Spotlight: จับตา "มารีน เลอเปน" อาจเดินตามรอย "ทรัมป์" หากชนะศึกเลือกตั้งปธน.ฝรั่งเศส

ข่าวการเมือง Tuesday February 7, 2017 10:49 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ภายหลังจากการลงประชามติ Brexit ในอังกฤษได้ผ่านพ้นไป และมาถึงกรณีที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์แห่งสหรัฐได้ประกาศคำสั่งห้ามพลเมืองจาก 7 ชาติมุสลิมเข้าประเทศ ในเวลานี้ทุกสายตาต่างจับจ้องไปที่ฝรั่งเศสที่กำลังจะจัดการเลือกตั้งประธานาธิบดีในปีนี้ หลังจากที่นางมารีน เลอเปน ผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีจากพรรคเนชั่นแนล ฟรอนท์ ได้ประกาศว่า เธอจะนำฝรั่งเศสถอนตัวออกจากยูโรโซนหากเธอได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งประธานาธิบดีฝรั่งเศส นอกจากนี้ เธอยังมีจุดยืนต่อต้านระบบโลกาภิวัตน์ เช่นเดียวกับทรัมป์

ผู้เชี่ยวชาญด้านการเมืองคาดการณ์เป็นวงกว้างว่า ผู้มีสิทธิออกเสียงในฝรั่งเศสจะโหวตเลือกผู้สมัครที่มีวิสัยทัศน์ในการต่อต้านกลุ่มก่อการร้ายและข้อพิพาทที่สร้างความไม่พอใจให้กับประชาชน

มีคำถามผุดขึ้นตามมาว่า ชัยชนะของนายโดนัลด์ ทรัมป์ในสหรัฐ จะเป็นแรงกระเพื่อมที่จะผลักดันให้พรรคเนชั่นแนล ฟรอนท์ ซึ่งเป็นพรรคการเมืองขวาจัดของฝรั่งเศส สามารถก้าวขึ้นมาจัดตั้งรัฐบาลใหม่ได้หรือไม่ โดยที่พรรคดังกล่าวกำลังเป็นที่จับตาและกำลังทำให้พรรคการเมืองดั้งเดิมอื่นๆตกอยู่ในภาวะสั่นคลอนในเวลานี้

"สิ่งที่เคยเป็นไปไม่ได้ จะกลับกลายเป็นสิ่งที่เป็นไปได้ " นางมารีน เลอเปน ผู้นำขวาจัด กล่าวในระหว่างการหาเสียงต่อบรรดาผู้สนับสนุนหลายพันคนในเมืองลียง ซึ่งเป็นเมืองใหญ่อันดับ 3 ของแดนน้ำหอม

"ประเทศอื่นๆได้ชี้ทางสว่างให้เราแล้ว ชาวอังกฤษได้เลือกที่จะแยกตัวออกจากสหภาพยุโรป (Brexit) ขณะที่สหรัฐได้เลือกที่จะปกป้องผลประโยชน์แห่งชาติ" เลอเปนกล่าว

นางเลอเปนยังกล่าวด้วยว่า "การลุกขึ้นต่อสู้กับระบอบคณาธิปไตยของหลายๆชาติ กำลังกลายเป็นเรื่องจริงและอาจบ่งชี้ถึงจุดจบของยุคดังกล่าวแล้ว"

ทั้งนี้ นางเลอเปนผงาดขึ้นมาเป็นผู้สมัครที่โดดเด่นสวนทางกับผู้สมัครรายอื่นๆ โดยเฉพาะนายฟรองซัวส์ ฟิยง ผู้สมัครจากพรรครีพับลิกันที่กำลังเผชิญกับมรสุมทางการเมืองและอาจส่งผลกระทบต่อการลงสมัครรับเลือกตั้งของเขา สืบเนื่องจากข่าวอื้อฉาวกรณีการว่าจ้างภรรยาด้วยเงินของรัฐ ขณะที่นายเอมมานูเอล มาครอน ผู้สมัครอีกคนก็ถูกมองว่ามีนโยบายที่ยังไม่โดดเด่นนักและยังต้องรอการพิสูจน์

ท่ามกลางกระแสการเมืองแนวประชานิยมที่กำลังมาแรงนั้น นางเลอเปนประกาศว่า เธอจะเป็น "ผู้สมัครของประชาชน" นอกจากนี้เธอยังกล่าวว่า "การแบ่งฝ่ายในขณะนี้ ไม่ใช่การแบ่งระหว่างฝ่ายซ้ายกับฝ่ายขวาอีกต่อไป แต่เป็นการแบ่งระหว่างผู้ที่รักชาติกับผู้ที่รักโลกาภิวัตน์"

อย่างไรก็ตาม นายเออร์วาน เลสโทรฮาน นักวิเคราะห์จากสำนักสำรวจความคิดเห็นบีวีเอ มองว่า "แม้นางเลอเปนจะได้รับความนิยมเพิ่มขึ้น แต่ยังไม่สามารถการันตีว่าเธอจะสามารถชนะการเลือกตั้งได้"

นายเลสโทรฮาน กล่าวให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวซินหัวว่า "ผลการเลือกตั้งในสหรัฐที่สร้างความประหลาดใจนั้น อาจไม่เกิดขึ้นที่ฝรั่งเศส เนื่องจากระบบการเลือกตั้งของสองประเทศมีความแตกต่างกัน"

"ในสหรัฐ ผู้มีสิทธิออกเสียงจะโหวตเลือกผู้สมัครประธานาธิบดีในครั้งเดียว แต่ที่ฝรั่งเศสนั้น การเลือกตั้งประธานาธิบดีจะจัดขึ้นสองรอบหากไม่มีผู้สมัครคนใดกวาดคะแนนเสียงได้เกินครึ่ง ซึ่งจะเปิดโอกาสให้ผู้ที่โหวตให้ผู้สมัครที่ไม่ได้คะแนนเสียงติด 1 ใน 2 มีโอกาสเลือกอีกครั้งระหว่าง 2 ผู้สมัครที่ได้คะแนนเสียงสูงสุดในรอบแรก"

เลสโทรฮานเชื่อว่า ท้ายที่สุดนางเลอเปนจะไม่สามารถกวาดคะแนนเสียงส่วนใหญ่และชนะการเลือกตั้งประธานาธิบดีได้ แม้ว่าประเด็นภัยคุกคามด้านก่อการร้ายและวิกฤตผู้อพยพ จะเป็นตัวแปรที่ส่งเสริมนางเลอเปน ซึ่งชูนโยบายปกป้องผลประโยชน์ของชาติก็ตาม

ทั้งนี้ ในปี 2002 นายฌอง มารี เลอเปน บิดาของนางมารีน เลอเปนและผู้ก่อตั้งพรรคเนชั่นแนล ฟรอนท์ ได้ผ่านเข้าสู่การเลือกตั้งประธานาธิบดีรอบที่ 2 หลังเอาชนะคู่แข่งอย่างลิโอเนล จอสปิน จากพรรคโซเชียลลีสต์ ซึ่งได้คะแนนเสียงอันดับที่ 3 แต่ในการเลือกตั้งชี้ขาดนั้น นายเลอเปนพ่ายแพ้ให้กับนายฌาคส์ ชีรัค อย่างขาดลอยด้วยคะแนนเสียง 82.21% ต่อ 17.79%


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ