การประชุมสุดยอดของกลุ่มประเทศ BRICS ที่เมืองเซียะเหมิน ประเทศจีน ได้บ่งชี้ให้เห็นถึงประเด็นเด่นๆในเรื่องของความเชื่อมั่นอันแรงกล้า และฉันทามติของประเทศสมาชิกของกลุ่มทั้ง 5 ประเทศที่จะสร้างความแตกต่างให้เกิดขึ้นในช่วงระยะเวลา 10 ปีข้างหน้านี้
การประชุมสุดยอดครั้งที่ 9 ของผู้นำจากประเทศบราซิล รัสเซีย อินเดีย จีน และแอฟริกาใต้ หรือ BRICS ซึ่งสิ้นสุดลงไปเมื่อวานนี้ พร้อมกับร่างแม่บทที่ได้มีการวางแผนเรื่องแนวทางที่กลุ่มตลาดเกิดใหม่จะได้มาซึ่งบทบาทในการพัฒนาและมีบทบาทมากขึ้นในกิจการต่างประเทศ ขณะเดียวกันทางกลุ่มเองก็ไม่เห็นด้วยกับนโยบายกีดกันการค้าแต่อย่างใด
การประชุมครั้งนี้ยังช่วยนำทางให้กับการรวมตัวของกลุ่มต่างๆในรอบ 20 ปี ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 42% ของประชากรโลก และคิดเป็นสัดส่วนมากกว่าครึ่งหนึ่งของการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา
ความก้าวหน้าครั้งยิ่งใหญ่ คือ การจัดตั้งธนาคารนิว เดเวลล็อปเมนท์ แบงก์ ซึ่งประสบผลสำเร็จทั้งในด้านการปฏิบัติและความร่วมมือที่นำมาซึ่งประโยชน์ซึ่งกันและกันในกลุ่มประเทศ BRICS ในช่วงระยะเวลากว่า 10 ปีที่ผ่านมา สัดส่วนด้านเศรษฐกิจโดยรวมของกลุ่มนั้น คิดเป็นสัดส่วนที่เพิ่มขึ้นเกือบถึง 2 เท่า หรือ 23%
ปัจจุบัน เศรษฐกิจโลกอยู่ในช่วงของการปรับตัว ท่ามกลางแนวโน้มของกระแสโลกาภิวัฒน์ที่ลดลง รวมทั้งนโยบายปกป้องผลประโยชน์ทางการค้า ความเป็นระเบียบที่เท่าเทียมกันในระดับสากลยังคงเป็นเรื่องที่ไปไม่ถึง แม้ว่า จะมีความคืบหน้าก็ตาม
ในช่วงที่เศรษฐกิจชะลอตัวลงนั้น กลุ่ม BRICS ส่วนใหญ่ต้องเผชิญกับการปฏิรูประดับโครงสร้างอย่างเร่งด่วน ในช่วงเวลาที่สำคัญเช่นนี้ ความท้าทายและโอกาสจึงเป็นประเด็นที่มีความสำคัญในการประชุมสุดยอดที่เซียะเหมินที่จะได้มาซึ่งแนวทาง การกำหนดทิศทาง และลำดับความสำคัญของกลุ่มในยุคปัจจุบัน
นับเป็นครั้งแรกที่ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ของจีน ได้ทำหน้าที่ประธานการประชุมสุดยอด BRICS พร้อมแบ่งปันวิสัยทัศน์ของกลุ่มทั้งในอดีตและอนาคต ตลอดจนเรียกร้องให้มีการใช้ความพยายามมากขึ้น เพื่อให้การเป็นพันธมิตรภายในกลุ่มนั้นแน่นแฟ้นและครอบคลุมมากยิ่งขึ้น
การประชุมสุดยอดครั้งนี้ยังชี้ให้เห็นถึงความตั้งใจ และยังเป็นเวทีให้กลุ่มประเทศสมาชิกได้หาทางร่วมมือกันมากขึ้น มีบทบาทเชิงรุกมากขึ้นในเรื่องธรรมาภิบาลระดับโลก รวมทั้งการเพิ่มตัวแทนและการแสดงความคิดเห็นมากขึ้นในฐานะตลาดเกิดใหม่และประเทศกำลังพัฒนา ซึ่งถือเป็นกลไกขับเคลื่อนหลักของการขยายตัวของเศรษฐกิจโลก
เรียกได้ว่า "การเปิดกว้างนำมาซึ่งความก้าวหน้า" จีนในฐานะประเทศเจ้าภาพจัดการประชุมสุดยอด ได้เพิ่มเติมความคึกคักเข้าไปในกลไกการประชุม ด้วยการผลักดันแนวทาง "BRICS Plus" โดยการเชิญผู้นำจากประเทศกำลังพัฒนา 5 ประเทศจากทั่วโลกเข้าร่วมการเจรจากับกลุ่มผู้นำ BRICS ในการประชุมครั้งนี้
ความเคลื่อนไหวดังกล่าว จะช่วยขยายเครือข่ายเพื่อนของกลุ่ม BRICS ด้วยการเป็นพันธมิตรในวงกว้าง ทางกลุ่มจะสามารถพัฒนาสู่การเป็นแพลตฟอร์มที่มีอิทธิพลมากขึ้นสำหรับโครงการภายใต้ความร่วมมือของกลุ่ม และมีส่วนในการสนับสนุนการใช้วาระการพัฒนาอย่างยั่งยืน 2030 Agenda for Sustainable Development ซึ่งรวมถึงการขจัดความยากจน
ก่อนหน้านี้ มีผู้ที่มีวิสัยทัศน์ไม่ยาวไกลมองว่า จะเกิดการสูญเสียการรวมตัวของกลุ่ม และกลุ่มผู้สังเกตการณ์จะไขว้เขว แต่แทนที่จะเกิดสถานการณ์ดังกล่าว ในทางกลับกัน กลุ่ม BRICS สามารถสร้างความแตกต่างได้ด้วยการส่งมอบประโยชน์ให้กับประชาชนในกลุ่ม 5 ประเทศ และประเทศต่างๆนอกกลุ่มด้วยเช่นกัน
สำนักข่าวซินหัวรายงาน