แกนนำพรรครีพับลิกันได้ตัดสินใจถอนร่างกฎหมายประกันสุขภาพ "อเมริกันเฮลธ์แคร์" ที่จะนำมาใช้แทนกฎหมาย "โอบามาแคร์" ออกจากการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร ก่อนหน้าที่จะมีการลงมติในวันศุกร์ เนื่องจากยังคงขาดเสียงสนับสนุนที่เพียงพอจากสมาชิกพรรค
"เราเข้าใกล้มากแล้วในวันนี้ แต่ก็ยังไม่พอ" นายพอล ไรอัน ประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐ กล่าวกับผู้สื่อข่าว "นี่เป็นวันที่น่าผิดหวังสำหรับเรา"
การคว่ำร่างกฎหมาย "อเมริกันเฮลธ์แคร์" ซึ่งผลักดันโดยประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ เพื่อนำมาใช้แทนกฎหมายประกันสุขภาพ "Affordable Care Act (ACA)" หรือ "โอบามาแคร์" ของอดีตประธานาธิบดีบารัค โอบามานั้น อาจถือได้ว่าเป็นความล้มเหลวครั้งใหญ่ครั้งแรกในสภานิติบัญญัติของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ นับตั้งแต่ที่เขาเข้ารับตำแหน่งเมื่อวันที่ 20 ม.ค. โดยเขาไม่สามารถรวบรวมเสียงสนับสนุนจากสมาชิกพรรครีพับลิกันได้ ทั้งที่พรรคฯครองเสียงข้างมากในทั้งสองสภาของสภาคองเกรส ส่งผลให้เกิดการตั้งคำถามถึงความสามารถของปธน.ทรัมป์ในการเดินหน้าผลักดันนโยบายอื่นๆ ซึ่งรวมถึงการลดภาษี และการใช้จ่ายด้านโครงการพื้นฐาน ตามที่เขาได้เคยให้คำมั่นไว้ในระหว่างการหาเสียงเลือกตั้ง
การตัดสินใจยกเลิกการลงมติร่างกฎหมายดังกล่าวมีขึ้นภายหลังการเจรจาต่อรองกันอย่างเข้มข้นระหว่างนายพอล ไรอัน ประธานสภาผู้แทนฯ กับสมาชิกพรรครีพับลิกันในสภาผู้แทนฯ รวมถึงการปรึกษาหารือกับประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ และมีขึ้นหลังจากที่ก่อนหน้านี้หนึ่งวัน สภาผู้แทนฯ สหรัฐก็ได้ตัดสินใจเลื่อนการลงมติร่างดังกล่าวมาแล้ว เนื่องจากเสียงสนับสนุนของพรรครีพับลิกันยังไม่มากพอต่อการผลักดันร่างกฎหมายดังกล่าวให้ผ่านความเห็นชอบจากสภาผู้แทนราษฎรได้
โดยก่อนที่จะมีการถอนร่างกฎหมายดังกล่าวนั้น นายไรอันได้เดินทางเข้าไปยังทำเนียบขาว เพื่อรายงานต่อประธานาธิบดีทรัมป์ว่า ร่างกฎหมายประกันสุขภาพ "อเมริกันเฮลธ์แคร์" ที่สภาผู้แทนราษฎรเตรียมลงมติในวันศุกร์ ยังคงขาดเสียงสนับสนุนที่เพียงพอจากสมาชิกพรรครีพับลิกัน
ทั้งนี้ สภาผู้แทนราษฎรได้เลื่อนการลงมติร่างกฎหมาย "อเมริกันเฮลธ์แคร์" จากวันพฤหัสบดีมาเป็นวันศุกร์ เนื่องจากประสบความล้มเหลวในการโน้มน้าวกลุ่มส.ส.แนวอนุรักษ์นิยมของพรรครีพับลิกันให้เห็นชอบต่อร่างกฎหมายดังกล่าว ขณะเดียวกันมีรายงานว่า ปธน.ทรัมป์ได้ยื่นคำขาดให้สภาผู้แทนราษฎรผ่านร่างกฎหมาย "อเมริกันเฮลธ์แคร์" ให้ได้ในวันศุกร์ ซึ่งหากสภาไม่ให้การอนุมัติ ปธน.ทรัมป์ก็ประกาศว่าจะไม่มีการรื้อฟื้นร่างกฎหมายดังกล่าวขึ้นมาอีก โดยจะปล่อยให้กฎหมายประกันสุขภาพ "โอบามาแคร์" มีผลบังคับใช้ต่อไป และเขาจะหันไปผลักดันนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจด้านอื่นๆ เช่น การปฏิรูปภาษี