ภาคธุรกิจอังกฤษวอนรัฐบาลทำประชามติครั้งใหม่ หากสภาคว่ำข้อตกลง Brexit

ข่าวการเมือง Wednesday January 9, 2019 20:38 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

London First ซึ่งเป็นองค์กรของนักธุรกิจที่ทรงอิทธิพลในอังกฤษ เรียกร้องให้รัฐบาลอังกฤษจัดการลงประชามติครั้งใหม่ หากร่างข้อตกลงว่าด้วยการแยกตัวของอังกฤษออกจากสหภาพยุโรป (Brexit) ที่นางเทเรซา เมย์ นายกรัฐมนตรีอังกฤษ ทำไว้กับผู้นำของสหภาพยุโรป (EU) ไม่ผ่านการอนุมัติจากรัฐสภา และไม่มีทางเลือกอื่นในการปลดล็อกจากกภาวะชะงักงันดังกล่าว

ทั้งนี้ London First ซึ่งประกอบด้วยผู้บริหารของบริษัทชั้นนำของอังกฤษกว่า 200 แห่ง แนะนำให้รัฐบาลระงับแผนการแยกตัวออกจาก EU เพื่อหลีกเลี่ยงความเสียหายทางเศรษฐกิจ หากอังกฤษต้องแยกตัวโดยไม่มีการทำข้อตกลง

ก่อนหน้านี้ London First ได้เรียกร้องให้อังกฤษทำข้อตกลง Brexit ที่จะทำให้อังกฤษยังคงได้รับประโยชน์ในการอยู่ในสหภาพศุลกากรของ EU ต่อไป ขณะที่เชื่อว่าการอยู่ภายใต้กฎกติกาขององค์การการค้าโลก (WTO) จะสร้างปัญหาอย่างมากต่อบริษัทอังกฤษ

ทางด้านนางเมย์ระบุว่า รัฐสภาจะลงมติต่อร่างข้อตกลง Brexit ในวันที่ 15 ม.ค.นี้ และรัฐบาลอังกฤษไม่มีนโยบายในการชะลอเวลาการแยกตัวของอังกฤษออกจาก EU ด้วยการขยายเวลาในการประกาศใช้มาตรา 50 เห่งสนธิสัญญาลิสบอน ถึงแม้แนวคิดดังกล่าวอาจมีการหารือกันในท่ามกลางเจ้าหน้าที่ของ EU

ทั้งนี้ อังกฤษมีกำหนดแยกตัวออกจาก EU อย่างเป็นทางการในวันที่ 29 มี.ค.ปีนี้

ผลการสำรวจของ YouGov พบว่า ชาวอังกฤษที่ต้องการรวมตัวอยู่กับ EU มีจำนวนมากกว่าผู้ที่ต้องการแยกตัวจาก EU

YouGov ระบุว่า ผลการสำรวจพบว่า หากมีการลงประชามติในวันนี้ ชาวอังกฤษจำนวน 46% จะลงมติให้อังกฤษยังคงรวมตัวกับ EU ต่อไป เทียบกับชาวอังกฤษจำนวน 39% ที่ต้องการให้อังกฤษแยกตัวออกจาก EU ส่วนอีก 15% ระบุว่า ไม่ทราบ, ยังไม่ตัดสินใจ หรือปฏิเสธที่จะแสดงความเห็น

หากไม่นับรวมกลุ่มตัวอย่างที่ตอบว่า ไม่ทราบ, ยังไม่ตัดสินใจ หรือปฏิเสธที่จะแสดงความเห็น จะพบว่า ชาวอังกฤษจำนวน 54% จะลงมติให้อังกฤษยังคงรวมตัวกับ EU ต่อไป เทียบกับชาวอังกฤษจำนวน 46% ที่ต้องการให้อังกฤษแยกตัวออกจาก EU

ผลการลงประชามติในเดือนมิ.ย.2559 พบว่า ชาวอังกฤษจำนวน 48% ต้องการให้อังกฤษยังคงรวมตัวกับ EU ต่อไป ขณะที่ 52% ต้องการให้อังกฤษแยกตัวออกจาก EU


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ