หลังจากที่คว้าชัยชนะในศึกการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอย่างพลิกความคาดหมาย นายโดนัลด์ ทรัมป์ ว่าที่ประธานาธิบดีคนที่ 45 ของสหรัฐ ได้เตรียมเดินหน้าเพื่อเข้ารับตำแหน่งต่อจากบารัค โอบามา ขณะที่หลายฝ่ายยังคงมีคำถามในใจว่า ทรัมป์จะบริหารประเทศอย่างไร ในฐานะผู้ที่ไม่เคยมีประสบการณ์ด้านการเมืองมาก่อน
อย่างไรก็ตาม ทรัมป์ได้ทำให้ผู้คนประหลาดใจอีกครั้งกับท่าทีที่โอนอ่อนลง หลังเข้าพบกับประธานาธิบดีโอบามาเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา แม้จะยังไม่มีการลงลึกถึงขั้นตอนการดำเนินงานที่จะทำให้บรรลุเป้าหมายด้านนโยบาย ตามที่ได้ให้ไว้ในระหว่างการรณรงค์หาเสียงก็ตาม
แดน มาฮัฟฟี นักวิเคราห์จาก Center for the Study of the Presidency and Congress ให้สัมภาษณ์กับซินหัวว่า "ยังมีหลายคำถามเกี่ยวกับนโยบายของทรัมป์ที่ยังไม่ได้รับคำตอบ เนื่องจากในระหว่างการหาเสียงนั้น ทรัมป์ได้อาศัยประโยชน์จากความไม่พอใจของประชาชนที่มีต่อรัฐบาลชุดปัจจุบัน โดยที่ไม่ลงลึกเกี่ยวกับนโยบายของตนเองมากนัก ทำให้ยังคงมีความคลุมเครือเกี่ยวกับการแนวทางการบริหารงานของทรัมป์อยู่มาก"
อย่างไรก็ตาม การที่ทรัมป์สามารถคว้าชัยชนะในศึกการเลือกตั้งครั้งนี้ ได้ทำให้พรรครีพับลิกันสามารถครองทั้งตำแหน่งผู้นำทำเนียบขาวและเสียงส่วนใหญ่ในสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งเป็นกลไกสำคัญในการล้มล้างนโยบายที่เกิดขึ้นในสมัยของโอบามา ซึ่งทรัมป์เองไม่ได้ชื่นชมมากเท่าไรนัก
มาฮัฟฟีกล่าวว่า "ถ้อยแถลงของทรัมป์ รวมถึงไมค์ เพนซ์ ว่าที่รองประธานาธิบดี และผู้นำฝั่งรีพับลิกันหลายคน จะเป็นจุดเริ่มต้นของการปฏิรูประบบ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การยกเลิกระบบประกันสุขภาพโอบามาแคร์ การปฏิรูปด้านโครงสร้างพื้นฐาน การจัดเก็บภาษี และการจัดการกับผู้อพยพที่เน้นการใช้มาตราการบังคับ"
ในระหว่างการหาเสียง ทรัมป์ได้ประกาศว่าจะยกเลิกระบบประกันสุขภาพโอบามาแคร์ แม้จะมีเสียงคัดค้านว่าระบบดังกล่าวได้เปิดโอกาสให้ชาวอเมริกันนับล้านสามารถเข้าถึงการประกันสุขภาพได้อย่างถ้วนหน้า แต่ในขณะเดียวกัน ผู้ที่เห็นด้วยกับทรัมป์กลับมองว่า ระบบดังกล่าวทำให้เบี้ยประกันสุขภาพพุ่งสูงขึ้นในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา
นอกจากนี้ ทรัมป์ยังมุ่มมั่นที่จะยกเลิกกฎระเบียบจำนวนมหาศาลที่สร้างความยากลำบากให้แก้ภาคธุรกิจขนาดย่อม ที่เป็นตัวฉุดอัตราการจ้างงานในช่วงที่สหรัฐยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่จากวิกฤติเศรษฐกิจเมื่อปี 2550-2551
ดาร์เรล เวสต์ นักวิเคราะห์อาวุโสจากสถาบัน Brookings Institution กล่าวว่า ทรัมป์จะบริหารงานตามที่ให้คำมั่นสัญญาไว้ในระหว่างการหาเสียง แต่จะเป็นไปในลักษณะที่ "ผสมผสานระหว่างการใช้ถ้อยคำปราศรัยโอ้อวดและการพูดเจาะลึกเกี่ยวกับนโยบายเป็นครั้งคราว"
ในส่วนของงานด้านการเมือง เวสต์มองว่า "ภารกิจหลักจะตกอยู่ในการจัดการของไมค์ เพนซ์ รองประธานาธิบดี ซึ่งคาดว่าน่าจะเป็นผู้ดำเนินงานที่แท้จริงหลังเก้าอี้ประธานาธิบดี เนื่องจากเพนซ์มีประสบการณ์ด้านการเมืองมานาน และรู้วิธีที่จะทำให้ภารกิจบรรลุผลสำเร็จ"
เวสต์กล่าวเสริมว่า "การที่เสียงส่วนใหญ่ในสภามาจากพรรครีพับลิกัน ทั้งในสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในหลายจุด ไม่ว่าจะเป็นการยกเลิกระบบประกันสุขภาพโอบามาร์แคร์ การลดภาษี และการดำเนินนโยบายต่างประเทศที่แข็งกร้าวมากขึ้น"
ทั้งนี้ ทรัมป์จำเป็นต้องเลือกคณะรัฐมนตรีให้เสร็จสิ้นภายในอีกไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้า โดยในตอนนี้ยังไม่มีรายชื่อใดๆที่ได้รับการแต่งตั้งอย่างเป็นทางการ ทำให้นักวิเคราะห์ต่างออกมาคาดการณ์กันต่างๆนาๆเกี่ยวรายชื่อคณะรัฐมนตรีของรัฐบาลชุดใหม่
หนึ่งในผู้ที่คาดว่าจะถูกดึงตัวมาร่วมคณะทำงานของทรัมป์ได้แก่นายรูดี จูลิอานี อดีตนายกเทศมนตรีนครนิวยอร์ก โดยจะเข้ามาดำรงตำแหน่งในฐานะรัฐมนตรีต่างประเทศ ขณะที่นายนิวท์ กิงริช อดีตโฆษกสภาผู้แทนราษฎร อาจถูกทาบทามให้เข้ามาดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีต่างประเทศ
นอกจากนี้ ทรัมป์ยังจำเป็นต้องสรรหาบุคคลอีกอย่างน้อย 1 คนเพื่อดำรงตำแหน่งในศาลสูงสุดของสหรัฐ ซึ่งทรัมป์ได้ประกาศแล้วก่อนหน้านี้ ว่าต้องการบุคคลที่มาจากฝั่งรีพับลิกัน ซึ่งทำให้อาจเกิดความไม่พอใจตามมา
อย่างไรก็ตาม ท้ายที่สุดแล้วสิ่งแรกที่ทรัมป์ต้องรับมือให้ได้ คือคำถามที่ว่า ทรัมป์จะบริหารประเทศอย่างไร ในฐานะนักธุรกิจที่มีนิสัยชอบคุยโวโอ้อวด อารมณ์ร้อน และโจมตีคู่แข่งและผู้ที่วิจารณ์การทำงานของตนเองด้วยถ้อยคำที่คาดไม่ถึงอยู่เสมอ
มาฮัฟฟีกล่าวว่า "นับตั้งแต่ที่ทรัมป์ได้รับตำแหน่งว่าที่ประธานาธิบดีเป็นต้นมา เขากลับมีท่าทีที่โอนอ่อนลง และมีบุคลิกของผู้ที่จะก้าวขึ้นมาดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีมากขึ้น ทั้งนี้ทั้งนั้น คงต้องติดตามกันต่อไป ว่าทีมงานของทรัมป์จะออกมาแสดงท่าทีอย่างไร ต่อสิ่งที่ทรัมป์เคยกระทำไว้ในอดีต รวมถึงเรื่องอื้อฉาวที่ทรัมป์เป็นผู้ก่อ ที่สร้างความไม่พอใจของประชาชนในช่วงที่ผ่านมา และอาจเกิดขึ้นอีกในขณะดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี"
สำหรับเหตุประท้วงที่เกิดขึ้นหลังทรัมป์ชนะการเลือกตั้ง มาฮัฟฟีมองว่า ผู้ประท้วงส่วนใหญ่ที่เป็นกลุ่มวัยรุ่นอเมริกันที่ยังไม่สามารถทำใจยอมรับกับผลที่ออกมาได้ ขณะที่ผู้คนอีกจำนวนหนึ่ง ยังคงจับตาดูท่าทีของทรัมป์ว่าจะสามารถบริหารงานได้เป็นที่น่าพอใจหรือไม่
บทวิเคราะห์โดย แมทธิว รัสลิง สำนักข่าวซินหัวรายงาน