หากประวัติศาสตร์เคยให้บทเรียนในเรื่องนิวเคลียร์คาบสมุทรเกาหลี บทเรียนเหล่านั้นย่อมทำให้เรารู้ว่า การใช้มาตรการคว่ำบาตรเพื่อให้เกาหลีเหนือยุติโครงการอาวุธนิวเคลียร์นั้น มีแต่จะทำให้ผิดหวัง และไม่เกิดผลดีอันใด
คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (UNSC) มีมติเป็นเอกฉันท์ในการประชุมซึ่งเสร็จสิ้นเมื่อวานนี้ตามเวลาสหรัฐ ให้คว่ำบาตรเกาหลีเหนือรอบใหม่ หลังจากที่เกาหลีเหนือทำการทดสอบอาวุธนิวเคลียร์ครั้งที่ 6 เมื่อวันที่ 3 ก.ย.ที่ผ่านมา ซึ่งถือเป็นการทดสอบนิวเคลียร์ครั้งร้ายแรงที่สุด
มาตรการคว่ำบาตรรอบใหม่ระบุให้ลดการส่งออกน้ำมันให้กับเกาหลีเหนือลงเกือบ 30% กำหนดเพดานการจัดหาหรือส่งออกผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมให้กับเกาหลีเหนือเอาไว้ที่ระดับ 2 ล้านบาร์เรลต่อปี ระงับการส่งออกก๊าซเหลวธรรมชาติ และน้ำมันดิบประเภทไลท์ครูดคอนเดนเสทให้กับเกาหลีเหนือ ห้ามเกาหลีเหนือทำการส่งออกสิ่งทอทั้งหมด ซึ่งคิดเป็นมูลค่ารวม 800 ล้านดอลลาร์ และห้ามไม่ให้ชาวเกาหลีเหนือที่ทำงานในต่างประเทศส่งเงินกลับประเทศ
จากสถิติพบว่า การคว่ำบาตรครั้งนี้นับเป็นครั้งที่ 8 ที่องค์การสหประชาชาติ (UN) ดำเนินการต่อเกาหลีเหนือ นับตั้งแต่ที่เกาหลีเหนือได้ทำการทดสอบระเบิดนิวเคลียร์ใต้ดินครั้งแรกเมื่อปี 2549
แต่ถึงกระนั้น ตลอดกว่าทศวรรษที่ผ่านมา วิกฤตนิวเคลียร์ในคาบสมุทรเกาหลีกลับยิ่งถลำลึกอยู่ในวังวนอันไร้ที่สิ้นสุด และการทดสอบอาวุธนิวเคลียร์และขีปนาวุธก็จุดชนวนให้เกิดการคว่ำบาตรครั้งแล้วครั้งเล่า และรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งอาจกล่าวได้ว่า ยิ่งบทลงโทษรุนแรงขึ้นเท่าใด ก็ยิ่งเหมือนท้าทายให้การทดสอบรุนแรงมากขึ้นเท่านั้น
ก่อนที่ UNSC จะลงมติเมื่อวานนี้ตามเวลาสหรัฐ กระทรวงการต่างประเทศเกาหลีเหนือได้ออกแถลงการณ์เตือนสหรัฐว่าจะถูกเอาคืนอย่าง "สาสม" และจะต้องเผชิญกับ "ความเจ็บปวดและทุกข์ทรมานอย่างสุดสาหัส" หากสหรัฐยังดึงดันที่จะเร่งให้ UN ลงมติคว่ำบาตรเกาหลีเหนือรอบใหม่
ทั้งนี้ แม้จะถูกคว่ำบาตรตลอดช่วงหลายปีที่ผ่านมา แต่ล่าสุดเกาหลีเหนือก็ยังออกมาอ้างความสำเร็จในการทดสอบระเบิดไฮโดรเจนที่มีอานุภาพทำลายล้างสูงและสามารถบรรจุเข้าไปในหัวรบของขีปนาวุธข้ามทวีป (ICBM) โดยความเคลื่อนไหวดังกล่าวถือเป็นการทดสอบนิวเคลียร์ครั้งที่ 6 และมีอานุภาพร้ายแรงที่สุด
นักวิเคราะห์กล่าวว่า ถึงเวลาแล้วที่นานาประเทศ โดยเฉพาะสหรัฐ ควรมีแนวทางที่เห็นผลจริงและครอบคลุมมากยิ่งขึ้นในการขจัดความตึงเครียดด้านนิวเคลียร์บนคาบสมุทรเกาหลี
นับตั้งแต่โดนัลด์ ทรัมป์ เข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐ ทั้งทรัมป์และทีมงานด้านความมั่นคงแห่งชาติของสหรัฐก็ลงมืออย่างเร่งด่วนเพื่อระงับโครงการนิวเคลียร์ของเกาหลีเหนือ โดยคณะบริหารของทรัมป์ได้ประกาศยุตินโยบายประนีประนอมต่อเกาหลีเหนือที่อดีตประธานาธิบดีบารัค โอบามาเคยใช้มา หลังจากนั้นได้หันมาดำเนินนโยบายกดดันเกาหลีเหนือ รวมถึงปฏิเสธการเจรจากับเกาหลีเหนืออย่างไม่ใยดี
นักวิเคราะห์มองว่า การปฏิเสธที่จะใช้การเจรจาและช่องทางการทูต ถือเป็นการทำผิดซ้ำแล้วซ้ำเล่าของผู้นำสหรัฐ ดังเช่นที่เคยเป็นมาในอดีต
จนถึงขณะนี้ ไม่มีใครกล้าปฏิเสธว่า การลงโทษเกาหลีเหนือเปรียบเหมือนการแก้ปัญหาไม่ถูกจุด ซึ่งเป้าหมายที่ถูกต้องคือควรนำกาหลีเหนือกลับเข้าสู่โต๊ะเจรจา เพื่อให้ทุกฝ่ายร่วมกันหาทางออก จึงจะสามารถยุติโครงการนิวเคลียร์ของเกาหลีเหนือได้ และจะนำไปสู่สันติภาพอันยั่งยืนในภูมิภาคนี้
อย่างไรก็ดี การเริ่มต้นหันหน้าเพื่อเจรจากันนั้น อาจเป็นเรื่องยาก เพราะความไว้วางใจที่มีต่อกันระหว่างสหรัฐและเกาหลีเหนือนั้น อยู่ในระดับที่ต่ำมาก และดูเหมือนว่าคณะทำงานของปธน.ทรัมป์ก็มีแนวโน้มที่ส่งสัญญาณที่สับสนอยู่เป็นระยะๆ โดยในขณะที่นายเร็กซ์ ทิลเลอร์สัน รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐให้คำมั่นว่า สหรัฐไม่ต้องการที่จะเปลี่ยนแปลงระบบการปกครองของเกาหลีเหนือและพยายามจะสร้างสันติภาพให้เกิดขึ้น แต่ปธน.ทรัมป์กลับส่งสัญญาณว่า สหรัฐอาจใช้ปฏิบัติการทางทหารเป็นทางเลือกสำหรับเกาหลีเหนือ
ทั้งนี้ การเล่นทั้งบทตำรวจดีและตำรวจเลวในเวลาเดียวกันของสหรัฐ อาจทำให้สถานการณ์ในคาบสมุทรเกาหลีเปราะบางมากยิ่งขึ้น ดังนั้น สหรัฐจึงควรเปลี่ยนแปลงจากนโยบายที่มุ่งเน้นการโดดเดี่ยวเกาหลีเหนือ ไปเป็นการสื่อสารอย่างตรงไปตรงมา เพราะการสร้างแรงกดดันใดๆก็ตามที่ทำให้เกาหลีเหนือไม่สามารถอดทนได้นั้น อาจจะยิ่งทำให้เกิดหายนะด้านนิวเคลียร์ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อทุกฝ่าย