Spotlight: ผู้เชี่ยวชาญชี้สหรัฐถอนตัวออกจากสนธิสัญญานิวเคลียร์อาจกระทบความมั่นคงนานาชาติในอนาคต

ข่าวการเมือง Monday February 4, 2019 14:26 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ผู้เชี่ยวชาญได้กล่าวแสดงความเห็นว่า การที่สหรัฐประกาศถอนตัวออกจากสนธิสัญญาควบคุมอาวุธนิวเคลียร์พิสัยกลาง (Intermediate-Range Nuclear Forces Treaty - INF) ซึ่งทำไว้กับรัสเซียในปี 2530 นั้น ได้ส่งผลให้เกิดความวิตกกังวลเกี่ยวกับความมั่นคงในอนาคตของนานาชาติ และวิกฤตการแข่งขันด้านอาวุธที่จะเกิดขึ้นในอนาคตเช่นกัน

*เกมโทษกันไปมา

สนธิสัญญา INF ได้มีการลงนามในปี 2530 ระหว่างสหรัฐและสหภาพโซเวียต โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อขจัดขีปนาวุธพิสัยกลางและพิสัยใกล้

นายไมค์ ปอมเปโอ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของสหรัฐได้ประกาศนำสหรัฐถอนตัวออกจากสนธิสัญญา INF เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา โดยอ้างถึงการละเมิดข้อตกลงของรัสเซียที่สหรัฐเชื่อว่า "ทำให้สหรัฐอยู่ในสถานะที่เสียเปรียบด้านกองทัพ" ในขณะที่รัสเซียได้ออกมาปฏิเสธข้อกล่าวหาของสหรัฐหลายครั้ง

นายปอมเปโอเปิดเผยกับสื่อมวลชนว่า สหรัฐได้ยุติการปฎิบัติตามสนธิสัญญา INF นับตั้งแต่วันเสาร์ที่ผ่านมา ซึ่งถือเป็นการเริ่มต้นนับถอยหลัง 6 เดือนก่อนที่จะมีการถอนตัวออกจากสนธิสัญญาดังกล่าวโดยถาวร

หลังจากนั้น ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ได้ออกแถลงการณ์ว่า "สหรัฐจะดำเนินการทุกอย่างเพื่อปฏิเสธความได้เปรียบด้านกองทัพของรัสเซีย อันเนื่องมาจากการกระทำที่ผิดกฎหมาย"

แถลงการณ์ของปธน.ทรัมป์ระบุว่า สหรัฐจะระงับการปฏิบัติตามสนธิสัญญา INF และจะถอนตัวจากสนธิสัญญาดังกล่าวภายในเวลา 6 เดือน นอกจากว่ารัสเซียจะยุติการละเมิดสนธิสัญญา ด้วยการทำลายขีปนาวุธ, แท่นยิงขีปนาวุธ และอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องทั้งหมด

นอกจากนี้ ปธน.ทรัมป์ยังกล่าวว่า องค์การสนธิสัญญาป้องกันแอตแลนติกเหนือ (นาโต) ให้การสนับสนุนการตัดสินใจของสหรัฐ เนื่องจากนาโตทราบถึงภัยคุกคามจากการที่รัสเซียละเมิดสนธิสัญญา และความเสี่ยงต่อการควบคุมอาวุธ

ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่า สหรัฐและรัสเซียต่างกล่าวหากันว่าอีกฝ่ายเป็นผู้ละเมิดสนธิสัญญา INF ซึ่งรัสเซียได้ตั้งข้อสงสัยเกี่ยวกับความซื่อตรงของสหรัฐในประเด็นการดำเนินการตามสนธิสัญญา INF

นายแดร์เรลล์ เวสต์ นักวิชาการอาวุโสจากสถาบันบรู๊กกิงส์เปิดเผยว่า การที่สหรัฐถอนตัวจากสนธิสัญญา INF จะส่งผลเสียต่อความสัมพันธ์ที่มีต่อรัสเซียมากยิ่งขึ้น

นายเวสต์ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวซินหัวว่า "ปูตินมองเรื่องดังกล่าวเป็นการกระทำฝ่ายเดียว ไม่ใช่การกระทำอันเนื่องมาจากการเจรจา"

*การแข่งขันด้านอาวุธรออยู่ข้างหน้า

INF เป็นสัญญาฉบับแรกเกี่ยวกับการถอนอาวุธนิวเคลียร์ระหว่างสหรัฐกับสหภาพโซเวียต และเป็นความคืบหน้าสำคัญสำหรับการยุติการแข่งขันด้านอาวุธ แต่ความเคลื่อนไหวล่าสุดของสหรัฐได้สร้างความวิตกว่าอาจเกิดการแข่งขันด้านอาวุธทางทหารและนิวเคลียร์ระหว่างสองประเทศ

นางแนนซี เพโลซี ประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐกล่าวในแถลงการณ์เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมาว่า "รัฐบาลสหรัฐภายใต้การนำของปธน.ทรัมป์กำลังสร้างความเสี่ยงต่อภาวะการแข่งขันทางอาวุธและทำลายความมั่นคงและเสถียรภาพในระดับนานาชาติ"

นายเอด มาร์คีย์ วุฒิสมาชิกสหรัฐโพสต์ข้อความลงในทวิตเตอร์ว่า นี่เป็นอีกครั้งหนึ่งที่รัฐบาลสหรัฐได้ตัดสินใจว่า อเมริกาจะฉายเดี่ยว ซึ่งการตัดสินใจดังกล่าวกำลังปูทางไปสู่การแข่งขันด้านอาวุธที่อันตรายและเต็มไปด้วยอาวุธใหม่ราคาสูง"

ทางด้านนายเฮย์โก มาส รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของเยอรมนีกล่าวว่า "ช่วงเวลาสงครามเย็นได้ผ่านพ้นไปแล้ว เราไม่ต้องการถกเถียงกันเรื่องการสะสมอาวุธ แต่เรากลับต้องการการถกเถียงเกี่ยวกับการถอนอาวุธ"

นายมาสเปิดเผยกับสื่อมวชนเมื่อเดือนม.ค.ที่ผ่านมาว่า "ความมั่นคงในยุโรปจะไม่ดีขึ้นจากการติดตั้งขีปนาวุธพิสัยกลางพร้อมอาวุธนิวเคลียร์เพิ่ม ผมเชื่อว่าเรื่องดังกล่าวเป็นทางเลือกที่ผิด"

คณะทำงานของปธน.ทรัมป์ได้เริ่มต้นค้นคว้าและพัฒนาขีปนาวุธหลังจากที่สภาคองเกรสได้อนุมัติงบ 58 ล้านดอลลาร์ในปี 2560 เพื่อตอบโต้กรณีที่รัสเซียละเมิดสนธิสัญญา INF อย่างไรก็ตาม นับจนถึงขณะนี้ การพัฒนาดังกล่าวยังคงอยู่ภายใต้ขอบเขตของสนธิสัญญา และขณะนี้ยังคงไม่มีความชัดเจนว่า กองทัพสหรัฐจะเคลื่อนไหวอย่างไรหากไร้ข้อจำกัดจากสัญญาดังกล่าว

*สัญญา START ฉบับใหม่ยังคงมีทิศทางที่ไม่แน่นอน

การที่สหรัฐตัดสินใจถอนตัวจากสนธิสัญญา INF นั้น ได้กระตุ้นให้เกิดคำถามมากมายเกี่ยวกับอนาคตของสนธิสัญญาการลดอาวุธเชิงยุทธศาสตร์ หรือ START ฉบับใหม่ที่จะหมดอายุในปี 2564

สนธิสัญญา START เป็นข้อตกลงการปลดอาวุธอีกฉบับที่ลงนามโดยสหรัฐและรัสเซียในปี 2534 ซึ่งหลังจากที่สนธิสัญญา START ฉบับเก่าได้หมดอายุลงในปี 2552 แล้ว ทั้งสองประเทศก็ได้มีการลงนามกันใหม่ในปี 2553

เมื่อมีการตั้งคำถามว่า สหรัฐมีความเตรียมพร้อมในการหารือเพื่อขยายเวลาสนธิสัญญา START ฉบับใหม่หรือไม่ นายปอมเปโอหลีกเลี่ยงการตอบแบบตรงไปตรงมา โดยกล่าวเพียงว่า สหรัฐพร้อมที่จะเริ่มต้นสัญญาฉบับใหม่ทุกฉบับที่มีผลประโยชน์สูงสุดสำหรับสหรัฐ

นายแดร์เรลล์ เวสต์ นักวิชาการอาวุโสจากสถาบันบรู๊กกิงส์ กล่าวให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวซินหัวว่า ขณะนี้ยังเร็วเกินไปที่จะบอกได้ว่า การถอนตัวของสหรัฐจะส่งผลกระทบต่อสนธิสัญญาฉบับอื่นๆอย่างไร แต่การกระทำที่ไม่มีการปรึกษาหารือนั้น ถือเป็นสัญญาณในด้านลบ และจะนำไปสู่การดำเนินการเพียงฝ่ายเดียวในประเด็นอื่นๆด้วย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ