คณะผู้แทนฝรั่งเศสประจำสหประชาติ ระบุผ่านทวิตเตอร์ว่า "ฝรั่งเศส ร่วมกับโบลิเวีย อียิปต์ อิตาลี เซเนกัล สวีเดน สหราชอาณาจักร และอุรุกวัย ได้เรียกร้องให้มีการจัดการประชุมฉุกเฉินของคณะมนตรีความมั่นคง เพื่อหารือในประเด็นเยรูซาเลม"
ไอเมริค ชูเซวิล โฆษกคณะผู้แทนฝรั่งเศส ได้ยืนยันผ่านทางทวิตเตอร์ว่าการประชุมดังกล่าวจะมีขึ้นในช่วงเช้าวันศุกร์
ขณะเดียวกัน คณะผู้แทนโบลิเวียประจำสหประชาติ ก็ได้ออกมายืนยันคำร้องให้มีการจัดการประชุมฉุกเฉินของคณะมนตรีความมั่นคง
ฝรั่งเศสได้แสดงจุดยืนอย่างแน่วแน่ในการคัดค้านการตัดสินใจของสหรัฐเกี่ยวกับสถานะของเยรูซาเลม ซึ่งประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐได้ประกาศไว้เมื่อคืนนี้ โดยกระทรวงต่างประเทศของฝรั่งเศส ได้กล่าวถึงถ้อยแถลงของนายเอมมานูเอล มาครอง ประธานาธิบดีฝรั่งเศส ที่ระบุไว้ว่า ฝรั่งเศสสนับสนุนวิธีแก้ไขปัญหาด้วยการจัดตั้ง 2 รัฐ เพื่อให้ชาวอิสราเอลและปาเลสไตน์อยู่ร่วมกันได้อย่างสงบสุขและปลอดภัย โดยมีกรุงเยรูซาเลมเป็นเมืองหลวงของทั้ง 2 รัฐนี้
ผู้นำฝรั่งเศส กล่าวไว้ว่า "เราควรจำยอมสละและเจรจาหารือร่วมกัน"
ด้านนางนิกกี้ เฮลีย์ เอกอัครราชทูตสหรัฐประจำสหประชาชาติ (UN) ได้กล่าวยกย่องการตัดสินใจของปธน.ทรัมป์ว่าเป็นการตัดสินใจที่ "กล้าหาญและยิ่งใหญ่"
นางเฮลีย์ กล่าวว่า "ตลอด 22 ปีที่ผ่านมาได้ปรากฏให้เห็นความไม่ลงรอยระหว่าง 2 ฝ่าย ในเรื่องการย้ายสถานทูตสหรัฐประจำอิสราเอลไปยังสถานที่สมควรในกรุงเยรูซาเลมของอิสราเอล วันนี้ ท่านประธานาธิบดีสหรัฐได้ตัดสินใจอย่างกล้าหาญและยิ่งใหญ่ ซึ่งควรเกิดขึ้นมานานแล้ว"
นางเฮลีย์ กล่าวเสริมว่า "ทั่วโลกนั้น สหรัฐอเมริกาได้จัดตั้งสถานทูตของตนในเมืองหลวงของประเทศนั้นๆ โดยอิสราเอลก็ไม่ต่างกัน สิ่งนี้ยุติธรรมและสมควรแล้ว"
ทั้งนี้ การดำเนินการของปธน.ทรัมป์ ถือเป็นการปฏิบัติตามกฎหมายปี 2538 ของสหรัฐ ซึ่งกำหนดให้มีการย้ายสถานทูตสหรัฐไปยังกรุงเยรูซาเลม ในขณะที่ประธานาธิบดีสหรัฐหลายคนก่อนหน้านี้ เช่น บิล คลินตัน, จอร์จ ดับเบิลยู บุช และบารัค โอบามา ต่างก็ใช้คำสั่งประธานาธิบดีเลื่อนการบังคับใช้กฎหมายดังกล่าวออกไป เนื่องจากวิตกว่าจะกระพือความขัดแย้งในตะวันออกกลาง
ชาวปาเลสไตน์ถือว่ากรุงเยรูซาเลมซึ่งถูกอิสราเอลยึดครองมาตั้งแต่สงครามปี 2510 นั้น เป็นเมืองหลวงแห่งรัฐในอนาคต รวมถึงมองว่าสถานะของกรุงเยรูซาเลมนั้นยังคงเป็นประเด็นที่ต้องได้รับการแก้ไข