ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์แห่งสหรัฐ และนายวลาดิเมียร์ ปูติน ประธานาธิบดีรัสเซีย เปิดเผยว่า ทั้งสองรู้สึกพึงพอใจกับการประชุมสุดยอดระดับทวิภาคซึ่งจัดขึ้นที่เมืองเฮลซิงกิ ประเทศฟินแลนด์เมื่อวานนี้ แม้ประเด็นปัญหาต่างๆจะยังไม่ได้รับการแก้ไขอย่างเป็นรูปธรรม
แม้ปธน.ทรัมป์และนายปูตินจะกล่าวว่า การประชุมวานนี้ "เป็นการประชุมที่สร้างสรรค์" และเป็น "ก้าวแรกที่ยิ่งใหญ่" แต่ข้อสงสัยของผู้สื่อข่าวเกี่ยวกับกรณีการแทรกแซงการเลือกตั้งสหรัฐของรัสเซียก็ยังคงเป็นประเด็นร้อนในระหว่างงานแถลงข่าวหลังเสร็จสิ้นการประชุม
ปธน.ทรัมป์กล่าวว่า การประชุมสองต่อสองระหว่างเขาและประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ผู้นำรัสเซีย เป็นเวลา 2 ชั่วโมง ถือเป็นการเริ่มต้นที่ดีสำหรับการประชุมสุดยอดในครั้งนี้
ปธน.ทรัมป์ยังกล่าวว่า เขาไม่เห็นเหตุผลที่จะเชื่อว่ารัสเซียได้แฮคข้อมูลการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐในปี 2559 ขณะที่ปธน.ปูตินได้กล่าวปฎิเสธเรื่องดังกล่าวอย่างแข็งขัน
ทั้งนี้ ในการแถลงข่าวร่วมกับปธน.ปูตินนั้น ปธน.ทรัมป์ไม่ได้กล่าววิพากษ์วิจารณ์รัสเซียในเรื่องต่างๆที่เคยสร้างความบาดหมางต่อความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐและรัสเซีย นับตั้งแต่เรื่องยูเครนไปจนถึงซีเรีย
นอกจากนี้ ต่อคำถามที่ว่า เขาเชื่อหน่วยข่าวกรองของสหรัฐที่สรุปว่ารัสเซียได้แทรกแซงการเลือกตั้งของสหรัฐในปี 2559 หรือไม่ ปธน.ทรัมป์กล่าวว่า เขาได้รับแจ้งจากผู้อำนวยการสำนักข่าวกรองกลางสหรัฐ (CIA) ว่า รัสเซียได้เข้าแทรกแซงการเลือกตั้งของสหรัฐ แต่เขาก็ยังไม่แน่ใจในเรื่องนี้
สำหรับประเด็นวิกฤตซีเรียนั้น สองผู้นำเห็นพ้องกันว่า สหรัฐและรัสเซียควรร่วมมือกัน แต่ก็ไม่สามารถกำหนดแนวทางการแก้ไขปัญหาที่ชัดเจนได้
ปธน.ทรัมป์กล่าวว่า "หลังจากที่เราได้หารือกันแล้ว ประเด็นวิกฤตซีเรียค่อนข้างเป็นปัญหาที่ซับซ้อน แต่ความร่วมมือระหว่างสหรัฐและซีเรียถือเป็นกำลังสำคัญที่จะช่วยผู้คนนับแสนชีวิต"
นอกจากนี้ นายปูตินยังได้เรียกร้องให้สหรัฐร่วมมือกับรัสเซียในการแก้ไขปมขัดแย้งในซีเรีย โดยกล่าวว่า "รัสเซียและสหรัฐสามารถเป็นผู้นำในการแก้ไขปัญหาในรซีเรียได้ และสองชาติสามารถร่วมมือกันเพื่อเอาชนะวิกฤตด้านมนุษยธรรม"
นายปูตินกล่าวว่า ทั้งสหรัฐและรัสเซียต่างเห็นพ้องกันว่า การร่วมมือแก้ไขปัญหาต่างๆถือเป็นสิ่งสำคัญ ไม่ว่าจะเป็นการเดินหน้าการเจรจาเพื่อจำกัดอาวุธทางยุทธศาสตร์, ความอันตรายและความเสี่ยงเกี่ยวกับการพัฒนาระบบป้องกันขีปนาวุธของสหรัฐ, แนวทางการยกเลิกการใช้ขีปนาวุธพิสัยกลางและพิสัยสั้น รวมถึงการหลีกเลี่ยงการใช้อาวุธอวกาศ
อย่างไรก็ตาม ความคืบหน้าเกี่ยวกับความร่วมมือเพื่อแก้ไขปัญหาไครเมียนั้นยังคงไม่ชัดเจน โดยนายปูตินกล่าวว่า ท่าทีของผู้นำสหรัฐเกี่ยวกับปัญหาในไครเมียนั้น "เป็นที่รู้กันดี" และปธน.ทรัมป์ก็ยืนยันว่า "การยึดครองไครเมียถือเป็นเรื่องผิดกฎหมาย" พร้อมกล่าวว่า "ความคิดเห็นของเราไม่ตรงกันในเรื่องนี้"