ปัญหาความมั่นคงในยุโรปกลับมาเป็นประเด็นที่น่าเป็นห่วงอีกครั้ง หลังจากที่เกิดเหตุก่อการร้ายในสเปนและฟินแลนด์เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา เหตุก่อการร้ายที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องสะท้อนให้เห็นว่า เหตุการณ์รุนแรงและซับซ้อนยังคงตามหลอกหลอนยุโรป
เหตุก่อการร้าย 2 ครั้งในเมืองคาตาโลเนียซึ่งมีผู้เสียชีวิต 15 ราย บาดเจ็บอีกกว่า 120 ราย และเหตุผู้ก่อการร้ายใช้มีดไล่แทงผู้คนในเมืองเตอร์กูของฟินแลนด์ ถือเป็นการตอกย้ำความเจ็บปวดให้แก่ยุโรปอีกครั้ง ในขณะที่ฝรั่งเศส เยอรมนี เบลเยี่ยม สวีเดน และสหราชอาณาจักรก็กำลังดิ้นรนฟื้นฟูตนเองจากเหตุการณ์นองเลือดที่เคยเกิดขึ้นหลายครั้งตลอดช่วงปี 2558
ในปีนี้ แม้ว่าประเทศในสหภาพยุโรปพยายามเพิ่มความเข้มงวดในการต่อต้านการก่อการร้าย แต่เหตุก่อการร้ายก็มิได้ลดลง อีกทั้งยังมีแนวโน้มสูงว่าจะเกิดขึ้นอีก ซึ่งที่ผ่านมา สหราชอาณาจักร ฝรั่งเศส เบลเยียม หรือแม้กระทั่งประเทศกลุ่มนอร์ดิกและยุโรปใต้ที่เคยเงียบสงบ ต่างก็ได้รับผลกระทบจากเหตุก่อการร้ายอยู่หลายครั้ง
"มีอยู่ช่วงหนึ่ง ที่ยุโรปเคยเผชิญกับเหตุก่อการร้ายทุกๆ 4 - 6 สัปดาห์" เฟรเดริก กัลลอยส์ อดีตหัวหน้าหน่วยงานความมั่นคงของฝรั่งเศสกล่าว พร้อมกล่าวอีกว่า กลยุทธ์ส่วนหนึ่งของกลุ่มก่อการร้ายข้ามชาติ เช่นกลุ่มอัลกออิดะห์ และกลุ่มรัฐอิสลาม (IS) ก็คือ การเล็งโจมตีกลุ่มผู้ที่ไม่มีทางสู้ในยุโรป หรือเน้นโจมตีพื้นที่สาธารณะที่มีคนเป็นจำนวนมาก
ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่า การโจมตีกลุ่มผู้ไม่มีทางสู้ซึ่งมีประชาชนเสียชีวิตเป็นจำนวนมากจะส่งผลให้สังคมเกิดความวิตก อันเป็นเหตุจูงใจสำหรับการก่อเหตุ และแม้ว่าจะมีการเข้มงวดมาตรการเพื่อป้องกันเหตุก่อการร้ายที่อาจเกิดขึ้นในเมืองสำคัญ แต่ผู้เชี่ยวชาญเตือนว่า มาตรการดังกล่าวยังไม่สามารถรับประกันความปลอดภัยได้เต็ม 100%
รายงานสถานการณ์และแนวโน้มเหตุก่อการร้ายประจำเดือนมิ.ย. ปีนี้ของสำนักงานตำรวจสหภาพยุโรป หรือยูโรโพล ระบุว่า สหภาพยุโรปกำลังเผชิญกับภัยคุกคามก่อการร้ายและการก่อเหตุรุนแรงจากผู้ก่อการร้ายทั้งในรูปแบบกลุ่มและเดี่ยว
รายงานดังกล่าวระบุด้วยว่า กลุ่มนักรบญิฮัดอาจถูกชักใยเบื้องหลังจากกลุ่ม IS หรืออาจเป็นผู้ที่ได้รับแรงบันดาลใจจากอุดมการณ์หรือโฆษณาชวนเชื่อของกลุ่ม IS โดยที่ผ่านมาผู้ก่อการร้ายด้วยอุดมการณ์ญิฮาดได้ใช้อาวุธหลากหลายรูปแบบ ทั้งอาวุธมีคม ปืนไรเฟิลอัตโนมัติ ระเบิด รวมถึงการใช้รถโจมตี อีกทั้งยังมีแนวโน้มว่าเหตุลักษณะนี้จะยังคงเกิดขึ้นอีก
นอกจากนี้ การเผยแพร่อุดมการณ์การก่อการร้ายผ่านช่องทางออนไลน์ก็เป็นอีกประเด็นที่ผู้นำยุโรปรู้สึกกังวล โดยที่ฝรั่งเศสนั้น กลุ่ม IS สามารถว่าจ้างกลุ่มหัวรุนแรงชาวฝรั่งเศสได้หลายร้อยคนผ่านการกระจายโฆษณาชวนเชื่อ ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตจากเหตุก่อการร้ายในกรุงปารีสและเมืองนีซเมื่อปี 2558 และ 2559 มากกว่า 200 ราย
นอกจากนี้ ความยากของผู้ลี้ภัยในการปรับตัวเข้ากับสังคม การข้ามเขตแดนเสรี และความร่วมมือด้านข่าวกรองที่ขาดประสิทธิภาพ ต่างก็เป็นอุปสรรคและเป็นจุดบกพร่องในการให้ความร่วมมือเพื่อต่อต้านการก่อการร้ายของยุโรป
อเล็กซานเดอร์ ริตส์แมนน์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการก่อการร้ายประจำมูลนิธิแห่งยุโรปเพื่อประชาธิปไตย เคยเขียนบทความไว้หลังจากเกิดเหตุก่อการร้ายในกรุงบรัสเซลส์เมื่อปีที่ผ่านมาว่า การศึกษาที่ดีขึ้น การเพิ่มจำนวนนักสังคมสงเคราะห์ การเพิ่มกำลังตำรวจ การยกระดับข่าวกรองและมาตรการเฝ้าระวัง เป็นนโยบายที่สำคัญสำหรับผู้นำยุโรปที่กำลังเผชิญกับแรงกดดันในการรับมือกับความท้าทายในระยะยาว
บทวิเคราะห์โดย โจว จุน จากสำนักข่าวซินหัว