สหภาพยุโรป (EU) และสหประชาชาติ (UN) ได้เปิดตัวโครงการร่วมกัน เพื่อป้องกันการก่อการร้ายด้านนิวเคลียร์ โดยการส่งเสริมให้มีการลงสัตยาบันสากล และการบังคับใช้อย่างมีประสิทธิภาพสำหรับอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการปราบปรามการก่อการร้ายทางนิวเคลียร์ (ICSANT)
นายวลาดิเมียร์ โวรอนคอฟ รองเลขาธิการสำนักงานต่อต้านการก่อการร้ายแห่ง UN กล่าวในพิธีเปิดตัวโครงการร่วมมือดังกล่าวว่า "ความเสี่ยงที่ผู้ก่อการร้ายจะเข้าถึงนิวเคลียร์และกัมมันตรังสี นับเป็นภัยคุกคามที่สำคัญต่อมนุษยชาติ รวมถึงสันติภาพ และความมั่นคงระหว่างประเทศ โชคร้ายที่เรารู้ว่า เป็นเรื่องจริงที่มีความเป็นไปได้ที่วัตถุดังกล่าวจะตกอยู่ในมือของผู้ก่อการร้าย"
นายเปโดร เซอร์ราโน รองเลขาธิการของกระทรวงการต่างประเทศของสหภาพยุโรป (European External Action Service-EEAS) กล่าวว่า ประชาคมโลกยังคงต้องร่วมมือกันเพื่อป้องกันภัยคุกคามจากการก่อการร้ายทางนิวเคลียร์
ทั้งนี้ โครงการร่วมมือดังกล่าวเป็นการทดสอบความมุ่งมั่นร่วมกันของ UN กับ EU เพื่อรับมือกับความท้าทายนี้ โดยในปี 2561 คณะมนตรียุโรปได้อนุมัติการจัดสรรเงินทุนทั้งสิ้น 5 ล้านยูโร (557 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) สำหรับโครงการดังกล่าว
สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า สมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติมีฉันทามติบังคับใช้อนุสัญญา ICSANT ในปี 2548 และมีประเทศร่วมลงนามถึง 115 ชาติจนถึงปัจจุบัน