ประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ลงนามในคำสั่งพิเศษสะท้านโลกเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา ด้วยการระงับการผ่านเข้าประเทศสหรัฐของพลเมืองจาก 7 ประเทศมุสลิม ได้แก่ ซีเรีย เยเมน ซูดาน โซมาเลีย อิรัก อิหร่าน และลิเบีย เป็นเวลา 90 วัน และห้ามผู้ลี้ภัยจากทุกประเทศเข้าสหรัฐ เป็นเวลา 120 วัน
หลังจากปธน.ทรัมป์ได้ลงในคำสั่งพิเศษดังกล่าว ก็ได้เกิดปฏิกิริยาต่อต้านขึ้นทันทีจาก 7 ประเทศมุสลิมที่ได้รับผลกระทบ ได้แก่ ซีเรีย เยเมน ซูดาน โซมาเลีย อิรัก อิหร่าน และลิเบีย รวมถึงรัฐบาลประเทศตะวันตก ซึ่งประกอบด้วย แคนาดา อังกฤษ เยอรมนี ฝรั่งเศส สวีเดน สวิตเซอร์แลนด์ เนเธอร์แลนด์ และสาธารณรัฐเช็ก ตลอดจนองค์การสหประชาชาติ และองค์กรระดับภูมิภาค เช่น สหภาพยุโรปและองค์การสันนิบาตอาหรับ
สำนักนายกรัฐมนตรีอังกฤษออกแถลงการณ์ว่า นายกรัฐมนตรีเทเรซา เมย์ จะดำเนินการแทรกแซงทันที หากการตัดสินใจดังกล่าวส่งผลกระทบต่อพลเมืองของอังกฤษ พร้อมกับย้ำว่า "เราไม่เห็นด้วยกับการกระทำเช่นนี้"
ขณะที่นายกรัฐมนตรีจัสติน ทรูโด แห่งแคนาดา ได้โพสต์ข้อความลงในทวิตเตอร์ว่า "สำหรับผู้ที่หลบหนีการถูกข่มเหง ภัยก่อการร้าย และสงครามแล้ว ชาวแคนาดาจะให้การต้อนรับพวกคุณโดยไม่คำนึงถึงความศรัทธา เพราะความหลากหลายคือจุดแข็งของเรา" นอกจากนี้นายทรูโดยังโพสต์รูปถ่ายตอนที่เขาได้พบกับเด็กชาวซีเรียคนหนึ่งที่สนามบินในแคนาดาด้วย
นอกจากนี้ นายฌอง มาร์ค เอโรต์ รัฐมนตรีต่างประเทศของฝรั่งเศส ก็ได้แสดงความไม่เห็นด้วยพร้อมกับย้ำว่า "การต้อนรับผู้ลี้ภัยที่หลบหนีไฟสงครามเป็นส่วนหนึ่งของภารกิจเรา"
ขณะที่นายกรัฐมนตรีอังเกลา แมร์เคิลของเยอรมนี ได้กล่าวตำหนิคำสั่งห้ามผู้ลี้ภัยและผู้อพยพเข้าประเทศว่า "เป็นเรื่องที่ไม่เหมาะสม"
"มันไม่ยุติธรรมที่จะตัดสินคนจากชาติกำเนิดหรือความเชื่อแบบเหมารวม" โฆษกประจำตัวของแมร์เคิลกล่าว พร้อมกับระบุด้วยว่า นางแมร์เคิลได้ต่อสายพูดคุยประเด็นนี้กับปธน.ทรัมป์หลังจากที่เขาลงนามในคำสั่งดังกล่าว
ด้านรัฐบาลซูดานได้เรียกอุปทูตสหรัฐประจำกรุงคาร์ทูมมารับฟังการประท้วง ขณะที่อิหร่านก็ได้เรียกตัวเอกอัครราชทูตสวิตเซอร์แลนด์มาประท้วงเช่นกัน เนื่องจากเขาเป็นผู้ดูแลผลประโยชน์ของสหรัฐในประเทศอิหร่าน
นายจาวาด ซาริฟ รัฐมนตรีต่างประเทศของอิหร่านกล่าวเมื่อวานนี้ว่า คำสั่งแบนของทรัมป์เป็นของขวัญชิ้นใหญ่สำหรับกลุ่มหัวรุนแรง" โดยก่อนหน้านั้นหนึ่งวัน กระทรวงการต่างประเทศอิหร่านได้ตำหนิคำสั่งพิเศษของทรัมป์ว่า "เป็นการดูหมิ่นโลกมุสลิม"
ส่วนที่กรุงแบกแดด คณะกรรมาธิการวิเทศสัมพันธ์ของรัฐสภาได้เรียกร้องให้รัฐบาลอิรักตอบโต้คำสั่งแบนด้วยมาตรการที่เท่าเทียม ด้วยการห้ามพลเมืองสหรัฐไม่ให้เข้าประเทศอิรักด้วยเช่นกัน
นอกจากนี้ รัฐบาลของประเทศมุสลิมอย่างลิเบียและเยเมนที่ได้รับผลกระทบโดยตรง ก็ได้ออกแถลงการณ์ตำหนิเช่นกัน รวมทั้งประเทศมุสลิมที่ไม่เกี่ยวข้องด้วย เช่น อินโดนีเซีย
ทางด้านองค์การสหประชาชาติได้เรียกร้องให้รัฐบาลสหรัฐถอนคำสั่งต่อต้านผู้ลี้ภัยของทรัมป์ดังกล่าว พร้อมกับย้ำว่า "การกดขี่ผู้ลี้ภัยและผู้อพยพทั่วโลกไม่ใช่สิ่งที่ดี ขณะที่โครงการมอบที่พักพิงของสหรัฐ เป็นหนึ่งในโครงการที่สำคัญที่สุดของโลก"
ด้านนางเฟเดริกา โมเกรินี หัวหน้าฝ่ายนโยบายต่างประเทศของสหภาพยุโรป (EU) ได้ให้คำมั่นว่า คณะกรรมาธิการด้านการต่างประเทศของ EU จะให้การสนับสนุน ต้อนรับ และดูแลผู้ที่หลบหนีภัยสงครามอย่างต่อเนื่อง "เราจะทำงานต่อไปเพื่อสร้างสันติภาพและความปรองดอง นี่คือประวัติศาสตร์ของเรา นี่คือตัวตนของเรา ภารกิจของเราและคำมั่นสัญญาของเรา" เธอกล่าวเสริม
ขณะที่นายอาเหม็ด อาบูล-เกอิต เลขาธิการองค์การสันนิบาตอาหรับได้แสดงความกังวลเช่นกัน โดยกล่าวว่า "นี่เป็นคำสั่งห้ามที่ไม่เหมาะสม" พร้อมกับเรียกร้องให้รัฐบาลสหรัฐทบทวนอีกครั้ง เนื่องจากการกระทำดังกล่าวจะส่งผลกระทบต่อสังคมและวัฒนธรรม สำนักข่าวซินหัวรายงาน