In Focusส่อง 4 ไม้ตายชาติอาหรับใช้กดดันกาตาร์ใน 13 ข้อเรียกร้องสุดหิน

ข่าวการเมือง Wednesday July 5, 2017 16:17 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

วันที่ 5 มิถุนายนที่ผ่านมา ซาอุดิอาระเบีย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ บาห์เรน อียิปต์ เยเมน ลิเบีย และมัลดีฟส์ ได้ดำเนินมาตรการช็อกโลกประกาศตัดสัมพันธ์ทางการทูตกับกาตาร์ โดยให้เหตุผลว่า กาตาร์ให้การสนับสนุนการก่อการร้ายและประเทศอิหร่าน รวมทั้งบ่อนทำลายเสถียรภาพในภูมิภาค

ต่อมาวันที่ 23 มิถุนายน 4 ชาติอาหรับ ได้แก่ ซาอุดิอาระเบีย บาห์เรน สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และอียิปต์ ได้ยื่น "ข้อเรียกร้อง 13 ประการ" ผ่านทางคูเวต เพื่อให้กาตาร์ปฏิบัติตามภายใน 10 วัน แลกกับการฟื้นฟูความสัมพันธ์ อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่าจะมีการขยายเส้นตายออกไปอีก 48 ชั่วโมงจนกระทั่งครบกำหนด กาตาร์ก็ยังคงเมินเฉยต่อข้อเรียกร้องของ 4 ชาติอาหรับ

In Focus ประจำสัปดาห์นี้จึงถือโอกาสเจาะลึก 4 ไม้ตายที่ชาติอาหรับใช้กดดันกาตาร์ ในข้อเสนอที่ เร็กซ์ ทิลเลอร์สัน รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐถึงกับพูดเองว่า เป็นข้อเรียกร้องที่ยากจะปฏิบัติตามได้

*อัลจาซีรา

สถานีโทรทัศน์อัลจาซีรา ซึ่งถือเป็นสื่อหลักของโลกอาหรับ ได้ถูกกดดันให้ปิดตัวลงตามข้อเสนอนี้ โดยที่ผ่านมาอัลจาซีราถูกกล่าวหาว่าเป็นกระบอกเสียงของกลุ่มภราดรภาพมุสลิม (Muslim Brotherhood) และอดีตประธานาธิบดีโมฮัมเหม็ด มอร์ซี ของอียิปต์

ทั้งนี้ อัลจาซีรา (แปลว่า คาบสมุทร) ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2539 ที่กรุงโดฮา ประเทศกาตาร์ โดยเจ้าผู้ครองรัฐ ชีค ฮะมัด บิน เคาะลีฟะฮ์ อัษษานี โดยตั้งมั่นว่าจะให้สถานีข่าวแห่งนี้ นำเสนอความจริงตามสิ่งที่ได้เห็น อัลจาซีราแจ้งเกิดจากการนำเสนอข่าว "อาหรับสปริง" ซึ่งเป็นการชุมนุมประท้วงของประชาชนในโลกอาหรับที่เริ่มปะทุเมื่อปลายปี 2553 จนนำมาสู่การเปลี่ยนแปลงผู้นำการปกครองในหลายประเทศ และสร้างความไม่พอใจให้กับหลายชาติอาหรับด้วย

ในเหตุการณ์อาหรับสปริง อดีตประธานาธิบดีฮอสนี มูบารัค ของอียิปต์ ถูกประชนลุกฮือขับไล่ ต่อมา นายโมฮัมเหม็ด มอร์ซี ตัวแทนจากกลุ่มขบวนการภราดรภาพมุสลิม ได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีในปี 2555 ซึ่งเป็นประธานาธิบดีคนแรกของอียิปต์ที่มาจากการเลือกตั้งตามครรลองประชาธิปไตย แต่หลังจากนั้นเพียงปีเดียวกองทัพอียิปต์ได้เข้ายึดอำนาจและขับไล่นายมอร์ซีออกจากตำแหน่ง สืบเนื่องจากรัฐบาลอดีตปธน.มอร์ซีประสบความล้มเหลวในการบริหารเศรษฐกิจและสังคม จนเป็นเหตุให้ประชาชนออกมาชุมนุมขับไล่

ต่อมาในเดือนสิงหาคม 2558 ศาลอียิปต์ตัดสินจำคุกนักข่าวอัลจาซีรา 3 คนได้แก่ นายโมฮัมหมัด ฟาห์มี นายบาเฮอร์ โมฮัมหมัด และนายปีเตอร์ เกรสต์ เป็นเวลา 3 ปี ข้อหาให้ความช่วยเหลือองค์กรก่อการร้ายในอียิปต์ ซึ่งในที่นี่คือกลุ่มภราดรภาพแห่งมุสลิม หลังกองทัพอียิปต์ได้โค่นล้มอดีตปธน.มอร์ซี ทางด้านอัลจาซีรายืนยันว่า เป็นการทำตามหน้าที่ซึ่งต้องรายงานสถานการณ์ในอียิปต์ให้ครบทุกด้าน

ปัจจุบัน ซาอุดิอาระเบียประกาศปิดสำนักงานของอัลจาซีราในประเทศ ขณะที่จอร์แดน ซึ่งเป็นอีกหนึ่งประเทศอาหรับที่ลดความสัมพันธ์ทางการทูตกับกาตาร์ ก็ได้ถอนใบอนุญาตประกอบกิจการของอัลจาซีราในจอร์แดนด้วย

*กลุ่มขบวนการภราดรภาพมุสลิม (Muslim Brotherhood)

กลุ่มภราดรภาพมุสลิม เป็น 1 ใน 4 กลุ่มที่ชาติอาหรับกำหนดให้กาตาร์ต้องประกาศตัดสัมพันธ์ นอกเหนือจากกลุ่มรัฐอิสลาม (IS), อัล เคดา, และฮิสบอลลาห์ โดยซาอุดิอาระเบีย บาห์เรน และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ถึงกับตราหน้าภราดรภาพมุสลิมว่าเป็น "กลุ่มก่อการร้าย"

กาตาร์ถูกกล่าวหาจากประเทศเพื่อนบ้านว่าให้การสนับสนุนกลุ่มการเมืองอิสลามต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งภราดรภาพมุสลิม โดยกาตาร์ถูกมองว่าเป็นเวทีของกลุ่มดังกล่าวหลังจากกองทัพอียิปต์โค่นล้มอดีตประธานาธิบดีมอร์ซี

ทั้งนี้ ซาอุดิอาระเบียเผยในแถลงการณ์ตัดความสัมพันธ์กาตาร์เมื่อวันที่ 5 มิถุนายนว่า กาตาร์ใช้สื่อเป็นเครื่องมือปลุกระดมกลุ่มภราดรภาพมุสลิมมาอย่างต่อเนื่อง

ขณะที่กระทรวงต่างประเทศกาตาร์เผยว่า รู้สึกเสียใจที่กลุ่มประเทศอาหรับตัดความสัมพันธ์อย่างไร้ซึ่งเหตุผล โดยระบุว่า มาตรการที่ออกมาไม่มีความสมเหตุสมผล และตั้งอยู่บนข้ออ้างและข้อกล่าวหาที่ปราศจากข้อเท็จจริง

ก่อนหน้านี้ในปี 2557 สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์และซาอุดิอาระเบียเคยเรียกเอกอัครราชทูตกลับจากกรุงโดฮาของกาตาร์แล้วครั้งหนึ่ง อ้างว่าได้รับข้อมูลว่ากาตาร์ให้การสนับสนุนรัฐบาลที่จัดตั้งโดยกลุ่มภราดรภาพมุสลิมในอียิปต์ แต่ 8 เดือนหลังจากนั้นก็ได้ส่งทูตกลับไปประจำตามเดิม เพราะกาตาร์จัดการให้กลุ่มภราดรภาพมุสลิมบางส่วนออกจากประเทศ

*อิหร่าน

4 ชาติอาหรับยังกดดันกาตาร์ตัดความสัมพันธ์กับอิหร่าน ประเทศที่เรียกได้ว่าเป็นไม้เบื่อไม้เมาของซาอุดิอาระเบียแต่ไหนแต่ไรมา เนื่องจากซาอุดิอาระเบียเป็นประเทศอิสลามที่นับถือนิกายสุหนี่ และถือเป็นชาติที่เคร่งศาสนาที่สุดแห่งหนึ่งในโลก ในขณะที่อิหร่านนับถือศาสนาอิสลามนิกายชีอะห์ ซึ่งเป็นนิกายที่ชาวสุหนี่ มองว่าเป็นพวกนอกศาสนา

ย้อนไปเมื่อปี 2558 ซาอุดิอาระเบียและอิหร่านได้เข้าแทรกแซงสงครามกลางเมืองในซีเรียและเยเมน แต่อยู่คนละข้างกัน โดยในศึกซีเรียนั้น อิหร่าน กองกำลังฮิสบอลลาห์ในเลบานอน และรัสเซีย สนับสนุนประธานาธิบดีบาชาร์ อัล-อัสซาดของซีเรีย ในขณะที่ซาอุดิอาระเบียและพันธมิตรนำโดยสหรัฐหนุนกลุ่มกบฏหลายกลุ่มเพื่อโค่นล้มปธน.อัสซาด ส่วนในศึกเยเมน ซาอุดิอาระเบียนำทัพพันธมิตรช่วยรัฐบาลเยเมนโจมตีกบฏฮูธิชาวชีอะห์ที่อิหร่านหนุนหลัง

ในปี 2559 ซาอุดิอาระเบียประหารชีวิตนักโทษ 47 คน รวมถึงชีค นิมร์ อัลนิมร์ ผู้นำชาวมุสลิมนิกายชีอะห์คนสำคัญ ซึ่งวิจารณ์การปกครองที่กดขี่ของทางการซาอุดิอาระเบียต่อชนกลุ่มน้อยชีอะห์ในประเทศ การประหารครั้งนี้สร้างความโกรธแค้นให้ชาวอิหร่านเป็นอย่างมาก โดยผู้ประท้วงชาวอิหร่านได้บุกเผาทำลายสถานทูตซาอุดิอาระเบียในกรุงเตหะรานในเหตุการณ์ครั้งนั้น

สำหรับเหตุการณ์โจมตีรัฐสภาอิหร่านและสุสานอยาตุลเลาะห์ โคไมนี อดีตผู้นำการปฎิวัติอิหร่านเมื่อวันที่ 7 มิถุนายนปีนี้ กองกำลังปฏิวัติอิหร่านโบ้ยว่าซาอุดิอาระเบียอยู่เบื้องหลังการโจมตี โดยกลุ่มรัฐอิสลาม (IS) ซึ่งเป็นกลุ่มก่อการร้ายนิกายสุหนี่ ได้ออกมาอ้างว่าอยู่เบื้องหลังการโจมตีดังกล่าว

*ตุรกี

ตุรกี เป็นอีกหนึ่งประเทศที่ปรากฏอยู่ในข้อเรียกร้องของ 4 ชาติอาหรับ โดยกำหนดให้กาตาร์ปิดฐานทัพของตุรกีในประเทศ และยุติความร่วมมือด้านการทหารกับตุรกี ทั้งนี้ ตุรกีถือเป็นประเทศที่ทรงอิทธิพลที่สุดแห่งหนึ่งในภูมิภาคอาหรับ เป็นพันธมิตรที่แข็งแกร่งที่สุดที่กาตาร์มี โดยตุรกีได้ส่งน้ำและอาหารไปยังกาตาร์ในช่วงนี้ สืบเนื่องจากซาอุดิอาระเบีย ซึ่งเป็นแหล่งอาหารที่ใหญ่ที่สุดของกาตาร์ ได้ประกาศตัดสัมพันธ์

ขณะเดียวกัน นายเรเซป ตอยยิบ เออร์โดกัน ประธานาธิบดีตุรกี ได้ออกมาแสดงความไม่เห็นด้วยต่อการที่กลุ่มประเทศอาหรับหลายประเทศคว่ำบาตรกาตาร์ ในเวลาต่อมา รัฐสภาตุรกีได้อนุมัติร่างกฎหมายให้ส่งกองกำลังทหารเข้าไปประจำการที่ฐานทัพตุรกี ซึ่งตั้งอยู่ในประเทศกาตาร์ได้

ร่างกฎหมายดังกล่าวประกอบด้วยข้อกำหนดสองส่วน โดยส่วนที่หนึ่งคือการอนุญาตให้กองกำลังทหารของตุรกีสามารถเข้าไปประจำการที่กาตาร์ได้ และส่วนที่สองคือการอนุมัติให้ทั้งตุรกีและกาตาร์สามารถร่วมกันฝึกซ้อมรบได้

สำหรับมูลเหตุอื่นๆที่ทำให้ชาติอาหรับกดดันกาตาร์ถอยห่างจากตุรกีนั้น อาจเป็นประเด็นเรื่องการก่อการร้าย โดยนายอาเหม็ด อัล-เมสแมรี โฆษกองทัพลิเบียเปิดเผยวานนี้ว่า กาตาร์ ซูดาน และตุรกี ให้การสนับสนุนผู้ก่อการร้าย และอ้างว่าเขามีเอกสารยืนยันได้ว่าทั้ง 3 ประเทศมีส่วนพัวพันในการสนับสนุนผู้ก่อการร้ายในลิเบีย และจะนำเอกสารดังกล่าวออกมาเผยแพร่ต่อประชาคมโลก

สถานการณ์ระหว่างกาตาร์และกลุ่มประเทศอาหรับส่อเค้าว่าจะไม่คลี่คลายลงง่ายๆ เพราะกาตาร์เพิ่งประกาศเอาน้ำเย็นเข้าลูบเมื่อสาย แสดงจุดยืนพร้อมเจรจากับชาติอาหรับตอนพ้นเส้นตายแล้ว ดังนั้นจุดน่าสนใจถัดจากนี้คงหนีไม่พ้นการประชุมของ 4 ชาติอาหรับที่จะมีขึ้นวันนี้ที่กรุงไคโร ประเทศอียิปต์ ท่ามกลางกระแสข่าวว่าจะมีการหารือเพิ่มการคว่ำบาตรกาตาร์โดยครอบคลุมภาคธนาคารด้วย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ