ผู้เชี่ยวชาญในยูเครนเชื่อว่า รัฐบาลยูเครนยังไม่มีความพร้อมที่จะจัดการลงประชามติเพื่อขอร่วมเป็นประเทศสมาชิกองค์การสนธิสัญญาป้องกันแอตแลนติกเหนือ (นาโต้) ในเร็วๆนี้ ถึงแม้ว่าประธานาธิบดีเปโดร โปโรเชนโก ได้แสดงเจตนารมณ์อย่างชัดเจนเกี่ยวกับการจัดลงประชามติดังกล่าวก็ตาม
นายวิคเตอร์ มูซิยากา ศาสตราจารย์แห่งสถาบันเคียฟ โมฮิลา มองว่า การที่ปธน.โปโรเชนโกต้องการที่จะจัดลงประชามติเพื่อกรุยทางสำหรับยูเครนในการเข้าเป็นสมาชิกองค์การนาโต้นั้น เป็นเรื่องที่ค่อนข้างน่าแปลกใจ เนื่องจากองค์การนาโต้ยังไม่เคยเสนอแผนการเกี่ยวกับการเป็นสมาชิกให้รัฐบาลยูเครนพิจารณาแต่อย่างใด
“สารที่เราได้รับจนถึงขณะนี้ก็คือ ยังไม่มีประเทศใดที่แสดงท่าทีอย่างชัดเจนว่าต้องการให้ยูเครนเข้าเป็นสมาชิก โดยประเทศต่างๆระบุเพียงว่า ความร่วมมือระหว่างนาโต้กับยูเครนนั้นเป็นเรื่องที่เป็นไปได้ แต่ในแง่ของการเป็นประเทศสมาชิกนาโต้นั้น ยังถือเป็นเรื่องที่ห่างไกลกับความเป็นจริง" มูซิยากา กล่าว
นักวิเคราะห์มองว่า การจัดลงประชามติถือเป็นเรื่องที่ไร้ประโยชน์ หากนาโต้ไม่ได้ส่งสัญญาณว่าพวกเขาพร้อมที่จะอ้าแขนยูเครนเข้าเป็นสมาชิกแล้ว โดยจนถึงขณะนี้ องค์กรพันธมิตรทางทหารดังกล่าว ได้แสดงความกระตือรือร้นเพียงเล็กน้อยเกี่ยวกับการกระชับความร่วมมือกับยูเครน
ปธน.โปโรเชนโกเปิดเผยในช่วงต้นเดือนที่ผ่านมาว่า ยูเครนกำลังพิจารณาความเป็นไปได้ที่จะจัดให้มีการลงประชามติ เพื่อดูเจตนารมณ์ของประชาชนว่าต้องการให้ยูเครนเป็นสมาชิกองค์การนาโต้หรือไม่ พร้อมกับระบุด้วยว่า ประชาชนที่สนับสนุนในเรื่องนี้ มีจำนวนเพิ่มขึ้นกว่า 3 เท่า โดยอยู่ที่ระดับ 54% ในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา
ประธานาธิบดียูเครนได้ให้คำมั่นว่า เขาจะทำทุกวิถีทางที่ทำได้ “เพื่อที่จะนำยูเครนเข้าเป็นสมาชิกองค์การนาโต้ให้สำเร็จ" หากประชาชนส่วนใหญ่โหวตสนับสนุน
ทั้งนี้ องค์การนาโต้และยูเครนมีความสัมพันธ์ที่แนบแน่นขึ้นนับตั้งแต่ช่วงต้นทศวรรษ 1990 เป็นต้นมา โดยเว็บไซต์ของนาโต้ระบุว่า ยูเครนเป็นหนึ่งในหุ้นส่วนที่สำคัญที่สุดประเทศหนึ่งขององค์การนาโต้
นายโรส เกิทเตมุลเลอร์ รองเลขาธิการองค์การนาโต้ ได้กล่าวยืนยันเมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมาว่า นาโต้จะยังคงให้การหนุนหลังยูเครน พร้อมกันนี้ยังได้เรียกร้องให้ยูเครนเดินหน้าแก้ไขปัญหาคอรัปชั่น รวมถึงดำเนินการปฏิรูปในด้านอื่นๆอย่างต่อเนื่อง
“ผมสนับสนุนให้ยูเครนเดินหน้าปฏิรูปต่อไป โดยองค์การนาโต้จะยังคงให้การสนับสนุนยูเครนในด้านการเมืองอย่างต่อเนื่อง" นายเกิทเตมุลเลอร์ กล่าว
ด้านนายอเล็กซานเดอร์ วินนิคอฟ หัวหน้าคณะผู้แทนของนาโต้ประจำยูเครน แสดงความเห็นว่า รัฐบาลยูเครนจำเป็นต้องสะสางงานปฏิรูปให้ลุล่วงเสียก่อน โดยเฉพาะในด้านความมั่นคงและการป้องกันประเทศ จากนั้นยูเครนจึงจะสามารถเสนอแผนการเป็นสมาชิกให้นาโต้พิจารณาได้
บรรดาผู้เชี่ยวชาญมีมุมมองที่สอดคล้องกันว่า ตราบใดที่ยูเครนยังคงเผชิญกับปัญหาความขัดแย้งในพื้นที่ภาคตะวันออกของประเทศ และยังคงติดพันกับกรณีพิพาทในเรื่องดินแดนไครเมียกับรัสเซียอย่างไม่จบสิ้นแล้ว นาโต้ก็จะยังไม่เปิดประตูต้อนรับยูเครนอย่างแน่นอน
นอกจากนี้ สภาพเศรษฐกิจ ตลอดจนสภาพแวดล้อมทางการเมืองของยูเครนในปัจจุบันก็ยังไม่เข้าเกณฑ์คุณสมบัติของการเป็นสมาชิกขององค์การนาโต้เลยแม้แต่น้อย ซึ่งหมายความว่า ยูเครนยังต้องฟันฝ่าอุปสรรคนานัปการบนหนทางอันยาวไกล
อีกหนึ่งอุปสรรคที่ทำให้การลงประชามติเป็นเรื่องที่ยังเกิดขึ้นไม่ได้ในเร็วๆนี้ก็คือ หลักนิยมทางทหาร (military doctrine) ที่ปธน.โปโรเชนโกเห็นชอบเมื่อปี 2015 นั้น ไม่มีการระบุถึงความคาดหวังของยูเครนในการเป็นสมาชิกนาโต้แต่อย่างใด
“กฎหมายฉบับปัจจุบันของยูเครนไม่ได้กำหนดเป้าหมายในการเข้าร่วมเป็นสมาชิกองค์การนาโต้ แต่ถึงแม้จะมีการกำหนดเป้าหมายดังกล่าว ยูเครนก็จำเป็นต้องผ่านกฎเกณฑ์เงื่อนไขทางเทคนิคมากมาย" นายเยฟกินิช มาร์ชุค หัวหน้าสำนักเลขาธิการระหว่างประเทศว่าด้วยความร่วมมือด้านพลเรือนและความมั่นคงระหว่างนาโต้กับยูเครน กล่าว
นายมาร์ชุคแสดงทัศนะเพิ่มเติมด้วยว่า ยูเครนจำเป็นต้องใช้เวลาอีกไม่ต่ำกว่า 10 ปี เพื่อเตรียมความพร้อมก่อนที่จะขอร่วมเป็นสมาชิกนาโต้ได้
ขณะเดียวกัน ภาคประชาชนของยูเครนเองก็ยังไม่มีความพร้อมเต็มที่ที่จะออกไปใช้สิทธิลงประชามติในเรื่องนี้ เนื่องจากประเทศยูเครนยังไม่มีความเป็นเอกภาพ ประกอบกับประชาชนยังขาดแคลนข้อมูลที่เพียงพอในการพิจารณาไตร่ตรองอย่างรอบคอบ
“ดิฉันสงสัยว่า ประชาชนชาวยูเครนมีความเข้าใจในปัญหาท้าทายของการเป็นสมาชิกองค์การนาโต้แล้วหรือยัง โดยก่อนอื่น เราควรให้ข้อมูลและความรู้แก่ประชาชนในเรื่องนี้เสียก่อน จากนั้นรัฐบาลจึงจะสามารถให้พวกเขาตัดสินใจกำหนดชะตากรรมของประเทศเราได้" นางแอนนา มัลยาร์ นักวิเคราะห์อิสระกล่าว
ขณะที่ผู้สังเกตการณ์บางคนเห็นว่า ถ้อยแถลงของโปโรเชนโก ไม่ได้เป็นการป่าวประกาศว่า เขาจะเดินหน้าจัดการลงประชามติในเร็วๆนี้ แต่เป็นเพียงการส่งสัญญาณว่า เขาพร้อมที่จะจัดการลงประชามติเช่นว่านี้ในอนาคต
ความเห็นดังกล่าวสอดคล้องกับถ้อยแถลงของนายคอนสแตนติน เยลลิซีฟ หัวหน้าคณะบริหารของปธน.โปโรเชนโก ซึ่งระบุว่า “ยูเครนจะจัดการลงประชามติได้ก็ต่อเมื่อยูเครนผ่านเกณฑ์คุณสมบัติทั้งหมดที่กำหนดโดยนาโต้แล้วเท่านั้น"
ขณะที่นักวิเคราะห์บางคนเชื่อว่าคำพูดของนายโปโรเชนโกมีนัยแอบแฝงทางการเมือง โดยมีจุดประสงค์เพื่อผลักดันความร่วมมือระหว่างนาโต้กับยูเครนให้เดินหน้าต่อไป หลังจากนายโปโรเชนโกมีความวิตกว่า ความสัมพันธ์ระหว่างนาโต้กับยูเครนอาจเสื่อมถอยลง สืบเนื่องจากสหรัฐมีการเปลี่ยนแปลงผู้นำประเทศ ซึ่งอาจทำให้นโยบายต่างประเทศมีการเปลี่ยนแปลงเช่นกัน
“เป็นเรื่องที่ชัดเจนว่า ถ้อยแถลงของประธานาธิบดียูเครนมีเป้าหมายเพื่อที่จะกดดันบรรดาประเทศตะวันตก โดยพยายามชี้ให้เห็นว่า ประชาชนชาวยูเครนเกินครึ่งสนับสนุนแนวคิดการเป็นสมาชิกนาโต้ ดังนั้น เขาจึงเรียกร้องให้มีการขยายกรอบความร่วมมือระหว่างสองฝ่าย“ อิรินา เบเกชคินา นักวิเคราะห์จากมูลนิธิริเริ่มประชาธิปไตยในยูเครน กล่าว สำนักข่าวซินหัวรายงาน