาทของอิหร่าน สำนักข่าวซินหัวรายงาน