ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ได้ลงนามในคำสั่งประธานาธิบดีฉบับใหม่ โดยยกเลิกคำสั่งเดิมที่ออกในเดือนม.ค.ในการห้ามพลเมืองจาก 7 ชาติมุสลิมเดินทางเข้าสหรัฐ
สำหรับคำสั่งใหม่ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 16 มี.ค.นี้ ได้ยกเว้นอิรักจากรายชื่อประเทศซึ่งมีการประกาศก่อนหน้านี้ ซึ่งส่งผลให้รายชื่อของพลเมืองที่ถูกห้ามเข้าสหรัฐเป็นการชั่วคราวนั้น ลดลงเหลือ 6 ประเทศ ซึ่งได้แก่ ซูดาน ซีเรีย อิหร่าน ลิเบีย โซมาเลีย และเยเมน จะถูกสั่งห้ามเดินทางเข้าสหรัฐเป็นเวลา 90 วัน
นอกจากนี้ คำสั่งฉบับใหม่ได้ระงับการรับผู้ลี้ภัยทั้งหมดเข้าสหรัฐเป็นเวลา 120 วัน แต่คำสั่งจะไม่มีผลกระทบต่อผู้ที่มีวีซ่า หรือถือกรีนการ์ด หรือใบอนุญาตให้พำนักเป็นการถาวรในสหรัฐ
ทั้งนี้ หลังจากประธานาธิบดีทรัมป์ลงนามในคำสั่งฉบับใหม่ได้ไม่นาน รัฐบาลอิรักก็ได้แสดงความยินดีต่อการที่สหรัฐตัดสินใจถอดถอนชื่ออิรักออกจากพลเมืองที่ถูกแบน โดยเจ้าหน้าที่ระดับสูงของอิรักกล่าวว่า "การตัดสินใจของทรัมป์นับเป็นก้าวสำคัญที่จะนำไปสู่ความถูกต้อง และเป็นการร่วมมือเชิงยุทธศาสตร์ในฐานะพันธมิตรระหว่างสองประเทศในหลายประเด็น รวมถึงการร่วมมือกันเพื่อต่อต้านการก่อการร้าย"
นายจอห์น เคลลี รัฐมนตรีกระทรวงความมั่นคงแห่งมาตุภูมิของสหรัฐ นายเจฟฟ์ เซสชันส์ อัยการสูงสุด และนายเร็กซ์ ทิลเลอร์สัน รัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศ ต่างแสดงท่าทีขานรับต่อคำสั่งฉบับใหม่ของทรัมป์ และมองว่าเป็นก้าวสำคัญในการเพิ่มระดับความปลอดภัยของประเทศ
"คำสั่งฉบับนี้เป็นส่วนหนึ่งของความพยายามในการกำจัดภัยอันตรายที่มาจากผู้ก่อการร้ายชาวมุสลิมหัวรุนแรง" ทิลเลอร์สันกล่าว
"พวกเราไม่สามารถประนีประนอมในเรื่องความปลอดภัยของประเทศได้ เราไม่สามารถอนุญาติให้พลเมืองจากประเทศที่ระบุไว้ ให้เดินทางเข้ามายังสหรัฐได้หากรัฐบาลจากประเทศนั้นๆไม่สามารถหรือไม่ยินยอมให้ข้อมูลที่เราต้องการใช้เพื่อตรวจสอบพลเมืองเหล่านี้ หรือแม้กระการที่รัฐบาลในบางประเทศให้การสนับสนุนกลุ่มผู้ก่อการร้ายมาโดยตลอดก็ตาม" เซสชันส์กล่าว
"เรากำลังทบทวนกระบวนการตรวจคนเข้าเมือง เพื่อเพิ่มความมั่นใจในการตัดสินใจที่เกี่ยวข้องกับนักเดินทางและผู้อพยพที่เดินทางเข้ามายังสหรัฐ" นายเคลลีเสริม
เมื่อวันที่ 27 ม.ค.ที่ผ่านมา ทรัมป์ได้ลงนามในคำสั่งประธานาธิบดีเพื่อห้ามพลเมืองจาก 7 ประเทศมุสลิมเดินทางเข้าสหรัฐเป็นเวลา 90 วันสำหรับบุคคลทั่วไป, 120 วันสำหรับผู้อพยพ และไม่มีกำหนดสำหรับผู้อพยพจากซีเรีย แต่ต่อมาคำสั่งดังกล่าวได้ถูกศาลประจำรัฐวอชิงตัน และศาลอุทธรณ์เขต 9 ประจำนครซานฟรานซิสโก สั่งระงับ