In Focusเกาหลีเหนือและการทดสอบอาวุธนิวเคลียร์ครั้งที่ 6

ข่าวการเมือง Wednesday September 6, 2017 14:48 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

เมื่อวันที่ 3 ก.ย. ที่ผ่านมา ทั่วโลกต่างต้องหันมาจับตามองวิกฤตความขัดแย้งเหนือคาบสมุทรเกาหลีอีกครั้ง หลังเกาหลีเหนือได้ยิงทดสอบอาวุธนิวเคลียร์เป็นครั้งที่ 6 และเป็นอาวุธนิวเคลียร์ที่มีอานุภาพทำลายล้างสูงสุดเท่าที่เคยมีมา โดยกรมสำรวจธรณีวิทยาแห่งสหรัฐ (USGS) สามารถวัดแรงสั่นสะเทือนหลังระเบิดถูกยิงได้ถึง 6.3 แมกนิจูด ขณะที่สำนักงานเฝ้าติดตามแผ่นดินไหวในนอร์เวย์ (NORSAR) สามารถวัดอานุภาพทำลายล้างได้สูงถึง 120 กิโลตัน เทียบเท่ากับระเบิดทีเอ็นทีจำนวน 120,000 ตัน และมีความรุนแรงกว่าระเบิดนิวเคลียร์ที่ถูกทิ้งลงบนเกาะฮิโรชิมะของญี่ปุ่นในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งมีอานุภาพทำลายล้างที่ 15 กิโลตันถึง 8 เท่า

การยิงทดสอบอาวุธนิวเคลียร์ครั้งนี้ถือเป็นการยิงครั้งที่ 2 ภายใต้รัฐบาลของนายคิม จอง อึน หลังจากที่ได้ยิงทดสอบครั้งก่อนหน้าเมื่อวันที่ 9 ก.ย. 2559 ซึ่งสร้างความไม่พอใจให้กับหลายประเทศทั่วโลก โดยเฉพาะสหรัฐ ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ ที่เป็นตัวละครสำคัญของปัญหาความขัดแย้งเหนือคาบสมุทรเกาหลี

เหตุใดอาวุธนิวเคลียร์ครั้งนี้จึงมีความรุนแรงมากนัก

อาวุธนิวเคลียร์ที่เกาหลีเหนือยิงทดสอบครั้งล่าสุดนี้ คือ “ระเบิดไฮโดรเจน" หรือที่รู้จักกันในนาม “H-bomb" สามารถสร้างความเสียหายได้มากกว่าระเบิดปรมาณูทั่วไป เนื่องจากระเบิดไฮโดรเจนสามารถปลดปล่อยพลังงานได้หลายชั้นเมื่อเทียบกับระเบิดปรมาณู ซึ่งก็คือระเบิดไฮโดรเจนใช้พลังงานจากการระเบิดรอบแรกตามปกติของระเบิดปรมาณูทั่วไป เพื่อกระตุ้นให้เกิดการระเบิดขั้นที่สองที่รุนแรงกว่า

การระเบิดขั้นแรกเกิดจากการแตกตัวของอะตอมยูเรเนียมหรือพลูโตเนียมขึ้นอยู่กับวัสดุที่ใช้ประกอบระเบิด (ยูเรเนียม-238 สำหรับกรณีนี้) หรือที่เรียกว่า ปฏิกิริยาฟิชชัน ระหว่างการแตกตัวนี้จะก่อให้เกิดการปลดปล่อยพลังงานมหาศาล และเป็นกระบวนการที่พบในการระเบิดของระเบิดปรมาณูทั่วไป อย่างไรก็ตาม ในกรณีของระเบิดไฮโดรเจน การปลดปล่อยพลังงานรอบแรกจากการแตกตัวของอะตอมจะกระตุ้นให้เกิดความร้อนมหาศาล มากพอที่จะทำให้อะตอมของไฮโดรเจนที่ถูกบรรจุมาในระเบิดด้วยเกิดการกระทบและหลอมรวมกัน ที่เรียกว่า ปฏิกิริยาฟิวชัน ซึ่งก่อให้เกิดการปลดปล่อยพลังงานจำนวนมากอีกครั้ง

จีน: แหล่งรายได้ของเกาหลีเหนือ และอนาคตที่ไม่แน่นอน

เกาหลีเหนือเป็นประเทศที่ค่อนข้างปิด และประชากรส่วนใหญ่ยังคงอยู่ในสภาพอดอยากและยากจน เนื่องจากรัฐบาลทุ่มงบประมาณด้านการทหารเป็นจำนวนถึง 22% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ขณะที่ประเทศเพื่อนบ้านอย่างเกาหลีใต้ใช้งบประมาณไม่ถึง 3% ของ GDP ในการพัฒนากองทัพ ทำให้เกิดคำถามต่อมาว่า เกาหลีเหนือหางบประมาณจำนวนมหาศาลมาพัฒนาอาวุธอานุภาพทำลายล้างสูงจากไหน ซึ่งคำตอบแรกที่หนีไม่พ้นคือเกาหลีเหนือมีพันธมิตรด้านการค้ากับชาติมหาอำนาจของโลกอย่างจีน

การค้าระหว่างเกาหลีเหนือและจีนนั้น สูงกว่า 90% โดยสินค้าที่เกาหลีเหนือส่งออกไปยังจีนส่วนใหญ่คือ ถ่านหิน แร่เหล็ก สินแร่ และอาหารทะเล ด้วยเหตุนี้ จีนจึงถูกกดดันจากสหรัฐให้คว่ำบาตรการค้าเกาหลีเหนือ เพื่อกดดันให้ คิม จอง อึน ผู้นำเกาหลีเหนือ หยุดการพัฒนาขีปนาวุธที่หลายฝ่ายมองว่าเป็นภัยต่อความมั่นคง

แรงกดดันจากสหรัฐส่งผลให้จีนต้องอยู่ในสถานการณ์ที่เรียกว่าน่าลำบากใจ เพราะจีนเองไม่สามารถตัดความสัมพันธ์ทางการค้ากับเกาหลีเหนือได้อย่างสิ้นเชิง แม้ว่าเกาหลีเหนือจะยั่วยุสหรัฐและชาติพันธมิตรมาโดยตลอดก็ตาม เพราะถ้าหากเกาหลีเหนืออ่อนแอ และรัฐบาลของนายคิม จอง อึน หมดอำนาจไป จีนก็จะถูกรายล้อมด้วยอิทธิพลของสหรัฐ เนื่องจากประเทศในแถบคาบสมุทรเกาหลีซึ่งอยู่ห่างจากจีนไม่มากนัก เช่นเกาหลีใต้และญี่ปุ่น ต่างเป็นพันธมิตรของสหรัฐทั้งหมด ซึ่งจีนเองคงไม่ต้องการให้สหรัฐเข้ามามีบทบาทในภูมิภาคโดยไม่มีเกาหลีเหนือคอยคานอำนาจมากเท่าไรนัก ประกอบกับจีนอาจต้องแบกรับจำนวนผู้อพยพจากเกาหลีเหนือมากขึ้น ซึ่งไม่ใช่สิ่งที่จีนอยากให้เกิดขึ้น

อย่างไรก็ตาม จีนได้ประกาศหยุดการนำเข้าถ่านหินจากเกาหลีเหนือชั่วคราวเมื่อเดือนก.พ.ที่ผ่านมาจนถึงสิ้นปี เพื่อให้สอดคล้องกับมาตรการคว่ำบาตรเกาหลีเหนือขององค์การสหประชาชาติ หลังจากก่อนหน้านี้ในเดือนเม.ย. 2559 จีนได้ยกเลิกการนำเข้าถ่านหินจากเกาหลีเหนือมาครั้งหนึ่งแล้ว แต่ยังคงเปิดช่องว่างการนำเข้าบางส่วนเพื่อรักษาไว้ซึ่ง “ความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชน" ส่งผลให้มูลค่าการนำเข้าสินค้าจากเกาหลีเหนือเดือนก.ค.ที่ผ่านมาอยู่ที่ 880 ล้านดอลลาร์ ลดลง 13% เมื่อเทียบรายปี ขณะที่ยอดการนำเข้าถ่านหินจากเกาหลีเหนือในช่วงครึ่งปีแรกลดลงถึง 75% เมื่อเทียบรายปี อยู่ที่ 2.7 ล้านตันเท่านั้น

ทั้งนี้ทั้งนั้น เศรษฐกิจของเกาหลีเหนืออาจได้รับผลกระทบเพียงน้อยนิด เมื่อจีนเพิ่มการนำเข้าสินแร่เหล็กจากเกาหลีเหนือกว่า 60% ในช่วงครึ่งปีแรก จำนวนกว่า 1.34 ล้านตัน คิดเป็นมูลค่าสูงถึง 68 ล้านดอลลาร์ ขณะที่เกาหลีเหนือได้เพิ่มการนำเข้าจากจีนในช่วงครึ่งปีแรกกว่า 29% คิดเป็นมูลค่ากว่า 1.67 พันล้านดอลลาร์ ส่งผลให้การค้าระหว่างสองประเทศในช่วงครึ่งปีแรกกลับเติบโตขึ้น 10% เมื่อเทียบกับปีก่อน

ล่าสุด จีนได้ออกมาประกาศหยุดการนำเข้าสินค้าจากเกาหลีเหนือเพิ่มเติมในเดือนส.ค.ที่ผ่านมา เพื่อให้สอดคล้องกับมติขององค์การสหประชาติที่ประกาศคว่ำบาตรเกาหลีเหนือรอบใหม่ โดยจีนจะยกเลิกการนำเข้าสินแร่เหล็ก ตะกั่ว สินแร่ตะกั่ว และอาหารทะเลจากเกาหลีเหนือ ส่งผลให้ท่าทีของจีนครั้งนี้ถูกจับตามองเป็นอย่างมาก เพราะแสดงให้เห็นถึงความไม่แน่นอนในความสัมพันธ์ระหว่างจีนและเกาหลีเหนือ

ทั้งนี้ เกาหลีเหนือยังเป็นคู่ค้ากับประเทศอื่นๆนอกจากจีน แต่มีอัตราส่วนการค้าที่ต่ำกว่าจีนมาก เช่น อินเดีย ปากีสถาน รัสเซีย รวมถึงไทย ขณะที่บางฝ่ายยังเชื่อว่า แหล่งรายได้ของเกาหลีเหนือนั้น ยังมาจากการมีเงินสำรองก้อนใหญ่ในจีน การลักลอบขนส่งสินค้าปลอมแปลง การค้าแรงงาน และอาชญากรรมทางไซเบอร์

ท่าทีของสหรัฐ เกาหลีใต้ และญี่ปุ่น ต่อการทดสอบอาวุธนิวเคลียร์ครั้งล่าสุด
แน่นอนว่าการทดสอบอาวุธนิวเคลียร์ครั้งนี้ได้สร้างความไม่พอใจเป็นอย่างมากให้กับสหรัฐและพันธมิตร ล่าสุด นายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐ ได้ประกาศเพิ่มการขายอาวุธให้แก่เกาหลีใต้ พร้อมระบุว่า สหรัฐจะให้การสนับสนุนด้านยุทโธปกรณ์ “เพื่อการติดตั้งหัวรบที่มีขนาดใหญ่กว่าเข้ากับขีปนาวุธของพันธมิตรในการป้องกันภัยคุกคามจากเกาหลีเหนือ" ขณะที่นางนิกกี ฮาเลย์ เอกอัครราชทูตสหรัฐประจำสหประชาชาติกล่าวว่า เกาหลีเหนือเป็นฝ่ายที่ “เรียกร้องให้เกิดสงคราม" พร้อมระบุว่า สหรัฐจะผ่านร่างกฎหมายคว่ำบาตรเกาหลีเหนือฉบับใหม่ต่อคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติในวันที่ 11 ก.ย. นี้
ขณะเดียวกัน นายมูน แซง กยุน โฆษกประจำกระทรวงกลาโหมของเกาหลีใต้ กล่าวว่า กองทัพจะพิจารณาถึง “ทางเลือกต่างๆที่เป็นไปได้" เพื่อหาทางออกที่แท้จริงของปัญหาภัยคุกคามจากเกาหลีเหนือ ซึ่งอาจรวมถึงการติดตั้งอาวุธนิวเคลียร์เชิงกลยุทธ์ในประเทศ
ด้านนายชินโซ อาเบะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น ได้ออกมาประณามการทดสอบอาวุธนิวเคลียร์ในครั้งนี้เช่นกัน พร้อมระบุว่า “นี่เป็นความท้าทายซึ่งหน้าต่อชาติสากล ซึ่งเป็นเรื่องที่ยอมรับไม่ได้โดยเด็ดขาด" และยังกล่าวด้วยว่า ญี่ปุ่นจะร้องขอให้จีนและรัสเซียร่วมมือด้วยบทบาทที่มากขึ้นในการกดดันเกาหลีเหนือ อีกทั้งยังจะร่วมมือกับอินเดีย ซึ่งเป็นอีกประเทศที่มีอาวุธนิวเคลียร์ในครอบครอง และเป็นประเทศที่เคยประกาศยกเลิกการค้ากับเกาหลีเหนือยกเว้นผลิตภัณฑ์อาหารและยา ในการร่วมกดดันเกาหลีเหนือครั้งนี้ด้วย
สถานการณ์ความตึงเครียดเหนือคาบสมุทรเกาหลี ยังถูกครอบงำด้วยความไม่แน่นอน โดยเฉพาะแนวโน้มที่ว่า เกาหลีเหนืออาจยิงทดสอบขีปนาวุธเพื่อเฉลิมฉลองวันชาติในวันที่ 9 ก.ย.นี้อีกครั้ง และเป็นอีกครั้งที่นานาประเทศต่างต้องวิตกกังวล

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ