EU ผวาผลโหวตสภาอังกฤษพลิกล็อกวันนี้ หวั่นไฟเขียว Brexit ไร้ข้อตกลง

ข่าวการเมือง Wednesday March 13, 2019 19:19 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

เจ้าหน้าที่สหภาพยุโรป (EU) แสดงความกังวลต่อการลงมติในวันนี้ของรัฐสภาอังกฤษเกี่ยวกับการที่อังกฤษจะแยกตัวจาก EU (Brexit) โดยไร้ข้อตกลง แม้มีการคาดการณ์กันในวงกว้างว่าสมาชิกรัฐสภาจะลงมติไม่เห็นชอบต่อกรณีดังกล่าว

"ความเสี่ยงของการที่อังกฤษจะแยกตัวออกจาก EU โดยไม่มีการทำข้อตกลง ไม่เคยสูงมากกว่านี้" นายมิเชล บาร์นิเยร์ ตัวแทนเจรจาฝ่าย EU ในประเด็น Brexit กล่าว

"ผมขอเรียกร้องให้คุณอย่าได้มองข้ามความเสี่ยง หรือผลกระทบที่เกิดขึ้น" เขากล่าว

นักวิเคราะห์เตือนว่า หากรัฐสภาอังกฤษให้ความเห็นชอบต่อการที่อังกฤษจะแยกตัวจาก EU โดยไร้ข้อตกลง จะส่งผลให้เกิดภาวะชะงักงันตามท่าเรือ และด่านศุลกากรของอังกฤษ ซึ่งจะสร้างความยากลำบากต่อภาคธุรกิจและนักท่องเที่ยว ขณะที่สินค้าที่ส่งออกและนำเข้าของอังกฤษจะถูกตรวจสอบ และถูกเก็บภาษีจาก EU โดยไม่ได้รับสิทธิพิเศษเมื่อเทียบกับในช่วงที่อังกฤษยังคงเป็นสมาชิก EU

นอกจากนี้ การที่สินค้าของอังกฤษถูกเรียกเก็บภาษีจาก EU จะส่งผลให้ราคาสินค้าแพงขึ้น

นายสตีเฟน บาร์เคลย์ รมว.ฝ่ายกิจการ Brexit ของอังกฤษ กล่าวว่า รัฐบาลอังกฤษได้เตรียมพร้อมรับมือแล้ว แต่การที่อังกฤษจะแยกตัวจาก EU โดยไร้ข้อตกลง จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจอย่างมาก

นางคาโรไลน์ แฟร์แบร์น ผู้อำนวยการสมาพันธ์อุตสาหกรรมอังกฤษ กล่าวว่า การที่อังกฤษจะแยกตัวจาก EU โดยไร้ข้อตกลง จะสร้างความวุ่นวายต่อเศรษฐกิจ

ทั้งนี้ รัฐสภาอังกฤษจะลงมติในวันนี้ว่าจะเห็นชอบต่อการที่อังกฤษแยกตัวจาก EU โดยไร้ข้อตกลงหรือไม่ โดยการลงมติดังกล่าวจะมีขึ้นในเวลา 19.00 น.ตามเวลาท้องถิ่น หรือคืนนี้ 02.00 น.ตามเวลาไทย

หากรัฐสภามีมติไม่เห็นชอบต่อการที่อังกฤษแยกตัวจาก EU โดยไร้ข้อตกลง รัฐสภาก็จะทำการลงมติในวันพรุ่งนี้ว่าจะเรียกร้องให้ EU ขยายกำหนดเวลาการแยกตัวออกไปอีก 3 เดือน จากเดิมในวันที่ 29 มี.ค.หรือไม่ ซึ่งหากรัฐสภามีมติเรียกร้องให้ EU ขยายกำหนดเวลาออกไป รัฐบาลก็จะต้องทำการเจรจากับ EU ในเรื่องดังกล่าว แต่หากรัฐสภามีมติไม่เรียกร้องให้ EU ขยายกำหนดเวลาออกไป อังกฤษก็จะแยกตัวจาก EU อย่างเป็นทางการตามกำหนดเดิมในวันที่ 29 มี.ค.

นอกจากนี้ หากพรุ่งนี้รัฐสภามีมติเรียกร้องให้ EU ขยายกำหนดเวลา Brexit ออกไปอีก 3 เดือน ก็จะทำให้ต้องมีการขยายเวลาของการบังคับใช้มาตรา 50 ซึ่งเป็นบทบัญญัติควบคุมกระบวนการเปลี่ยนผ่านเป็นเวลา 2 ปี ก่อนที่อังกฤษจะแยกตัวอย่างสิ้นเชิงต่อ EU

การขยายเวลา Brexit หรือการขยายเวลาการบังคับใช้มาตรา 50 อาจส่งผลกระทบทางการเมืองหลายประการต่ออังกฤษ เช่น อาจมีการจัดการลงประชามติ Brexit ครั้งใหม่ หรืออาจมีการเลือกตั้งทั่วไปครั้งใหม่ ซึ่งอาจส่งผลให้อังกฤษไม่มีการแยกตัวจาก EU ในที่สุด

เมื่อวานนี้ สมาชิกสภาสามัญชนของอังกฤษลงมติด้วยคะแนนเสียง 391-242 เสียงคว่ำข้อตกลง Brexit ที่นางเทเรซา เมย์ นายกรัฐมนตรีอังกฤษ ทำไว้กับผู้นำ EU ก่อนหน้านี้ แม้ว่านางเมย์ได้รับความเห็นชอบจากผู้นำ EU ให้ทำการเปลี่ยนแปลงข้อตกลง Brexit โดยมีผลผูกพันทางกฏหมาย ซึ่งรวมถึงนโยบาย backstop ซึ่งเป็นนโยบายในการรับประกันว่า จะไม่มีการกลับไปใช้มาตรการควบคุมชายแดนอย่างเข้มงวดระหว่างไอร์แลนด์เหนือ ซึ่งเป็นดินแดนส่วนหนึ่งของสหราชอาณาจักร และสาธารณรัฐไอร์แลนด์ ซึ่งเป็นรัฐสมาชิกของสหภาพยุโรป

ครั้งนี้นับเป็นความพ่ายแพ้ของนางเมย์เป็นครั้งที่ 2 หลังจากที่ก่อนหน้านี้ รัฐสภาอังกฤษได้ลงมติด้วยคะแนนเสียงถล่มทลาย 432 ต่อ 202 เสียงในเดือนม.ค. คว่ำร่างข้อตกลง Brexit ของนางเมย์ ส่งผลให้นางเมย์เป็นผู้นำรัฐบาลอังกฤษที่ประสบความพ่ายแพ้ครั้งใหญ่ที่สุดในรัฐสภาในรอบ 95 ปี


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ