บรรดาผู้นำทั่วโลกต่างให้คำมั่นว่า จะเดินหน้าหาแนวทางแก้ไขวิกฤติการณ์ผู้ลี้ภัยชาวซีเรียและประเทศอื่นๆ ในการประชุมด้านมนุษยธรรมครั้งแรกขององค์การสหประชาชาติ (UN) ซึ่งเสร็จสิ้นไปเมื่อวันอังคารที่ผ่านมา
นายบัน คี-มูน เลขาธิการยูเอ็น กล่าวในพิธีปิดการประชุมว่า "ผู้มีมนุษยธรรมและผู้ร่วมพัฒนา (Development Partner) พร้อมจับมือสร้างแนวทางใหม่เพื่อขจัดปัญหาด้านมนุษยธรรม โดยมุ่งสร้างชุมชนที่แข็งแกร่งและมั่นคง"
นายบันกล่าวเสริมว่า องค์กรช่วยเหลือและรัฐบาลที่สนับสนุนด้านการเงินให้คำมั่นว่า จะระดมความช่วยเหลือให้แก่ผู้ตกทุกข์ได้ยากทั้งในระดับท้องถิ่นและระดับประเทศ
นอกจากนี้ รัฐบาลต่างๆให้คำมั่นว่า จะหาแนวทางป้องกันความขัดแย้งต่างๆ ไปพร้อมกับการขยายสันติภาพสู่สังคมโลก เพื่อส่งเสริมกฏหมายด้านมนุษยธรรมในระดับนานาชาติตามหลักของกฎบัตรสหประชาชาติ
สำหรับการประชุมครั้งนี้ เป็นการรวมตัวของบรรดาผู้แทนจาก 173 ประเทศ รวมถึงนายกรัฐมนตรีและรัฐบาลกว่า 55 ประเทศ ตลอดจนหน่วยงานด้านการช่วยเหลือจากทั่วโลก
ทั้งนี้ ประธานาธิบดีเรเซป ตอยยิบ เออร์โดกัน ของตุรกีเรียกร้องให้สมาชิกผู้เข้าร่วมประชุมทุกคน มีความแข็งขัน หนักแน่น ในการปฏิบัติตามข้อตกลงในที่ประชุมกันครั้งนี้
"นานาชาติต้องแบ่งปันความรับผิดชอบกันทั้งในด้านจริยธรรม การเมือง และการเงิน โดยต้องช่วยเหลือผู้ลี้ภัยอย่างรวดเร็วที่สุด เพราะในแต่ละวันที่เรารอคอยความช่วยเหลือ คือความสูญเสียและทุกข์ทรมานของผู้คนนับร้อยนับพัน" เออร์โดกันกล่าวในที่ประชุม
ขณะนี้ ตุรกีเดินหน้าควบคุมการส่งตัวผู้ลี้ภัยจากซีเรียและประเทศอื่นๆไปยังยุโรป ซึ่งกำลังเผชิญหน้ากับวิกฤตการณ์ผู้ลี้ภัยครั้งใหญ่ที่สุดนับแต่สิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2