ผู้เชี่ยวชาญด้านการเมืองของอียิปต์ได้กล่าวแสดงความเห็นว่า การที่บรรดาประเทศอาหรับได้ตัดสินใจยุติความสัมพันธ์ทางการทูตกับกาตาร์ ทำให้กาตาร์ซึ่งเป็นประเทศที่อุดมไปด้วยน้ำมันและก๊าซธรรมชาตินั้น ถูกโดดเดี่ยวในภูมิภาคอาหรับโดยสิ้นเชิง
สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (UAE) พร้อมด้วย ซาอุดิอาระเบีย บาห์เรน และอิยิปต์ ได้ประกาศตัดความสัมพันธ์ทางการทูตกับกาตาร์ โดยกล่าวหาว่า กาตาร์ให้การสนับสนุนและช่วยเหลือทางการเงินแก่ "กลุ่มก่อการร้าย" ตลอดจนแทรกแซงกิจการภายในของประเทศเหล่านั้น และในเวลาต่อมา เยเมน มัลดีฟส์ และลิเบียก็ได้ตัดสินใจประกาศตัดความสัมพันธ์ทางการทูตกับกาตาร์เช่นเดียวกัน
นายฮุสเซน ฮาเรดี อดีตผู้ช่วยรัฐมนตรีต่างประเทศอิยิปต์ กล่าวกับสำนักข่าวซินหัวว่า การตัดขาดความสัมพันธ์ทางการทุตเกิดขึ้นหลังจากที่ความพยายามในการไกล่เกลี่ย ณ การประชุมสุดยอด Arab-Islamic-American Summit เมื่อเดือนที่แล้ว ต้องประสบกับความล้มเหลว และมีขึ้นหลังจากที่กาตาร์ยังคงมุ่งมั่นที่จะดำเนินนโยบาย ที่เป็นการสนับสนุนกลุ่มก่อการร้ายโดยอาศัยการแทรกแซงกิจการภายในของประเทศอื่นๆต่อไป
เมื่อวานนี้รัฐมนตรีต่างประเทศอียิปต์ได้ออกแถลงการณ์ว่า อียิปต์ตัดสินใจตัดความสัมพันธ์ทางการทูตกับกาตาร์ เนื่องจากกาตาร์ยังคงยืนกรานอยู่ในแนวทางต่อต้านอียิปต์ และยังล้มเหลวในการพยายามป้องกันไม่ให้มีการสนับสนุนองค์การก่อการร้าย โดยเฉพาะกลุ่มภารดรภาพมุสลิม หรือมุสลิมบราเธอร์ฮูด (Muslim Brotherhood)
นอกจากนี้ แถลงการณ์ยังระบุอีกว่า กาตาร์ให้ที่พักพิงแก่บรรดาผู้นำกลุ่มภารดรภาพซึ่งเป็นกลุ่มที่มีเจตนารมณ์บั่นทอนความมั่นคงและความปลอดภัยของอียิปต์ โดยใช้ปฏิบัติการก่อการร้าย พร้อมระบุว่า กาตาร์ให้การสนับสนุนกลุ่มหัวรุนแรงสุดโต่งอย่างอัล-กออิดะห์ และกลุ่มรัฐอิสลาม (IS) อีกทั้งยังสนับสนุนปฏิบัติการก่อการร้ายในคาบสมุทรไซนาย ตลอดจนเข้าการแทรกแซงกิจการภายในของอียิปต์ในลักษณะที่เป็นภัยคุกคามความมั่นคงของประเทศ
แถลงการณ์ยังระบุด้วยว่า อียิปต์จะปิดช่องทางคมนาคมอากาศและทางทะเลทั้งหมด ซึ่งรวมถึงท่าเรือที่เป็นเส้นทางเชื่อมต่อกับกาตาร์ทุกทาง เพื่อรักษาความมั่นคงของประเทศ
ขณะที่บาห์เรน ซาอุดิอาระเบีย และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ก็ได้ตัดสินใจปิดช่องทางคมนาคมทั้งทางบก ทางทะเล และทางอากาศที่เชื่อมต่อกับกาตาร์เช่นกัน
ทั้งนี้ เมื่อปี 2557 ซาอุดิอาระเบีย สหรัฐอารับเอมิเรตส์ และบาห์เรน ได้เคยเรียกทูตกลับจากกาตาร์มาแล้วครั้งหนึ่ง เพื่อประท้วงที่กาตาร์ให้การสนับสนุนกลุ่มมุสลิมภารดรภาพ ซึ่งถูกตีตราว่าเป็นองค์การก่อการร้ายในประเทศทั้งสาม
"การตัดสินใจตัดความสัมพันธ์ในครั้งนี้ จะทำให้กาตาร์ถูกโดดเดี่ยวจากกลุ่มประเทศความร่วมมืออ่าวอาหรับ หรือ GCC (Gulf Cooperation Council) และสันนิบาตอาหรับ (Arab League)" นักการทูตฮาเรดีกล่าว พร้อมระบุว่า "ไม่ต้องสงสัยเลยว่ากาตาร์จะเสียหายขนาดไหน"
เขากล่าวว่า "มาตรการเหล่านี้ทำให้ความโดดเดี่ยวยิ่งทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น ไม่เพียงแต่ความรุนแรงที่มีต่อระบบการปกครองของกาตาร์เท่านั้น แต่รวมถึงประชาชนในประเทศอีกด้วย เพราะกาตาร์นำเข้าอาหารจากซาอุดิอาระเบียมากที่สุด เนื่องจากเป็นประเทศเดียวที่มีพรมแดนเชื่อมต่อกัน"
กาตาร์มีธุรกิจและการเชื่อมโยงกับประเทศอื่นๆในกลุ่มประเทศอ่าว ซึ่งวิกฤติที่เกิดขึ้นนี้จะส่งผลกระทบต่อการค้า ตลอดความสัมพันธ์แบบครอบครัวที่หยั่งรากลึกอยู่ระหว่างพวกเขา" นายฮาเรดีอธิบาย
ด้าน ดร.โมฮัมเหม็ด กามาล ศาสตราจารย์ด้านรัฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยไคโร ได้ออกมายกย่องการตัดสินใจตัดความสัมพันธ์ทางการทูตกับกาตาร์ในครั้งนี้ว่า โดยระบุว่าเป็น "เรื่องที่ดี" และเป็นจุดเริ่มต้นในการโดดเดี่ยวกาตาร์ พร้อมเสริมว่า กาตาร์ต้องทบทวนนโยบายทั้งกับกลุ่มประเทศอ่าวอาหรับ และโลกอาหรับในวงกว้าง
"นอกจากจะต้องทบทวนบทบาทในเรื่องของอิหร่าน ซึ่งขัดแย้งกับนโยบายของกลุ่มประเทศอ่าวอาหรับแล้ว กาตาร์ควรทบทวนตัวเองในเรื่องความร่วมมือกับผู้ก่อการร้าย ทั้งการสนับสนุน มอบเงินช่วยเหลือ รวมทั้งการให้ที่พักพิงให้กับผู้ก่อการร้าย" ดร.กามาล กล่าว
ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่า การที่อียิปต์ตัดสินใจเข้าร่วมกับซาอุดิอาระเบีย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และบาห์เรนนั้น ทำให้ประเด็นนี้มีมิติและมีน้ำหนักเพิ่มมากขึ้น และจะส่งผลให้ประเทศอาหรับอื่นๆ ตัดสินใจเข้าร่วมและดำเนินตามในแบบเดียวกัน
ดร.กามาล ยังกล่าวด้วยว่า "ถึงเวลาแล้วที่ศาลของกาตาร์จะต้องแสดงความรับผิดชอบ กลุ่มประเทศอ่าวอาหรับและอียิปต์กำลังเฝ้ารอดูปฏิกิริยาจากฝั่งกาตาร์ ซึ่งจะเป็นบทพิสูจน์และนำความไว้วางใจให้กลับมาอีกครั้ง"
สำนักข่าวซินหัวรายงาน บทวิเคราะห์โดย อาหมัด อัล-อัสซาร์ค