สิงคโปร์ได้ร่างกฎหมายฉบับใหม่ขึ้นมา โดยมีวัตถุประสงค์ที่จะจัดการกับการเผยแพร่ข่าวปลอม โดยรัฐบาลได้นำเสนอระบบที่สามารถระบุข้อมูลที่เป็นเท็จและออกบทลงโทษ ซึ่งก่อให้เกิดเสียงวิจารณ์จากกลุ่มนักรณรงค์ด้านสิทธิมนุษยชน
กระทรวงกฎหมายของสิงคโปร์เปิดเผยว่า ร่างกฎหมายการคุ้มครองจากความเท็จและการจัดการบนช่องทางออนไลน์นั้น ได้มีการนำเสนอต่อรัฐสภาเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา โดยพุ่งเป้าไปที่ความเท็จ ไม่ใช่การแสดงความคิดเห็น การวิพากษ์วิจารณ์ การเสียดสีหรือการล้อเลียน พร้อมนิยามความเท็จว่า เป็นถ้อยแถลงของข้อมูลที่เป็นเท็จหรือถูกชี้นำไปในทางที่ผิด
ผู้ใดที่มีความผิดในการโพสต์ข่าวปลอมซึ่งสร้างความเสียหายร้ายแรง จะได้รับโทษจำคุกสูงถึง 10 ปี ตลอดจนถูฏขึ้นป้ายเตือนข้อมูลเท็จบนเว็บไซต์
นอกจากนี้ กฎหมายดังกล่าวจะส่งผลกระทบต่อบริษัทโซเชียลมีเดีย ยักษ์ใหญ่ เช่น เฟซบุ๊ก และทวิตเตอร์ ตลอดจนทำให้ผู้ที่เกี่ยวข้องกับการปกป้องเสรีภาพในการแสดงออกและสื่อมวลชนจำเป็นต้องออกมาเตือนถึงอันตรายที่อาจเกิดขึ้น
สำนักข่าวเกียวโดรายงานว่า "ร่างกฎหมายฉบับนี้อาจเป็นหายนะต่อสิทธิมนุษยชนโดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อเสรีภาพในการแสดงออกและเสรีภาพสื่อมวลชน" นายฟิล โรเบิร์ตสัน รองผู้อำนวยการฮิวแมน ไรท์ส วอทช์ ประจำภูมิภาคเอเชีย กล่าว
"คำนิยามในกฎหมายฉบันนี้นั้นกว้างและนิยมอย่างหละหลวม ทำให้เจ้าหน้าที่รัฐต้องใช้ดุลยพินิจทางกฎหมายในระดับสูงสุดในการดูว่าข่าวใดเป็น 'การบิดเบือน' หรือ 'เท็จ' ข่าวใดๆที่ท้าทายเรื่องราวเกี่ยวกับการเมืองกระแสหลักของสิงคโปร์
ทั้งนี้ ภายใต้กฎหมายดังกล่าว รัฐบาลต้องการให้มีการแจ้งข้อความที่ได้มีการแก้ไขให้ถูกต้องแล้วโดยวางไว้ข้างคอนเทนต์ออนไลน์ที่อาจเป็นเท็จ