คณะกรรมาธิการข่าวกรองประจำวุฒิสภาสหรัฐเตรียมลงมติต่อการรับรองนางจีน่า แฮสเปล อดีตรองผู้อำนวยการสำนักข่าวกรองกลางสหรัฐ (CIA) เข้ารับตำแหน่งผู้อำนวยการของ CIA ในวันนี้
คณะกรรมาธิการดังกล่าวประกอบด้วยกรรมการ 15 คน โดยเป็นสมาชิกพรรครีพับลิกัน 8 คน และสมาชิกพรรคเดโมแครต 7 คน
คาดว่าคณะกรรมาธิการจะมีมติให้การรับรองนางแฮสเปลเข้ารับตำแหน่งผู้อำนวยการหญิงคนแรกของ CIA ในวันนี้ หลังจากที่กรรมการจากพรรคเดโมแครตอย่างน้อย 2 คนแสดงท่าทีสนับสนุนการแต่งตั้งนางแฮสเปล ทำให้นางแฮสเปลจะได้รับเสียงสนับสนุนอย่างน้อย 10 เสียง ซึ่งจะเพียงพอต่อการผ่านมติดังกล่าว ก่อนที่วุฒิสภาเต็มคณะจำนวน 100 คนจะลงมติในสัปดาห์หน้า
ทั้งนี้ นางแฮสเปลได้รับการเสนอชื่อจากประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ให้ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการ CIA และทางคณะกรรมาธิการดังกล่าวได้ทำการซักฟอกนางแฮสเปลเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว เพื่อตรวจสอบคุณสมบัติ ก่อนที่จะลงมติในวันนี้
ก่อนหน้านี้ มีวุฒิสมาชิกจำนวนหนึ่งที่แสดงการคัดค้านการแต่งตั้งนางแฮสเปล เนื่องจากมีส่วนเกี่ยวข้องกับการตั้งคุกลับในไทยในปี 2545 เพื่อคุมขังและทรมานนักโทษของ CIA ที่พัวพันกับการก่อการร้าย และมีการทำลายหลักฐานที่เกี่ยวข้องกับการทรมานนักโทษ
ในการชี้แจงเรื่องดังกล่าวต่อคณะกรรมาธิการเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว นางแฮสเปลยืนยันว่า ตนจะไม่นำวิธีทรมานนักโทษกลับมาใช้อีก และแม้ปธน.ทรัมป์ออกคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมาย แต่ขัดต่อจริยธรรม ตนก็จะไม่ปฏิบัติตาม
"CIA ได้เรียนรู้บทเรียนราคาแพง โดยเฉพาะเมื่อถูกร้องขอให้ทำภารกิจที่อยู่นอกเหนือความเชี่ยวชาญของเรา" นางแฮสเปลกล่าว
นางแฮสเปลระบุว่า CIA ไม่ได้เตรียมพร้อมที่จะดำเนินโครงการกักตัวและสอบสวนผู้ต้องหาที่เกี่ยวข้องกับการก่อการร้าย หลังเหตุการณ์โจมตีสหรัฐในวันที่ 11 ก.ย.2544
ก่อนหน้านี้ เจ้าหน้าที่ในทำเนียบขาวกังวลว่าประวัติการทำงานในฐานะรองผู้อำนวยการ CIA ของนางแฮสเปล อาจสร้างปัญหาต่อวุฒิสภาในการลงมติให้การรับรองนางแฮสเปลดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการ CIA
สื่อรายงานว่า เจ้าหน้าที่ทำเนียบขาวได้เรียกตัวนางแฮสเปลเข้าพบเพื่อสอบถามเกี่ยวกับประวัติการทำงานที่ผ่านมาที่เกี่ยวข้องกับการตั้งคุกลับในไทย ซึ่งมีการใช้โค้ดลับ "Cat’s Eye" เพื่อคุมขังนักโทษของ CIA ที่พัวพันกับการก่อการร้าย โดยเฉพาะกลุ่มอัลกออิดะห์
มีรายงานว่านางแฮสเปลให้การสนับสนุนการทรมานนักโทษในคุกลับดังกล่าวเพื่อให้คายความลับออกมา โดยวิธีซึ่งเป็นที่นิยมคือการทำ waterboarding โดยให้นักโทษนอนหงาย ขณะที่ผู้คุมจะเอาผ้าชุบน้ำวางบนหน้านักโทษ พร้อมกับเทน้ำลงบนหน้าอย่างต่อเนื่องเพื่อให้เกิดการสำลักน้ำ ขณะที่น้ำไหลเข้าสู่จมูกและปาก ซึ่งจะทำให้นักโทษอยู่ในสภาพเหมือนกับกำลังจมน้ำ โดย CIA เชื่อว่าเมื่อนักโทษทนการทรมานด้วยวิธีนี้ไม่ไหว ก็จะยอมเปิดเผยความลับทุกอย่างที่ CIA ต้องการ