ประธานาธิบดีเรเซป ตอยยิป เออร์โดกัน เปิดเผยว่า มีประเทศอื่นอยู่เบื้องหลังการก่อรัฐประหารในตุรกีเมื่อวันที่ 15 ก.ค.ที่ผ่านมา
นายเออร์โดกันให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวอัลจาซีราว่า "อาจมีประเทศอื่นๆอยู่เบื้องหลังการก่อรัฐประหารครั้งนี้ ซึ่งกระบวนการทางศาลจะเปิดเผยข้อมูลในภายหลัง"
นายเออร์โดกันอ้างว่า นายเฟตุลเลาะห์ กูเลน นักการศาสนาชาวตุรกีซึ่งลี้ภัยอยู่ในสหรัฐอเมริกา เป็นผู้อยู่เบื้องหลังการก่อรัฐประหารในครั้งนี้ ทั้งยังระบุว่า พี่เขยของเขาเป็นผู้แจ้งข่าวการก่อรัฐประหาร ซึ่งเขาไม่เชื่อในตอนแรก
นอกจากนี้ นายเออร์โดกันยอมรับว่า หน่วยสืบข่าวกรองมีความบกพร่อง โดยระบุว่า "หากหน่วยข่าวกรองสามารถให้ข้อมูลที่ถูกต้อง เราอาจยับยั้งการก่อรัฐประหารได้"
ภายหลังการสอบสวน ทางรัฐบาลตุรกีได้รวบรวมรายชื่อของผู้ต้องสงสัยที่อาจสมคบคิดกับนายกูเลนในการก่อรัฐประหาร แต่ยังไม่สามารถดำเนินคดีได้เนื่องจากมีข้อจำกัดทางกฎหมายบางประการ
สำหรับการกวาดล้างและควบคุมตัวผู้มีส่วนพัวพันกับการก่อรัฐประหารในสถาบันต่างๆนั้น นายเออร์โดกันยืนยันว่า เป็นการดำเนินการที่ถูกต้องตามกฏหมายทั้งสิ้น
ทั้งนี้ ตุรกีได้ส่งได้ส่งคำขอไปยังรัฐบาลสหรัฐให้ส่งตัวนายเฟตุลเลาะห์ กูเลน กลับมายังตุรกี โดยนายเออร์โดกันกล่าวว่า "ผมหวังว่ารัฐบาลสหรัฐจะดำเนินการตามคำขออย่างเร็วที่สุด"
"เราได้รวมรวบเอกสารต่างๆมากมาย และมีการกักตัวผู้ต้องสงสัยอีกเป็นจำนวนมาก แต่การดำเนินการยังไม่เสร็จสิ้น ผมคิดว่าการปราบปรามการก่อรัฐประหารในครั้งนี้คงไม่จบลงง่ายๆ เพราะกลุ่มกบฏอาจมีแผนการอื่นๆอีกในอนาคต"
ผู้นำตุรกียังระบุอีกว่า ความเคลื่อนไหวของนายกูเลนอาจมีส่วนเกี่ยวข้องกับนักบินที่ยิงเครื่องบินของรัสเซียตกเมื่อเดือนพ.ย.ที่ผ่านมา
ในระหว่างการสัมภาษณ์ เออร์โดกันระบุว่า เขาอาจลงโทษประหารกับผู้ที่ก่อกบฏหากได้รับการอนุมัติจากรัฐสภา
"การบังคับใช้กฏหมายของโลกไม่ได้ขึ้นอยู่กับสหภาพยุโรปเพียงแค่กลุ่มเดียว เพราะประเทศอื่นๆอย่างสหรัฐ รัสเซีย และจีน ต่างก็มีการใช้บทลงโทษประหารด้วยกันทั้งสิ้น ฉะนั้น การตัดสินใจของตุรกีว่าจะใช้การลงโทษประหารหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับเสียงเรียกร้องของประชาชนและสิทธิของรัฐสภา"
สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า หลังจากที่การก่อรัฐประหารล้มเหลวเมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา ทางการตุรกีได้ควบคุมตัวผู้มีส่วนเกี่ยวข้องแล้วกว่า 9,000 ราย ซึ่งกำลังรอการตัดสินโทษจากศาลต่อไป