Spotlight: รัฐสภาอังกฤษปิดโอกาสการลงประชามติรอบสอง หลังหนุนเลื่อนกำหนดเส้นตาย Brexit

ข่าวการเมือง Friday March 15, 2019 14:20 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

อังกฤษจะเรียกร้องให้สหภาพยุโรป (EU) เลื่อนกำหนดเส้นตายการถอนตัวของอังกฤษออกจาก EU (Brexit) ออกไปจนถึงอย่างน้อยที่สุดวันที่ 30 มิ.ย. 2562 หลังจากเมื่อวานนี้ รัฐสภาอังกฤษลงมติด้วยคะแนนเสียง 412-202 เสียง เรียกร้องให้ EU ขยายกำหนดเส้นตาย Brexit ออกไปอีก 3 เดือนจากเดิมที่กำหนดไว้ในวันที่ 29 มี.ค.นี้ ซึ่งก็เท่ากับเป็นการปฏิเสธเสียงเรียกร้องให้อังกฤษจัดการลงประชามติเรื่อง Brexit เป็นครั้งที่ 2

รัฐบาลอังกฤษต้องการเลื่อนกำหนดเส้นตาย Brexit ออกไปอีก 3 เดือน เพื่อเปิดโอกาสให้รัฐสภาอังกฤษทำการลงมติข้อตกลง Brexit ของนางเทเรซา เมย์ นายกรัฐมนตรีอังกฤษเป็นครั้งที่ 3 ในวันที่ 20 มี.ค.นี้ หลังจากรัฐสภาไม่อนุมัติข้อตกลงดังกล่าว 2 ครั้งแล้ว

หากข้อตกลงของนางเมย์ถูกรัฐสภาปฏิเสธอีกครั้ง ก็อาจจะทำให้อังกฤษยังคงต้องอยู่ใน EU ต่อไปเกินจากสิ้นเดือนมิ.ย. และอังกฤษก็จะต้องเข้าร่วมในการเลือกตั้งรัฐสภายุโรปซึ่งจะจัดขึ้นในเดือนพ.ค.ด้วย

-- วันที่ยาวนานอีกวันหนึ่งในรัฐสภาอังกฤษ

รัฐสภาอังกฤษได้ทำการลงมติในหลายญัตติเมื่อวานนี้ โดยนางซาราห์ วอลลาสตัน เสนอให้รัฐบาลอังกฤษจัดการลงประชามติรอบ 2 เกี่ยวกับ Brexit ซึ่งรัฐสภาได้ทำการพิจารณาญัตติดังกล่าว และลงมติ 334 ต่อ 85 เสียง ในการปฏิเสธญัตติดังกล่าว

ด้านนางฮิลารี เบนน์ สมาชิกสภาพรรคแรงงานได้เสนอญัตติให้สำรองเวลาในสัปดาห์หน้า เพื่อให้สมาชิกสภาสามารถอภิปรายถึงทางเลือกเกี่ยวกับ Brexit เพื่อจะดูว่า มีฉันทามติเกี่ยวกับทางเลือกอื่นสำหรับแผน Brexit ของนางเมย์หรือไม่ หลังจากที่แผนของนางเมย์ไม่ผ่านการอนุมัติจากรัฐสภา 2 ครั้งแล้ว โดยรัฐสภาอังกฤษได้ลงมติคว่ำญัตตินี้ของนางเบนน์ด้วยคะแนนเสียง 314 ต่อ 312 เสียง

ด้านนายเจเรมี คอร์บิน ผู้นำพรรคแรงงานได้เสนอญัตติที่จะปฏิเสธข้อตกลงของนางเมย์ ปฏิเสธทางเลือกของการออกจาก EU แบบไม่มีข้อตกลง และเลื่อนกำหนดเส้นตาย Brexit ออกไปเพื่อให้สามารถจัดทำข้อตกลงทางเลือกขึ้น โดยรัฐสภาอังกฤษก็ได้ปฏิเสธญัตติของนายคอร์บินด้วยคะแนนเสียง 318 ต่อ 302 เสียง

ทั้งนี้ ทุกญัตติดังกล่าวข้างต้นได้พ่ายแพ้ต่อญัตติสำคัญของรัฐบาลอังกฤษที่จะขอเลื่อนกำหนดเส้นตาย Brexit ไปจนถึงวันที่ 30 มิ.ย. 2562 ซึ่งญัตตินี้ผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภาด้วยคะแนนเสียง 412 ต่อ 202 เสียง

-- วันที่ดีสำหรับนายกรัฐมนตรีอังกฤษ

นางเมย์และที่ปรึกษาของเธอต้องถอนใจด้วยความโล่งอก หลังจากที่รัฐสภาอังกฤษอนุมัติการเลื่อนกำหนดเส้นตาย Brexit แต่ภารกิจของนางเมย์ก็ยังไม่จบสิ้น เพราะเธอต้องพยายามอีกครั้งให้รัฐสภาสนับสนุนข้อตกลง Brexit ของเธอในการลงมติวันที่ 20 มี.ค.นี้

หากข้อตกลงของเธอได้รับการอนุมัติในสัปดาห์หน้า อังกฤษก็จะออกจาก EU ในวันที่ 30 มิ.ย. แต่ก็ต้องได้รับความเห็นชอบจากผู้นำประเทศสมาชิก EU ทั้ง 27 ชาติด้วย แต่พวกเขาก็ไม่มีแนวโน้มที่จะปฏิเสธคำขอนี้ หากจุดประสงค์ของการเลื่อนเวลา ก็เพื่อทำให้กระบวนการทางกฏหมายทั้งหมดเสร็จสมบูรณ์

ทั้งนี้ นางเมย์ได้พ่ายแพ้ด้วยคะแนนเสียงถึง 230 และ 150 เสียงในการลงมติข้อตกลงของเธอ 2 ครั้งที่ผ่านมา ดังนั้น ขณะที่เหลือเวลาอีกเพียงไม่กี่วันก่อนการลงมติ นางเมย์จะสามารถเอาชนะในการลงมติครั้งที่ 3 ในสัปดาห์หน้าได้หรือไม่

สื่อรายงานว่า นายสตีเฟน บาร์เคลย์ รมว.ด้าน Brexit ของอังกฤษ และนายเจฟฟรีย์ ค็อกซ์ อัยการสูงสุดของอังกฤษได้จัดการประชุมร่วมกับพรรคสหภาพประชาธิปไตยแห่งไอร์แลนด์เหนือ (DUP) ซึ่งคัดค้านข้อตกลงของนางเมย์ และ สมาชิกพรรคอนุรักษ์นิยมกลุ่ม European Research Group (ERG) ซึ่งสนับสนุน Brexit

หากบรรดานักการเมืองเหล่านั้นเชื่อว่า อังกฤษจะต้องไม่ติดอยู่กับกฏเกณฑ์ของ EU อย่างถาวร นั่นก็อาจจะช่วยเพิ่มแรงหนุนต่อข้อตกลง Brexit ของนางเมย์

-- จะเกิดอะไรขึ้น หากข้อตกลงของนางเมย์ไม่ผ่านการอนุมัติจากรัฐสภาอีกครั้ง

บรรดาคนใกล้ชิดและที่ปรึกษาของนางเมย์ต่างก็หวังพึ่งสมาชิกสภาจากฝ่ายการเมืองต่างๆ โดยตระหนักว่า หากข้อตกลงของนางเมย์ไม่ผ่านความเห็นชอบ ทางเลือกที่เป็นไปได้มากที่สุดก็คือ อังกฤษจะออกจาก EU โดยไม่มีข้อตกลง หรือยังคงต้องอยู่ใน EU ต่อไปอีกหลายปี และอาจจะตลอดไปด้วย

ในมุมมองของสมาชิกรัฐสภาหลายคนคิดว่า นั่นคือการทรยศในสายตาของประชาชนอังกฤษ

ชาวอังกฤษได้รับการเสนอโอกาสครั้งหนึ่งในชีวิตให้ตัดสินใจว่าจะอยู่ หรือ จะออกจาก EU ก่อนที่นายเดวิด คาเมรอน นายกรัฐมนตรีอังกฤษในขณะนั้น จะสั่งให้จัดการลงประชามติขึ้นในเดือนมิ.ย. 2559

ชาวอังกฤษได้ลงมติ 53 ต่อ 48 เสียง สนับสนุนการถอนตัวออกจาก EU ซึ่งเป็นผลการลงประชามติที่ออกมาผิดความคาดหมาย

แม้แต่สมาชิกสภาที่สนับสนุนการอยู่ใน EU ก็ยังระบุว่า จะต้องเคารพเจตนารมย์ของประชาชน โดยสมาชิกสภา 2 ใน 3 สนับสนุนการยังคงอยู่ใน EU ในการลงประชามติดังกล่าว แต่ก็ต้องยอมรับว่า ประชาชนส่วนใหญ่ต้องการออกจาก EU

บรรดานักวิจารณ์กล่าวหาสมาชิกสภาจำนวนมากว่าใช้กลยุทธ์ทุกวิถีทางที่จะให้อังกฤษอยู่ใน EU ต่อไป ขณะที่ชาวอังกฤษอีกจำนวนมากก็กังวลว่า ในที่สุดแล้ว อังกฤษอาจจะยังคงต้องอยู่ใน EU ต่อไปอย่างไม่มีกำหนด แม้พวกเขาจะคัดค้านอย่างรุนแรง และไม่พอใจกับข้อตกลงของนางเมย์ก็ตาม


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ