นายฌอง-คล็อด ยุงเกอร์ ประธานคณะกรรมาธิการยุโรป (EC) เปิดเผยว่า ความร่วมมือระดับพหุภาคีเป็นเรื่องที่ควรจะมีการเปิดโอกาสให้เข้าถึง เนื่องจากความร่วมมือระดับพหุภาคีเป็นเส้นทางสู่อนาคต
นายยุงเกอร์กล่าวในงานแถลงข่าวร่วมกับนายอันโตนิโอ กูเตอร์เรส เลขาธิการสหประชาชาติ (UN) ว่า "ควรจะมีโอกาสให้กับความร่วมมือระดับพหุภาคี เพราะนั่นคือเส้นทางสู่อนาคต"
นายยุงเกอร์กล่าวว่า "เราอยู่ที่นี่เพื่อที่จะพูดว่า แนวทางแห่งพหุภาคียังไม่ถึงตอนอวสาน ซึ่งควรจะได้รับการรักษาไว้ เพราะเป็นเพียงโอกาสเดียวที่เราจะสามารถสร้างอนาคตของโลกได้บนพื้นฐานของการยอมรับของทุกภาคส่วน"
นายยุงเกอร์ ซึ่งขณะนี้อยู่ที่นครนิวยอร์กเพื่อเข้าประชุมระดับสูงของการประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ "เราไม่ชื่นชอบวิธีการแบบตัดสินใจแต่เพียงฝ่ายเดียว"
นายยุงเกอร์กล่าวโดยไม่ได้เอ่ยชื่อถึงสหรัฐว่า ประเทศสมาชิกของสหประชาชาติบางส่วนกำลังส่งเสริมการดำเนินการเพียงฝ่ายเดียว
นอกจากนี้ยังย้ำว่า สหภาพยุโรป (EU) ได้สนับสนุนสหประชาชาติ เนื่องจากเป็นส่วนสำคัญของความร่วมมือระดับพหุภาคี
สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า ภายในระยะเวลาไม่ถึง 2 ปี รัฐบาลของนายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐได้ถอนตัวออกจากความตกลงปารีสว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ถอนตัวออกจากองค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) และถอนตัวออกจากคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ อีกทั้งยังหยุดการให้เงินทุนแก่หน่วยงานของ UN ในการสนับสนุนคุณภาพชีวิตที่ดีแก่ผู้ลี้ภัยชาวปาเลสไตน์กว่า 5 ล้านคน
ในงานแถลงข่าว นายกูเตอร์เรสกล่าวว่า EU เป็นพันธมิตรตัวอย่างขององค์การสหประชาชาติ
นายกูเตอร์เรสกล่าวว่า "เรามีความกังวลร่วมกัน เพื่อความร่วมมือในระดับพหุภาคี และเพื่อความเป็นระเบียบในระดับสากลที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของกฎหมาย"