หนังสือพิมพ์เตหะราน ไทมส์ รายงานโดยอ้างคำพูดเจ้าหน้าที่ด้านความปลอดภัยระดับสูงของอิหร่านว่า อิหร่านจะพิจารณาถอนตัวออกจากสนธิสัญญาไม่แพร่กระจายอาวุธ (NPT) หากสหรัฐยกเลิกข้อตกลงนิวเคลียร์ที่เคยทำไว้กับอิหร่านเมื่อปี 2558
นายอาลี ซามฮานี เลขาธิการคณะกรรมการความมั่นคงสูงสุดแห่งชาติอิหร่านเปิดเผยระหว่างการแถลงข่าวก่อนเดินทางไปร่วมการประชุมด้านความมั่นคงนานาชาติ ซึ่งจัดขึ้นที่เมืองโซชิ สหพันธรัฐรัสเซียว่า "ประเทศที่ร่วมลงนามในสนธิสัญญา NPT สามารถถอนตัวออกจากสนธิสัญญาดังกล่าวได้อย่างง่ายดาย หากพวกเขามองว่าสนธิสัญญานี้ไม่มีประโยชน์ต่อพวกเขา และมันก็เป็นตัวเลือกที่มีความเป็นไปได้สำหรับอิหร่าน"
นายซามฮานีกล่าวว่า อิหร่านไม่ได้ประโยชน์อะไรจากข้อตกลงนิวเคลียร์ หรือที่มีชื่อเรียกอย่างเป็นทางการว่า Joint Comprehensive Plan of Action (JCPOA) ซึ่งมีผลบังคับใช้มาตั้งแต่เดือนมกราคม 2559 และยังกล่าวด้วยว่า "ในทางกลับกัน สหรัฐก็ได้สร้างอุปสรรค์ให้กับข้อตกลงดังกล่าวมาตั้งแต่วันแรกที่มีการบังคับใช้"
นอกจากนี้ เขายังย้ำถึงความสามารถของอิหร่านในการฟื้นโครงการนิวเคลียร์ โดยกล่าวว่าอิหร่านจะ "ดำเนินการในสิ่งที่คาดไม่ถึง" หากข้อตกลงนิวเคลียร์ถูกทำลายลง
สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์แห่งสหรัฐ มีเวลาจนถึงวันที่ 12 พ.ค.ในการตัดสินใจว่าจะถอนตัวออกจากข้อตกลงนิวเคลียร์ที่ชาติมหาอำนาจทำไว้กับอิหร่านหรือไม่ ซึ่งหากปธน.ทรัมป์ถอนตัวจากข้อตกลงดังกล่าว ก็จะปูทางให้สหรัฐทำการคว่ำบาตรอิหร่านครั้งใหม่ ด้วยการสั่งห้ามการส่งออกน้ำมัน ซึ่งจะส่งผลให้ปริมาณน้ำมันในตลาดลดลง
ทั้งนี้ ปธน.ทรัมป์ได้วิจารณ์ข้อตกลงนิวเคลียร์มาโดยตลอด โดยข้อตกลงฉบับนี้เกิดจากลงนามในปี 2558 ระหว่างอิหร่าน และกลุ่มประเทศ P5+1 ได้แก่ จีน รัสเซีย อังกฤษ ฝรั่งเศส สหรัฐ และเยอรมนี ข้อตกลงดังกล่าวกำหนดให้ P5+1 ผ่อนปรนการคว่ำบาตรต่ออิหร่าน ในขณะที่อิหร่านจะต้องระงับการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์
อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 13 ต.ค. ปีที่ผ่านมา ปธน.ทรัมป์ประกาศไม่ให้การรับรองต่ออิหร่านในการปฏิบัติตามข้อตกลงนิวเคลียร์ที่มีการทำไว้ในปี 2558 โดยระบุว่า อิหร่านไม่ได้ปฏิบัติตามข้อตกลงนิวเคลียร์ และมีการละเมิดหลายครั้ง