Interview: นักรณรงค์ชี้อังกฤษขาดทรัพยากรในการรับมือผลกระทบจาก "Hard Brexit"

ข่าวการเมือง Wednesday February 1, 2017 15:50 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

แกนนำนักรณรงค์ผู้ท้าทายกระบวนการถอนตัวออกจากสหภาพยุโรป (Brexit) ในอังกฤษมองว่า อังกฤษยังไม่มีความพร้อมในด้านบุคลากรและทรัพยากรที่จะรับมือกับผลกระทบจากการแยกตัวออกจากสหภาพยุโรปด้วยวิธีการที่รุนแรง (hard Brexit)

นางจีนา มิลเลอร์ ผู้จัดการการลงทุนและนักรณรงค์ชื่อดังของอังกฤษ กล่าวให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวซินหัวว่า "ช่วงเวลาแห่งความซับซ้อนถึง 40 ปีในการบัญญัติกฎหมายขึ้นมานั้น เป็นเรื่องที่เราจะต้องพิจารณาในช่วงเวลาที่เราสถาปนาความสัมพันธ์กับสหภาพยุโรป (EU) ขึ้นมาใหม่"

"ถึงแม้ว่าเราจะมีการตระเตรียมสำหรับการเปลี่ยนแปลงที่จะมาถึง แต่ความท้าทายครั้งนี้มีความยุ่งยากซับซ้อนอย่างมาก เนื่องจากทุกๆคนมีประสบการณ์ในการเข้าร่วมเป็นสมาชิกสหภาพยุโรป แต่สิ่งที่เรายังไม่เคยมีก็คือขั้นตอนของการแยกตัว" เธอกล่าวเสริมด้วยว่า "มีคำถามที่เราไม่ทราบคำตอบเกิดขึ้นมากมาย"

มิลเลอร์ย้ำว่า "ดิฉันมองไม่เห็นเลยว่า กระบวนการแยกตัวจะใช้เวลาน้อยกว่า 5-10 ปีได้อย่างไร ซึ่งแน่นอนว่าไม่ใช่เวลาแค่ 2 ปี"

เมื่อถูกถามว่า สิ่งที่ยุโรปจะสามารถเรียนรู้ได้จาก Brexit คืออะไร เธอตอบว่า ชาติสมาชิก EU หลายประเทศจะจัดการเลือกตั้งขึ้นในปีนี้ และ "เราจำเป็นต้องใส่ใจว่า การที่บอกว่าผู้ออกเสียงสนับสนุน Brexit ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มคนชายขอบที่อยู่ในชนชั้นต่ำสุดของสังคมอังกฤษนั้น ไม่ใช่ความเป็นจริงแต่อย่างใด"

ทั้งนี้ มิลเลอร์ มีจุดยืนที่ไม่เห็นด้วยกับกลยุทธ์การเจรจาบนพื้นฐานของ "การขู่เข็ญ" เธอกล่าวว่า "การที่ระบุว่าอังกฤษจะกลายเป็น "tax haven" หรือประเทศที่มีระบบภาษีที่เอื้อต่อภาคธุรกิจ ซึ่งจะสามารถดึงดูดการลงทุนจากต่างชาติได้เพิ่มมากขึ้นนั้น คือการขู่เข็ญอย่างหนึ่ง และมันก็ไม่ใช่เรื่องจริงเอามากๆเสียด้วย"

"ในขณะที่คุณข่มขู่ชาติสมาชิก EU แล้วคุณจะหาคู่ค้าอื่นมาแทนที่ EU ให้กับเศรษฐกิจของเราได้อย่างไร?" เธอย้อนถาม

ส่วนในอีกด้านหนึ่งนั้น เธอเตือนว่า EU ควรระมัดระวังไม่ให้เกิดข้อผิดพลาดซ้ำรอยอีก

"ไม่ว่าจะมีอังกฤษหรือไม่ก็ตาม สหภาพยุโรปก็จะยังเป็นประชาคมของประชาชนและประเทศชาติ ซึ่งมีอิสระในการตัดสินใจที่จะยืดมั่นกับองค์กรต่อไป สมาชิกภาพของ EU ควรจะเป็นทางเลือก ไม่ใช่การขู่เข็ญให้เกิดความกลัว" มิลเลอร์กล่าว

เมื่อผู้สื่อข่าวถามถึงความเป็นไปได้ที่จะเกิดสิ่งที่ไม่คาดคิดขึ้นในกระบวนการ Brexit นั้น มิลเลอร์ตอบว่า "โอกาสเดียวที่เรามีก็คือ หากร่างกฎหมายผ่านความเห็นชอบจากสภาสามัญชนแล้ว ร่างดังกล่าวอาจถูกยับยั้งในสภาขุนนาง เนื่องจากพวกเขาต้องการอภิปรายในประเด็นเหล่านี้อย่างระมัดระวังยิ่งขึ้น"

บทสัมภาษณ์โดย กรานเดสโซ เฟเดอริโก สำนักข่าวซินหัว


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ