ญี่ปุ่นจัดพิธีรำลึกครบรอบ 72 ปี เหตุการณ์ทิ้งระเบิดปรมาณูที่ฮิโรชิมา

ข่าวการเมือง Sunday August 6, 2017 10:17 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ญี่ปุ่นจัดพิธีรำลึกครบรอบ 72 ปี เหตุการณ์ทิ้งระเบิดปรมาณูที่เมืองฮิโรชิมาในวันนี้ โดยนายคาซูมิ มัตสึอิ นายกเทศมนตรีเมืองฮิโรชิมา ได้เรียกร้องให้รัฐบาลญี่ปุ่นช่วยผลักดันสนธิสัญญาแบนอาวุธนิวเคลียร์ให้เป็นผลขึ้นจริง

พิธีรำลึกในปีนี้ถูกจัดขึ้น ณ สวนอนุสรณ์สถานสันติภาพ ใกล้กับจุดศูนย์กลางการระเบิด หลังจากที่สมาชิกองค์การสหประชาชาติได้ลงมติเสียงข้างมาก 122 เสียง ให้การรับรองสนธิสัญญาห้ามการครอบครองอาวุธนิวเคลียร์ฉบับแรกของโลก โดยญี่ปุ่นปฏิเสธที่จะเข้าร่วมสนธิสัญญาฉบับนี้ เนื่องจากบรรดา 5 ประเทศมหาอำนาจที่ครอบครองอาวุธนิวเคลียร์ทั้ง สหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร ฝรั่งเศส และรัสเซีย ได้แสดงการคัดค้านต่อสนธิสัญญาดังกล่าวอย่างรุนแรง

นายมัตสึอิกล่าวในปฏิญญาประจำปีของเมืองว่า ผมไม่ได้ต้องการเรียกร้องให้รัฐบาลเข้าร่วมกับสนธิสัญญาแบนอาวุธนิวเคลียร์ แต่อยากให้รัฐบาลแสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นในการสร้างสันติภาพในรัฐธรรมนูญของเรา ด้วยการลดช่องว่างระหว่างประเทศที่ทั้งมีและไม่มีอาวุธนิวเคลียร์อยู่ในครอบครอง

เขากล่าวว่า "ประเทศต่างๆ ที่ให้การรับรองสนธิสัญญาดังกล่าว ได้แสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นอย่างชัดเจนในการบรรลุผลสำเร็จ และนี่คือเวลาที่ทุกรัฐบาลจะต้องใช้ความพยายามเพื่อก้าวสู่โลกที่ปราศจากอาวุธนิวเคลียร์ต่อไป"

ขณะที่นายกรัฐมนตรีชินโซ อาเบะได้หลีกเลี่ยงที่จะกล่าวถึงสนธิสัญญาดังกล่าว

นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นกล่าวว่า "สำหรับเราแล้ว การที่จะทำโลกปราศจากอาวุธนิวเคลียร์ได้อย่างแท้จริงนั้น การมีส่วนร่วมระหว่างประเทศที่มีและไม่มีอาวุธนิวเคลียร์อยู่ในครอบครองนับเป็นสิ่งจำเป็น"

อย่างไรก็ดี พิธีรำลึกในวันนี้ มีผู้แทนจาก 80 ประเทศเข้าร่วม รวมทั้งสหภาพยุโรป และมหาอำนาจที่มีอาวุธนิวเคลียร์อยู่ในครอบครองอย่างสหราชอาณาจักร, ฝรั่งเศส และสหรัฐอเมริกา ตลอดจนรัสเซีย, อินเดีย, อิสราเอล และปากีสถาน ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีกว่าเป็นผู้ครอบครองอาวุธนิวเคลียร์ แต่ไม่ร่วมลงนามในสนธิสัญญาดังกล่าวก็มาเข้าร่วมพิธีในครั้งนี้ด้วย

สำนักข่าวเกียวโดรายงานว่า เมื่อเวลา 8.15 น. ของวันที่ 6 ส.ค. 2488 สหรัฐได้ทิ้งระเบิดปรมาณูจากเครื่องบินลงสู่เมืองฮิโรชิมา จนส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตราว 140,000 คน ส่วนระเบิดลูกที่สองถูกทิ้งที่เมืองนางาซากิในวันที่ 9 ส.ค. และอีก 6 วันต่อมาญี่ปุ่นจึงประกาศยอมแพ้สงคราม


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ