Spotlight: ผู้เชี่ยวชาญชี้ซัมมิต "ทรัมป์-ปูติน" ส่งสัญญาณบวก แต่ปัญหาใหญ่ยังไม่ได้รับการแก้ไข

ข่าวการเมือง Wednesday July 18, 2018 13:21 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

การประชุมสุดยอดแบบตัวต่อตัวครั้งแรกระหว่างประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ แห่งสหรัฐ และประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน แห่งรัสเซีย ซึ่งจัดขึ้นที่เมืองเฮลซิงกิ เมืองหลวงของฟินแลนด์นั้น ได้ก่อให้เกิดปฏิกริยาที่หลากหลายจากผู้เชี่ยวชาญทั่วโลก โดยผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่าการประชุมครั้งนี้นับเป็นการสัญญาณด้านบวก แต่ขณะเดียวกันก็ชี้ให้เห็นถึงความยากลำบากในการแก้ปัญหาใหญ่ๆระหว่างสหรัฐและรัสเซียซึ่งเป็นสองมหาอำนาจยักษ์ใหญ่ด้านนิวเคลียร์ของโลก

  • สัญญาณบวก?

พันโทแดเนียล แอล เดวิส ทหารกองทัพสหรัฐที่เกษียณแล้วและปัจจุบันเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการป้องกันที่ Defense Priorities เปิดเผยกับสำนักข่าวซินหัวว่า การที่ปธน.ทรัมป์มีความคาดหวังในการประชุมซัมมิตครั้งนี้ ถือเป็นสิ่งสำคัญต่อการฟื้นฟูความสัมพันธ์กับรัสเซีย และจะช่วยสร้างความสัมพันธ์ฉันท์มิตกับนายปูติน และเมื่อพิจารณาจากท่าทีของผู้นำทั้งสองในระหว่างการแถลงข่าวต่อสื่อมวลชนภายหลังการประชุมแล้ว ดูเหมือนว่าการประชุมครั้งนี้จะประสบความสำเร็จ

"ไม่มีใครเป็นผู้ชนะในสงครามนิวเคลียร์ ดังนั้นทรัมป์จึงดำเนินการอย่างรอบคอบเพื่อเพิ่มความเข้าใจ และสร้างแนวทางการสื่อสารระหว่างทั้งสองประเทศ เพื่อลดโอกาสในการเกิดสงครามนิวเคลียร์ในอนาคต" พันโทเดวิสกล่าว

ขณะที่นายดมิทรี ซูซลอฟ ผู้เชี่ยวชาญจาก Valdai Discussion Club ในรัสเซียกล่าวว่า การประชุมซัมมิตครั้งนี้สำคัญเป็นอย่างยิ่ง เมื่อพิจารณาจากความสัมพันธ์ระหว่างรัสเซีย-สหรัฐที่ถึงจุดที่น่ากังวลในช่วงหนึ่งปีครึ่งที่ผ่านมา

"การประชุมครั้งนี้ควรถูกมองว่าเป็นการปูทางให้กับการพูดคุยปัญหาต่างๆ ระหว่างรัสเซีย-สหรัฐในอนาคต" นายซูซลอฟกล่าว

ทางด้านอดีตนักการทูตอินเดีย นายชีล คานท์ ชาร์มา มองว่าการประชุมครั้งนี้เป็นเสมือนการลดความตึงเครียดให้กับอินเดียซึ่งเป็นประเทศที่อยู่ท่ามกลางปัญหาของประเทศมหาอำนาจทั้งสอง

"ในช่วง 5-6 ปีที่ผ่านมา ตั้งแต่เหตุการณ์ในยูเครนและไครเมีย ความสัมพันธ์ของนายปูตินกับสหรัฐและยุโรปก็ขุ่นมัวขึ้นมาทันที" เขากล่าว พร้อมระบุว่าการคว่ำบาตรของสหรัฐได้ทำให้เกิดความไม่แน่นอนกับแผนการซื้อยุทธปัจจัยด้านกลาโหมมูลค่าหลายพันล้านดอลลาร์ที่อินเดียจะซื้อจากจากรัสเซีย

ผู้เชี่ยวชาญคาดว่า การประชุมซัมมิตครั้งนี้จะช่วยกระชับความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐ-รัสเซีย และมีผลด้านบวกกับอินเดีย

  • ความแตกต่างของทั้งสองฝ่ายยังมีอยู่มาก

แม้ว่าปธน.ทรัมป์จะพูดถึงการประชุมสุดยอดครั้งนี้ว่า "เป็นการประชุมที่สร้างสรรค์" และปูตินจะพูดว่า "ก้าวแรกที่ยิ่งใหญ่" แต่เหล่าผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่า ความคิดเห็นที่แตกต่างในประเด็นสำคัญระหว่างทั้งสองฝ่ายนั้น ก็ยังคงมีอยู่มาก และยากที่จะแก้ไข

นายวิลเลียม คอร์ทนีย์ อดีตเอกอัครราชทูตสหรัฐซึ่งปัจจุบันเป็นสมาชิกระดับอาวุโสประจำองค์กร RAND Corporation ระบุว่า แถลงการณ์ร่วมของผู้นำสหรัฐและรัสเซียไม่ได้ระบุถึงปัญหาที่เป็นที่ถกเถียงกันในความสัมพันธ์ของทั้งสองฝ่าย

"ยังไม่เป็นที่ชัดเจนว่าหลายประเด็นมีความคืบหน้า หรือถูกพูดถึงอย่างละเอียด" นายคอร์ทนีย์กล่าวกับซินหัว พร้อมระบุว่า บางทีรัฐบาลภายใต้การนำของปธน.ทรัมป์อาจไม่ต้องการให้การแถลงร่วมกับนายปูตินนั้น อาจก่อให้เกิดปัญหาทางการเมือง โดยเฉพาะในสภาคองเกรส

แม้ว่าการพูดคุยจะมีแนวโน้มไปในทางที่ดี แต่ผู้นำทั้งสองต่างทราบว่ายังมีปัญหาในซีเรีย ยูเครน และไครเมีย รวมถึงปัญหาอื่นๆ ที่ทั้งสองยังคงมีความเห็นที่แตกต่างกันมาก

นายเดวิส ผู้เชี่ยวชาญด้านการป้องกันของสหรัฐกล่าวว่ามันเป็นเรื่องยากที่สหรัฐจะลงมือทำอะไรในเรื่องปัญหาไครเมีย

"ผลประโยชน์ของสหรัฐต้องมาก่อนผลลัพธ์ทางการเมืองในเรื่องยูเครนและไครเมีย และสหรัฐได้ผลประโยชน์เพียงเล็กน้อยในการกดดันให้รัสเซียทำตามความต้องการของสหรัฐทั้งๆ ที่เห็นได้ชัดว่าทางรัสเซียจะไม่ทำ" นายเดวิสกล่าว

ขณะที่นายซูซลอฟ ผู้เชี่ยวชาญจากรัสเซียกล่าวว่า อุปสรรคหลักที่กีดขวางการพัฒนาความสัมพันธ์ของรัสเซียและสหรัฐในอนาคตคือปัญหาด้านการเมือง โดยเฉพาะในเรื่องที่รัสเซียแทรกแซงการเลือกตั้งของสหรัฐ พร้อมระบุว่า อุปสรรคในการกระชับความสัมพันธ์อีกอย่างก็คือข้อเท็จจริงที่ว่ารัสเซียกับสหรัฐไม่ใช่พันธมิตรกัน

นอกจากนี้น้ำเสียงประนีประนอมของทรัมป์ที่มีต่อปูตินในการประชุมทวิภาคีทั้งนี้ ได้ทำให้เกิดเสียงตำหนิจากสมาชิกสภาคองเกรสทั้งสองฝ่าย โดยวุฒิสมาชิกจอห์น แมคเคน ได้กล่าวหาว่า ทรัมป์ไม่เพียงแต่ไม่สามารถทำอะไรได้ แต่ไม่คิดจะขัดขืนปูตินด้วยซ้ำ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ