เอียน เบ็กก์ ผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับสหภาพยุโรป (EU) จากสถาบัน London School of Economics European Institute ซึ่งติดตามความเคลื่อนไหวของกระบวนการที่อังกฤษถอนตัวออกจากสหภาพยุโรป (Brexit) มาตั้งแต่รัฐบาลอังกฤษได้ประกาศให้มีการลงประชามติภายในประเทศ ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวซินหัวถึงประเด็นเรื่องร่างกฎหมายว่าด้วยการเจรจาถอนตัวออกจากสหภาพยุโรป (Brexit) ซึ่งยังคงเป็นข้อสงสัยกันอยู่ในตอนนี้
เบ็กก์ได้พูดถึงการที่นายมิเชล บาร์นิเยร์ หัวหน้าผู้แทนเจรจาฝ่าย EU ได้ออกมาแสดงความกังวลเกี่ยวกับกระบวนการเจรจา Brexit ที่ดูเหมือนจะยังไม่มีความคืบหน้าใดๆเลยจากฝ่ายของอังกฤษ พร้อมเรียกร้องให้อังกฤษเข้ามาเจรจากับสหภาพยุโรปอย่างจริงจังมากยิ่งขึ้น ขณะเปิดการเจรจารอบ 3 เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา
เขาแสดงความเห็นด้วยกับนายบาร์นิเยร์ โดยระบุว่า "เราอยากเห็นจุดยืนของอังกฤษในทุกๆประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการแยกตัว และมันก็จำเป็นที่จะต้องทำให้เกิดความคืบหน้า เราควรเริ่มการเจรจากันอย่างจริงจังได้แล้ว"
นอกจากนี้เบ็กก์ยังกล่าวถึงเงินที่อังกฤษต้องจ่ายเพื่อชดเชยค่าเสียหากจากการถอนตัวออกจากการเป็นสมาชิก EU ว่า “เรื่องของการจ่ายค่าธรรมเนียมในการออกจากสมาชิกนั้น เป็นจุดผมคิดว่ามันน่าสนใจมานานแล้ว เพราะจำนวนเงินที่อังกฤษจะต้องจ่ายนั้น เจ้าหน้าที่บางคนกล่าวว่าอาจจะมากถึง 1 แสนล้านยูโร (1.2 แสนล้านดอลลาร์) ขณะที่อังกฤษส่งสัญญาณว่าจะจ่ายแค่เพียง 3-4 หมื่นล้านยูโร ซึ่งจำนวนเงินมันต่างกันมาก เบ็กก์กล่าวและเสริมว่า "ผมคิดว่ามันอาจจะจบลงที่ราวๆ 4 หมื่นล้านยูโร"
เขาอธิบายต่อไปว่า อังกฤษได้ลงนามในกรอบความร่วมมือ 7 ปีของ EU เมื่อปี 2556 ซึ่งนั่นทำให้อังกฤษยังต้องปฏิบัติตามข้อตกลงดังกล่าว และคำถามก็คือ อังกฤษจะสามารถเดินออกจากข้อตกลงนั้นได้ก่อนสิ้นสุดระยะเวลา 7 ปีหรือไม่ ซึ่งเรื่องนั่นไม่ได้ขึ้นอยู่กับว่าอังกฤษจะพอใจหรือไม่พอใจกับข้อผูกพันธ์ดังกล่าว เพราะสุดท้ายแล้วมันจะเป็นเรื่องของการตัดสินใจทางการเมือง"
ด้านอามิท คารา หัวหน้าฝ่ายพยากรณ์เศรษฐกิจมหภาคจากสถาบันวิจัยเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติอังกฤษ (NIESR) ในกรุงลอนดอนก็เห็นด้วยกับสิ่งที่บาร์นิเยร์กล่าวเช่นกัน
คารากล่าวว่า "มันเป็นเรื่องของการวางตัวของทั้งสองฝ่าย และในความรู้สึกของผม เรื่องเลวร้ายมักจะเกิดขึ้นก่อนสิ่งดีๆเสมอ ดังนั้นจึงไม่แปลกที่เราอาจจะต้องเห็นความเผ็ดร้อนและไม่แน่นอนเกิดขึ้น"
"เป็นที่ชัดเจนว่าทั้งสองจะต้องมีการให้และรับกันทั้งสองฝ่าย แต่ในช่วงที่กำลังลงมือทำอยู่นั้น สิ่งจำเป็นก็คือการแยกแยะประเด็นที่สำคัญๆของการถอนตัวในครั้งนี้ออกมา" เขากล่าวพร้อมเสริมว่า "แน่นอนว่าข้อตกลงที่ดีสำหรับอังกฤษอาจจะไม่ได้ดีสำหรับ EU แต่นาฬิกากำลังเดินอยู่ตลอดเวลา เพราะฉะนั้นการเจรจานี้ก็จำเป็นต้องดำเนินต่อไป ซึ่งคำถามอยู่ที่ว่าใครจะเป็นฝ่ายที่ยอมก่อนกัน แต่ในความรู้สึกของผม ผมคิดว่ามันอาจจะต้องเป็นเรา"
อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้นายวิลเลียม เฮก อดีตผู้นำพรรคอนุรักษ์นิยมก็ได้ออกมาพากษ์วิจารณ์แนวทางในการต่อรองของ EU โดยกล่าวว่า ยุโรปเลือกใช้วิธีการที่เหมาะกับฝ่ายของพวกเขา ซึ่งได้สร้างความยุ่งยากและแรงกดดันต่อรัฐบาลอังกฤษ
ทั้งนี้ EU ได้ตั้ง 4 ประเด็นหลักในการเจรจาข้อตกลง Brexit กับอังกฤษ ซึ่งได้แก่ การกำหนดวงเงินที่อังกฤษจะต้องจ่ายให้แก่ EU สำหรับการแยกตัวออกไป, การกำหนดสถานะในอนาคตของพลเมืองของ EU ที่อาศัยในอังกฤษ, การกำหนดให้มีการเปิดชายแดนของไอร์แลนด์เหนือ และการกำหนดกฎหมายที่จะบังคับใช้ต่อบริษัทต่างๆ ภายหลังจากที่อังกฤษแยกตัวออกจาก EU
บทสัมภาษณ์โดย ลาร์รี นีลด์ จากสำนักข่าวซินหัว