"ออง ซาน ซูจี" ชี้แจงกรณีความรุนแรงในรัฐยะไข่ เตือนอย่าหลงเชื่อข้อมูลเท็จ

ข่าวการเมือง Wednesday September 6, 2017 15:03 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นางออง ซาน ซูจี ที่ปรึกษาแห่งรัฐเมียนมา ได้ออกแถลงการณ์ผ่านทางเฟซบุ๊กเกี่ยวกับความรุนแรงที่เกิดขึ้นในรัฐยะไข่ โดยนางซูจีได้ขอให้นานาประเทศอย่าหลงเชื่อข้อมูลเท็จ ซึ่งเป็นข้อมูลที่บิดเบือนด้วยฝีมือของผู้ก่อการร้าย เพื่อบั่นทอนความสัมพันธ์อันดีระหว่างชาติอื่นๆกับเมียนมา

แถลงการณ์ดังกล่าวระบุว่า รัฐบาลเมียนมาได้พยายามอย่างดีที่สุดแล้วในการปกป้องประชาชนในพื้นที่ที่เกิดความรุนแรง และขอให้นานาประเทศอย่าหลงเชื่อผู้ก่อการร้ายที่คอยสร้างข้อมูลเท็จเพื่อกล่าวโทษเมียนมา อย่างที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วจากการที่ผู้ก่อการร้ายได้นำภาพความรุนแรงของประเทศอื่นมาอ้างว่าเป็นฝีมือของรัฐบาลเมียนมา

อย่างไรก็ดี นางซูจี ไม่ได้แสดงความเห็นใดๆเกี่ยวกับชาวมุสลิมโรฮิงญาที่อพยพข้ามชายแดนเมียนมาเข้าไปยังบังกลาเทศตั้งแต่เมื่อวันที่ 25 ส.ค.ที่ผ่านมา ขณะที่นานาประเทศ โดยเฉพาะชาติอิสลาม ได้กดดันให้ซูจีออกมาชี้แจงในเรื่องนี้

ก่อนหน้านี้ องค์กรการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมอิสลาม (ISESCO) ได้เรียกร้องให้คณะกรรมการรางวัลโนเบลของนอร์เวย์ทำการริบรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพที่นางซูจีได้รับในปี 2534 โดยระบุว่า นางซูจีได้สูญเสียสิทธิในการรับรางวัลดังกล่าว จากสิ่งที่เมียนมาได้กระทำต่อชาวโรฮิงญาภายใต้การนำของนางซูจี

แถลงการณ์ระบุว่า การกระทำที่น่ารังเกียจของเมียนมาถือเป็นสิ่งที่ขัดแย้งต่อคุณค่าของรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ พร้อมกันนี้ ISESCO ได้เรียกร้องให้ประชาคมระหว่างประเทศเข้าแทรกแซงโดยทันที เพื่อให้เมียนมาหยุดยั้งการละเมิดสิทธิมนุษยชนในประเทศ

นอกจากนี้ นายเรเซป ตอยยิบ เออร์โดกัน ประธานาธิบดีตุรกี ได้สนทนาทางโทรศัพท์กับนางซูจี เพื่อหารือเกี่ยวกับความรุนแรงในรัฐยะไข่ โดยนายเออร์โดกันกล่าวว่า การละเมิดสิทธิมนุษยชนของชาวโรฮิงญาได้สร้างความวิตกกังวลเป็นอย่างมากต่อประเทศต่างๆทั่วโลก และกลุ่มประเทศมุสลิม

ทั้งนี้ ความรุนแรงในรัฐยะไข่ของเมียนมาเริ่มต้นขึ้นเมื่อวันที่ 25 ส.ค. จากการที่ชาวโรฮิงญาได้ลุกฮือขึ้นทำการโจมตีพร้อมกันต่อสถานีตำรวจ ด่านรักษาความมั่นคง รวม 30 แห่ง และฐานทัพทหาร 1 แห่ง ส่งผลให้ทางการเมียนมาตอบโต้ชาวโรฮิงญาอย่างรุนแรง โดยอ้างว่าเป็นปฏิบัติการเพื่อกวาดล้างกลุ่มก่อการร้าย ทำให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 400 คน และทำให้ชาวโรฮิงญากว่า 100,000 คนต้องอพยพไปยังบังกลาเทศ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ